คนทา ชื่ออื่น โกทา, คนทา, สีพัน, กะลันทา, จี้, จี้หนาม, มีชี, ไม้สีฟัน, สีฟัน, สีฟันคนตาย, สีฟันคนทา, สีเตาะ, หนาม
มีชื่อวิทยาศาตร์ Harrisonia perforata เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยสูง 3-6 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ที่ปลายมีหนามแหลมสั้น เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล ส่วนที่อ่อนมีสีแดง ขอบบริเวณโคนหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเรียบ คนทามีประโยชน์และสรรพคุณด้านใดมากมาดูกันเลยค่ะ
ประโยชน์ของคนทา
- กิ่งก้านมีรสเฝื่อนขม สามารถนำมาใช้แปรงฟัน หรือสีฟันเพื่อรักษาฟันได้ ด้วยการนำกิ่งขนาดนิ้วก้อยที่ยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลอกเปลือกออกปลายด้านหนึ่งแล้วทุบให้เป็นเส้นฝอย ๆ และอาจช่วยทำให้เส้นดีขึ้นด้วยการใช้มีดผ่าออกเป็นแนวยาว ๆ แล้วนำปลายฝอยนี้ไปถูกับไม้ระแนงที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้ปลายฝอยฟูเป็นขนแปรงที่นุ่มขึ้น ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่งก็เหลาให้แหลม ใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันหรือใช้เขี่ยเศษอาหารได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานจะใช้หนามคนทาทำแปรงสีฟัน เพื่อไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตในวัดป่าของทางภาคอีสาน ยังนิยมใช้แปรงสีฟันจากกิ่งของต้นคนทากันอยู่
- เปลือกต้นใช้ยาแก้ตาเจ็บสำหรับสัตว์พาหนะ
- ผลอ่อนนำไปหมดไฟหรือนำไปต้มแล้วทุบพอแตก นำมาใช้ทาเท้าก่อนทำนาจะช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าในฤดูทำนาได้
- ผลคนทาสดยังสามารถนำมาสกัดน้ำสีที่ใช้สำหรับย้อมผ้า โดยผลคนทา 15 กิโลกรัมจะสามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ให้คือสีเทาม่วง
- เนื้อไม้มีความเหนียว ไม่หักง่าย และมีความยืดหยุ่น จึงนำไปใช้ทำเป็นคานหาบน้ำได้
- เนื้อไม้ใช้สำหรับทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์
- นิยมปลูกต้นคนทาไว้ในสวนหรือตามวัดบางแห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำยา
สรรพคุณทางยาของคนทา
- ราก รสขมเฝื่อนฝาดเย็น แก้ท้องร่วง บิด ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวลมทุกชนิด แก้ไข้เส้น ไข้เหนือและไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นส่วนประกอบในยาแก้ไข้เบญจโลกวิเชียร
- รากอ่อนและต้น แก้ท้องร่วง แก้บิด
- ต้น แก้บิด แก้ท้องร่วง กระทุ้งไข้ แก้พิษไข้กาฬ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ทั้งต้น รสขมเฝื่อน แก้ไข้ได้ทุกชนิด แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้บิด ท้องเสีย
- เปลือกต้น แก้บิด แก้ท้องร่วง รักษาลำไส้ ต้มแล้วเคี่ยวเอาน้ำพ่นตาสัตว์แก้เจ็บตา
- ใบ มีรสขม แก้ปวด
- ดอก แก้พิษแตนต่อย
- ผล รสขมฝาด ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ แก้ปวดฟัน
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้คนทาในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากคนทาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=10610&SystemType=BEDO
https:// www.teaoilcenter.org
https://www.flickr.com