มะขามหวาน
ชื่ออื่นๆ : ขาม (ภาคใต้) ตะลูบ (ชาวบน-นครราชสีมา) ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล (เขมร-สุรินทร์) หมากแกง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ส่ามอเกล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หมากขาม, ส้มมะขามหวาน
ต้นกำเนิด : เอเชียใต้ และอัฟริกาตะวันออก
ชื่อสามัญ : Sweet tamarind
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamarind indica L.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE (CAESALPINIACEAE)
ลักษณะทั่วไปของมะขาม
มะขามเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 – 25 ม. ลำต้นสีเทาดำ เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก กิ่งมีความเหนียวของเนื้อไม้มาก ทรงพุ่มค่อนข้างกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว มีใบย่อย 24 – 32 คู่ ใบย่อยขนาดประมาณ 0.5×2.0 ซม. ดอกสีเหลืองมีลายเส้นสีแดงเป็นเส้นยาวตามกลีบ ออกดอกเป็นช่อที่กิ่งหรือปลายยอด ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ผลเป็นฝักยาวค่อนข้างกลมมีหลายเมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแดงรูปสี่เหลี่ยม
สายพันธุ์มะขามหวาน (ชื่อพันธุ์มะขาม)
มะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ใด คือรสชาดหอมหวาน อร่อย เนื้อแน่น มะขามที่ปลูกในจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 30 พันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นหลักมี 7 พันธุ์ ดังนี้
- พันธุ์หมื่นจง
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : ต้นกำเนิดมะขามหวานเพชรบูรณ์คือ พันธุ์หมื่นจง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านเลขที่ 305 หมู่ 5 ตำบลในเมือง (ตำบลหล่มเก่า) อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าของคือ นายฉิม พุทธสิมมา หรือ หมื่นจงประชากิจ นับจากมีมะขามหวานพันธุ์แรกจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลามากกว่า 150 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์ : เป็นพันธุ์เก่าดั้งเดิมเป็นพ่อแม่พันธุ์ของพันธุ์สีทอง และพันธุ์น้ำผึ้ง เปลือกของลำต้น หนาหยาบเกล็ดโตห่างเป็นร่องลึก สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ทรงพุ่มกว้าง ค่อนข้างโปร่ง ยอดอ่อนสีชมพู ใบขนาดปานกลางสีเขียวเข้ม ดอกสีชมพูอมเหลือง ฝักกลมขนาดใหญ่ ทั้งโค้งมากจนเป็นวงกลม และโค้งน้อยเป็นครึ่งวงกลม มีทั้งฝักยาวและฝักสั้นมักติดฝักดกเป็นพวง เนื้อของฝักที่แก่จะมีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อกรอบ เมล็ดโตปานกลาง เยื่อหุ้มเมล็ดหนาและเหนียว รสชาติหวานจัด เนื้อกรอบ มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน เป็นมะขามหวานพันธุ์ หนัก เก็บเกี่ยวช้าอยู่ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
ผล : เป็นฝักขนาดกลาง ประมาณ 30 – 35 ฝักต่อกิโลกรัม ฝักโค้งเป็นรูปวงฆ้อง บางฝักหัวและท้ายเกือบจรดกัน
เนื้อผล : เนื้อหนา รสหวานและหวานสนิท มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 45.2%
- พันธุ์อินทผาลัม
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : ต้นเดิมอยู่ที่บ้านหนองเล ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า
ลักษณะประจำพันธุ์ : เป็นมะขามพันธุ์เบา เปลือกของลำต้นสีเทาอ่อน เกล็ดเปลือกละเอียดเรียบ ใบใหญ่ สีเขียว ยอดอ่อนสีเขียวอมเหลือง ทรงพุ่มกว้างเป็นทรงกลมสวยงาม ฝักกลมโตโค้งเล็กน้อย เปลือกบาง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อมีสีน้ำตาล หนาเหนียว เมล็ดโตปานกลาง รกหุ้มเนื้อมีน้อยเยื่อหุ้มเมล็ดบางและไม่เหนียว เปลือกบาง เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักค่อนข้างดกเป็นพวงสม่ำเสมอทุกปี เก็บเกี่ยว ระหว่างเดือน ธันวาคม ถึง มกราคม
เนื้อผล : เนื้อหนาเหนียว รสหวาน อมเปรี้ยวเล็กน้อย
เมล็ด : เมล็ดโตปานกลาง
- พันธุ์น้ำผึ้ง
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : มะขามหวานพันธุ์นี้นายวสันต์ เพชระบูรณิน อดีตเกษตรอำเภอหนองไผ่ จังหวัด เพชรบูรณ์เป็นผู้ตั้งชื่อ ลักษณะประจำพันธุ์เป็นพันธุ์เบา ติดฝักในเดือนพฤษภาคม ฝักเล็กยาวโค้งงอมาก ฝักสุกจะ มีเนื้อหนา รสชาติหอมหวานคล้ายน้ำผึ้งแต่ฝาด ฝักสุกในเดือนธันวาคม
เนื้อผล : เนื้อหนา รสหวานและหวานสนิท มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 45.2%
เมล็ด : เล็ก
- พันธุ์สีทอง (พันธุ์นายหยัด)
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : เป็นพันธุ์ที่กลายมาจากพันธุ์หมื่นจง ประมาณ พ.ศ.2483 นายหยัด กองมูล ได้นำ เมล็ดมะขามหวาน พันธุ์หมื่นจงไปปลูกในที่ดินของตนประมาณ 20 เมล็ด หลังจากนั้นประมาณ 7 ปี จึงมีผลปรากฎว่าเปรี้ยวที่สุด 17 ต้น เปรี้ยวอมหวาน 1 ต้น หวานแต่ฝักเล็ก 1 ต้น หวานจัดฝักใหญ่ที่สุด 1 ต้น ต้นนี้คือ มะขาม หวานต้นตระกูลพันธุ์สีทองหรือพันธุ์นายหยัด นอกจากนี้ยังมีอีกชื่อคือ เพชรน้ำผึ้ง ซึ่งนายล้วน ด่านไทยนำ เจ้าของไร่ เพชรประดิษฐ์ยนต์ ได้ตั้งขึ้น ทั้ง 3 ชื่อก็คือ พันธุ์เดียวกัน แต่คนทั่วไปนิยมเรียก พันธุ์สีทอง
ลักษณะประจำพันธุ์ : เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนนวล เกล็ดของเปลือกเรียบไม่หยาบเหมือนพันธุ์ หมื่นจง ใบใหญ่สีเขียวเข้ม ยอดอ่อนสีชมพู กิ่งทอดยืดยาว ทรงพุ่มกว้างไม่เป็นระเรียบ ดอกสีแดงอมเหลือง ฝักกลม มีทั้งฝักโค้งมากเป็นครึ่งวงกลมและโค้งน้อยจนเกือบตรง เปลือกค่อนข้างหนา รกหุ้มเนื้อมากและเหนียวเนื้อหนา เนื้อสีน้ำตาลทอง รสชาติหวาน เมล็ดโต เป็นพันธุ์หนัก เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม
เนื้อผล : เนื้อหนาสีทอง รสหวานจัด มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลมากกว่า 50%
เมล็ด : โต
**มะขามหวานพันธุ์สีทองเป็นมะขามพันธุ์ที่อร่อยที่สุดและเป็นพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด**
- พันธุ์ศรีชมภู (สีชมพู)
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : เจ้าของพันธุ์เดิมชื่อ นายตา คำเที่ยง นำมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว พ.ศ. 2481 มาปลูกที่บ้านน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้ชื่อว่า พันธุ์น้ำร้อน ต่อมา ครูอุดม ศรีชมภู ครูใหญ่โรงเรียนบ้านน้ำร้อนในครั้งนั้น ได้ทาบกิ่งมาปลูกบ้าน เลขที่ 97/1 หมู่ 2 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์และ ส่งเสริมให้โด่งดังและเป็นผู้ตั้งชื่อมะขามพันธุ์นี้ พันธุ์ศรีชมภู
ลักษณะประจำพันธุ์ : มะขามนี้เป็นพันธุ์เบา เปลือกของลำตันมีสีเทาแก่ เกล็ดของเปลือกหยาบเป็นร่องลึก ยอดอ่อนมีสีแดงเข้ม ทรงพุ่มทรงกระบอกตั้งตรงไม่กว้าง ดอกสีแดงปนเหลือง ฝักกลมใหญ่และเหยียดตรงสะดวก ต่อการบรรจุหีบห่อ เหมาะต่อการส่งออก รกหุ้มเนื้อมีน้อย เยื่อหุ้มเมล็ดบางไม่เหนียว ฝักออกเป็นพวงเรียกว่าศรี ชมภูพวง และบางต้นฝักแบนเหมือนรูปปลิงเรียกว่าศรีชมภูท้องปลิง เป็นพันธุ์เบา ฝักแก่เริ่มเก็บได้ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน
เนื้อผล : เนื้อหนาสีน้ำตาลอมเหลือง รสหวานสนิทจนถึงหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
เมล็ด : เล็ก
- พันธุ์ขันตี
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : กลายพันธุ์มาจากหมื่นจงหรือสีทองไม่แน่ชัด มะขามหวานพันธุ์นี้ตั้งชื่อผู้ที่นำมา ปลูกคนแรกคือ นายขันตี แก้ววงศ์ อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 11 ตำบลท่าพล อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่คนที่ เผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้จักคือ ครูนิยม เหมพนม
ลักษณะประจำพันธุ์ : ต้นมีขนาดกลางเล็กกว่าพันธุ์อื่น ๆ เปลือกของลำต้นเป็นสีเทา เกล็ดของเปลือก เรียบเล็กใบเล็กกว่าทุกพันธุ์ ยอดอ่อนสีเขียวอมชมพูเล็กน้อย ทรงพุ่มกว้าง มีกิ่งแขนงมาก ฝักใหญ่กลมตรงคล้ายพันธุ์ศรีชมภู แต่ท้องฝักไม่แบน เปลือกฝักหนาออกสีน้ำตาลเข้มและเปลือกหนากว่าพันธุ์สีชมภูเนื้อสีน้ำตาลแดง เยื่อหุ้มเมล็ดหนาและเหนียว รกหุ้มเนื้อมีมากกว่าพันธุ์ศรีชมภูรสชาติหวานหอม การติดฝักดี ฝักดก สม่ำเสมอทุกปี ติดฝักเร็ว เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม
เนื้อผล : เนื้อหนาสีน้ำตาลอมเหลือง รสหวานสนิท
เมล็ด : เล็ก
- พันธุ์ประกายทอง หรือ พันธุ์ตาแป๊ะ
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : มาจากคุณเจียง แซ่เฮง (ตาแป๊ะเจียง) อยู่ที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 8 ตำบล โป่งตาเบ้า อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ โดย นางอนงค์ วัฒนชัยสิทธิ์ บุตรแป๊ะเจียง นำเข้าประกวดมะขามหวานปี 2534 ซึ่งเมื่อก่อนประกวดจะเรียกพันธุ์ ตาแป๊ะ พอจะเข้าประกวดตั้งชื่อเป็น กลายทอง (กายทอง) มาจากเป็นมะขามที่ ทำเงินให้มาก เพราะชื่อสั้นและห้วนเกินทางเจ้าหน้าที่เกษตรจึงตั้งชื่อให้เป็น ประกายทอง
ลักษณะประจำพันธุ์ : มะขามนี้เป็นพันธุ์เบา เปลือกของลำต้นเรียบกาบเปลือกเล็กคล้ายพันธุ์อินทผาลัม แต่สีของเปลือกเป็นสีเทาอ่อนไม่หมือนพันธุ์อินทผาลัมที่มีเปลือกขาวนวลยอดอ่อนสีเขียวอมเหลืองดอกเหลืองอ่อน เช่นเดียวกับพันธุ์อินทผาลัม แต่ฝักมีขนาดใหญ่กว่า ฝักกลมตรง โค้งเล็กน้อย รสชาติหวานสนิท เมล็ดเล็ก ไม่ติดเนื้อ เปลือกบาง แก่เร็ว เป็นพันธุ์เบา ซึ่งเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม ในบางปีอาจสุกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และการบำรุงของเจ้าของสวนที่จะทำให้ผลผลิตออกก่อนฤดูกาล
เนื้อผล : เนื้อบาง รสชาติหวานสนิท เมล็ดเล็ก ไม่ติดเนื้อ
เมล็ด : เล็ก
“มะขามหวานเพชรบูรณ์” ขึ้นชื่อว่าเป็นมะขามหวานที่รสชาดอร่อยที่สุดในโลกและจัดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร
มะขามหวานเพชรบูรณ์พันธุ์ใหม่
จังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมะขามหวาน ทำให้ได้มะขามหวานสายพันธุ์ใหม่ ๆ จากการจัดประกวดมะขามหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ตัวอย่างคือ
- พันธุ์เพชรซับเปิบ
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : ต้นมะขามพันธุ์เพชรซับเปิบ มีอายุประมาณ 25 ปี พบในสวนของนายคนึง กองศรี ตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ที่ 6 ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 67240 กลายพันธุ์จากเมล็ดของมะขามหวานพันธุ์อินทผลัม ลักษณะฝักใหญ่และยาว รสชาติหวานหอม จึงทำการคัดเลือกพันธุ์จนได้มะขามพันธุ์ที่มีลักษณะตามต้องการและตั้งชื่อว่าพันธุ์ เพชรซับเปิบ
โดยมีลักษณะพันธุ์ ดังนี้
ราก : มีรากแก้ว รากฝอยแผ่ขยายรอบลำต้น
ต้น : เปลือกลำต้นขรุขระ มีสีน้ำตาล อ่อน ต้นสูงประมาณ 5 เมตร
ใบ : เป็นใบย่อย ใบมีรูปขอบขนาน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 2-5 ซม. ใบยาว 1-2 ซม.
ดอก/ช่อดอก : ดอกมีสีเหลือง และมีจุดประสีม่วงแดงกระจายตามกลีบดอก
ผล : ฝักมีความโค้ง เล็กน้อย ฝักมีสีน้ำตาลอ่อน สีเนื้อมีสีน้ำตาลเข้ม มีรสชาติหวาน
ได้ขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร ตามประกาศกรวิชาการเกษตร เรื่อง ชื่อพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 11) ลำดับที่ 36 ชนิดพืช มะขาม ชื่อพันธุ์ เพชรซับเปิบ ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
- พันธุ์บุญเลิศ
ประวัติ/ที่มาของพันธุ์ : เจ้าของพันธุ์คือ คุณบุญเลิศ จันทคุณ อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 3 ตำบลวังหิน อำเภอ วังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าของสายพันธุ์มะขามหวาน “บุญเลิศ” ซึ่งนำชื่อตัวเองมาตั้งชื่อมะขามหวานสายพันธุ์ ใหม่ ที่มาของ มะขามหวานพันธุ์ “บุญเลิศ” เดิมนั้นคุณบุญเลิศได้นำต้นพันธุ์กิ่งทาบมะขามหวานพันธุ์ตาแป๊ะ หรือ พันธุ์ประกายทองมาปลูก ปรากฏว่ายอดพันธุ์ดีหรือพันธุ์ตาแป๊ะเกิดตายไป และยอดของต้นตอกลับเจริญเติบโตขึ้นมาแทน ก็ปล่อยให้เจริญเติบโตมากว่า 7 ปี จนออกดอกและติดฝักตาม มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ
ลักษณะประจำพันธุ์ : เนื้อมีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติและกลิ่นหอมโดดเด่นมาก ขั้วผล ยาว ฝักค่อนข้างตรง โค้งงอเล็กน้อย ติดฝักค่อนข้างดกแต่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ในช่วงต้นมะขาม อายุ 5 ปี ที่เริ่มให้ผลผลิต อาจจะให้ผลผลิต 5-10 กิโลกรัมต่อต้น อายุ 7 ปี ได้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 60-100 กิโลกรัม
วิธีปลูกมะขามหวาน
การปลูกมะขามหวานเพื่อเป็นการค้า ควรคำนึงถึงชนิดของพันธุ์ที่จะปลูก เช่น
- พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์หนักหรือเบา คือช่วงเวลาในการติดดอกและระยะเวลาในการแก่เต็มที่ของผล ซึ่งควรปลูกทั้ง 2 ชนิด แต่คนละแปลงกัน
- ชนิดของผลผลิต เช่น ตลาดต้องการมะขามหวานฝักโค้งหรือฝักตรง หากต้องการฝักตรงก็ควรปลูกพันธุ์ศรีชมพูให้มาก หากต้องการสีผิวฝักสวยก็ควรปลูกพันธุ์สีทองให้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ
- มะขามหวานมักนิยมปลูกจากต้นกล้าที่ได้จากการทาบกิ่ง โคนกิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ความสูงประมาณ 1.0 – 1.5 ม. มีกิ่งแขนง 2 – 3 กิ่ง เป็นทรงพุ่มสวย ไม่บิดเบี้ยวคดงอโค้งหาพื้นดิน ใบใหญ่สมบูรณ์ เขียวเข้ม ต้นแข็งแรงเปลือกต้นไม่ซูบซีดแคระแกรน หรือเป็นแผล มะขามจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 3 – 4 ปี
- ระยะห่างของหลุมปลูกในระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว ควรเป็น 10×10 ม.
การดูแล
- การให้ปุ๋ย ควรทำให้ดินมีความร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่น มูลสัตว์ ปุ๋ยพืชสดไถกลบหรือคลุมดิน
- การให้น้ำ มะขามหวานต้องมีการขาดน้ำในช่วงที่ผลหรือฝักไกล้แก่ คือเมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล ฝักแก่เก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่ง ทิ้งใบ จนถึงแตกยอดอ่อน เมื่อแตกยอดอ่อนได้ประมาณ 1 อาทิตย์ หรือแตกเกือบทั้งต้น จึงเริ่มให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนถึงออกดอก ติดฝัก เมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีจึงหยุดให้น้ำอีก เป็นดังนี้เรื่อยไป
โรค แมลงและการป้องกันกำจัด
ควรหมั่นดูแลพื้นที่ให้สะอาดไม่เป็นที่หมักหมมอับชื้น และตัดแต่งกิ่งพืชให้โปร่งมีแสงแดดส่องลงสู่พื้นดินได้อย่างทั่วถึง ลมสามารถโชยพัดผ่านได้สะดวก
การให้ผลผลิต
- มะขามหวานจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 3 – 4 ปี
- เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี
- ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์
- ระยะเวลาติดดอกจนถึงดอกบานประมาณ 20 วัน
- ระยะเวลาหลังดอกบานจนถึงฝักแก่ประมาณ 8 เดือน
- ต้นอายุประมาณ 10 ปีจะให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อต้น
- ผล 30 – 45 ฝัก จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
ราคาขายมะขามหวาน
ราคา ณ วันที่ 17 มีนาคม 2567
- มะขามหวานสีทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 110 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 65 บาท
- มะขามหวานสีชมพู (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 100บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 65 บาท
- มะขามหวานประกายทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 100 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 65 บาท
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, http://clgc.agri.kps.ku.ac.th, http://cmuir.cmu.ac.th, www.simummuangmarket.com
ภาพประกอบ : www.flickr.com, FB มะขามแช่อิ่มเพชรบูรณ์ ไร่มาริสา, FB บ้านมะขาม, FB กิ่งพันธุ์มะขามหวานพันธ์เพชรซับเปิบ
มะขามหวานพันธุ์ที่อร่อยที่สุด สายพันธุ์มะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ และสายพันธุ์ใหม่ของมะขามหวาน