มะม่วงอกร่อง
ชื่ออื่นๆ : มะม่วงอกร่อง, มะม่วงพันธุ์อกร่อง
ชื่อสามัญ : มะม่วงอกร่อง
ต้นกำเนิด : เอเชียเขตร้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica Linn.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ลักษณะของมะม่วงอกร่อง
ต้น เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 15-25 ปี ลำต้นเพลาตรง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งหลัก และกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกลำต้นสีเทาอมดำ
ใบ ใบเดี่ยว ปลายใบแหลม ใบขนาดปานกลาง ใบสอบลง ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม
ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อน ออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม
ผล รูปไข่ อวบใหญ่ และค่อนข้างแบนเล็กน้อย ส่วนบนบริเวณขั้วมีขนาดใหญ่ ด้านหน้าผลโค้งนูน และค่อยเล็กคอดลงทางปลายผลด้านล่าง โดยพันธุ์ดั้งเดิมจะมีร่องตื้นในแนวตั้งตรงกลางบริเวณด้านหน้าผล ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อนหรือหรือเขียวอมเหลือง ผลสุกมีสีเหลืองครีมหรือเหลืองอมส้ม เปลือกผลค่อนข้างบาง ส่งกลิ่นหอมแรง และหอมมากกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นๆ ส่วนเนื้อผลมีสีเหลืองอมขาวหรือเหลืองครีม เนื้อผลละเอียด ฉ่ำด้วยน้ำหวาน มีเสี้ยนที่ติดจากส่วนเมล็ดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ออกผลช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
เมล็ด เมล็ดมีลักษณะคล้ายผลด้านนอก คล้ายรูปไต มีลักษณะแบน ส่วนขั้วเมล็ดใหญ่ และหนา
การขยายพันธุ์มะม่วงอกร่อง
มะม่วงพันธุ์อกร่องเขียว ผลมีขนาดเล็ก ผลดิบเปลือกสีเขียว เนื้อสีขาว รสเปรี้ยว ผลสุกเปลือกสีเขียวอมเหลือง เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติเหมือนกับมะม่วงอกร่องทอง มีเสี้ยนค่อนข้างมาก มะม่วงอกร่องให้ผลผลิตมากช่วงเดือนเมษายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง หรือทาบกิ่ง ปลูกได้ทุกภาคทั่วประเทศ มะม่วงอกร่องนิยมรับประทานผลสุก รับประทานกับข้าวเหนียวมูน ทำมะม่วงแผ่นตากแห้ง ทำแยม
มะม่วงพันธุ์อกร่องทอง เป็นมะม่วงรับประทานผลสุกกับข้าวเหนียวมูน หรือที่เรียกกันว่าข้าวเหนียว มะม่วง เป็นพันธุ์เก่าแก่ที่รู้จักกันทั่วไป ให้ผลดก แต่มักออกผลเว้นปี ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวจัด มีเสี้ยนน้อย ผลแก่รสชาติมันอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลสุกผิวของเปลือกสีฟางข้าวหรือสีเหลืองทองสดใส และเหี่ยวย่น เปลือกบางเนื้อสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อนุ่มละเอียด มีเสี้ยนปานกลาง รสชาติหวานจัด กลิ่นหอม น้ำหนักผล 250 กรัมต่อผล เมล็ดขนาดปานกลาง เมล็ดยาวแบน มีเนื้อในเมล็ดน้อย เป็นมะม่วงที่ได้มาจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ “อกร่องธรรมดา” แหล่งที่ปลูกอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และหนองคายมะม่วงเริ่มให้ผลผลิตประมาณต้นเดือนมีนาคมเรื่อยไปถึงมิถุนายน แหล่งเพาะปลูกมะม่วงมาก ที่สุด 3 อันดับแรกคือ จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และชัยภูมิ ปัจจุบันปลูกได้ทั่วประเทศ และสามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ดี จึงทำให้มีมะม่วงรับประทานตลอดปี
การปลูกมะม่วงอกร่อง
มะม่วงอกร่อง เป็นที่นิยมปลูกในทุกครัวเรือน ส่วนมากปลูกเพื่อรับประทานเอง ทั้งในพื้นที่ว่างของบ้าน และตามหัวไร่ปลายนา แต่ก็พบการปลูกในแปลงใหญ่เพื่อการค้าบ้าง
ลักษณะเด่นมะม่วงอกร่อง
- ติดผลดก มีอายุยืนยาว
- ทนแล้งได้ดี
- เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน
- โตเร็ว
- ทนต่อโรค และแมลง
ลักษณะด้อยมะม่วงอกร่อง
- ต้นที่ปลูกจากเมล็ดมีความสูงมาก แตกทรงพุ่มใหญ่
- ผลสุกมีเสี้ยนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับมะม่วงชนิดอื่น
- เปลือกผลสุกบาง ทำให้ซ้ำง่ายเวลาขนส่ง
รูปแบบการปลูกมะม่วงอกร่อง
- การปลูกเพื่อรับประทานเอง
การปลูกมะม่วงอกร่องรูปแบบนี้ พบได้ทั่วไปในทุกภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อรับประทานผล และให้ร่มเงาเป็นหลัก โดยมักปลูกตามบ้าน และหัวไร่ปลายนาเพียงไม่กี่ต้น ทั้งใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ดหรือต้นพันธุ์จากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด เกษตรกรมักปลูกในต้นฤดูฝน หลังปลูกปล่อยให้เติบโคตามธรรมชาติ ไม่ต้องการดูแลมาก เพียงทำไม้ปักล้อมสำหรับป้องกันสัตว์แทะเล็มก็เพียงพอ - การปลูกในแปลงใหญ่เพื่อจำหน่าย
การปลูกรูปแบบนี้ เป็นการปลูกเพื่อการค้าในแปลงใหญ่ จำนวนหลายสิบต้นขึ้นไป มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจำหน่ายผลดิบหรือผลสุกเป็นหลัก โดยเกษตรกรมักปลูกด้วยต้นพันธุ์จาการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด เพราะสามารถให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
การเตรียมแปลงปลูก และหลุมปลูก
- ไถพรวนแปลง 1-2 รอบ แต่ละรอบตากดิน 5-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด
- ขุดหลุมปลูก กว้าง ลึก ประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร
- ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว สำหรับต้นจากการเพาะเมล็ดที่ 8-10 x 8-10 เมตร สำหรับต้นจากการตอนหรือเสียยอดที่ 6-8 x 6-8 เมตร
- ตากหลุมไว้นาน 3-5 วัน
การปลูกมะม่วงอกร่อง
- ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
- โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/หลุม
- โรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ/หลุม
- เกลี่ยหน้าดินด้านบนลงคลุกผสม
- ฉีกถุงเพาะชำออก ก่อนนำต้นลงปลูก พร้อมนำหน้าดินลงกลบ
- ใช้ไม้ไผ่ปักข้างลำต้น พร้อมรัดลำต้นกับลำไม้ใช้พอหลวมๆ
การให้น้ำ
หลังการปลูกในช่วงแรก หากฝนทิ้งช่วงหลายวัน จำเป็นต้องให้น้ำ ประมาณวันละครั้ง จากนั้น ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ พอเข้าหน้าแล้งค่อยให้น้ำอีกครั้ง วันละ 1 ครั้ง จนต้นมีอายุได้ประมาณ 3 ปี ค่อยปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่มในช่วงการปล่อยติดผล
การใส่ปุ๋ย
- หลังการปลูกในระยะ 1-3 ปีแรก ก่อนปล่อยติดผล ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรอบโคนต้น ปีละ 2 ครั้ง อัตราปุ๋ยคอก 4-6 กำมือ/ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ/ต้น
- ช่วงการติดผลในปีที่ 3-4 เป็นต้นไป ให้ใส่ 2 ระยะ คือ ระยะก่อนหรือในช่วงออกดอก ด้วยปุ๋ยคอกในอัตราเดียวกันกับ 1-3 ปี ส่วนปุ๋ยเคมีเปลี่ยนเป็นสูตร 10-10-20 และระยะหลังเก็บผล ด้วยปุ๋ย และอัตราเดียวกันกับ 1-3 ปี
การตัดดอก
การปลูกในแปลงใหญ่ด้วยต้นพันธุ์การตอนหรือการเสียบยอด หลังการปลูก 1-3 ปีแรก จำเป็นต้องปล่อยให้ต้นเติบโต และแตกกิ่งจำนวนมากก่อน ซึ่งจำเป็นต้องเด็ดดอกที่ออกทิ้ง หรืออาจปล่อยให้ติดผลเพียงเล็กน้อยเพื่อรับประทาน จากนั้น ในปีที่ 3-4 ค่อยปล่อยให้ออกดอก และติดผลทั้งต้น
การเก็บผลผลิต
มะม่วงอกร่องมีอายุพร้อมเก็บผลประมาณ 110-120 วัน หลังติดผล ทั้งนี้ควรเก็บผลในระยะผลแก่หรือผลห่าม ไม่ควรเก็บขณะที่ผลสุกบนต้น เพราะผลจะซ้ำง่าย มีอายุการเก็บน้อย
ประโยชน์ของมะม่วงอกร่อง
- มะม่วงอกร่องเป็นมะม่วงพันธุ์ท้องถิ่นของไทย พบปลูกมากในทุกครัวเรือนเพื่อรับประทานผลสุก ที่ให้รสชาติหวานจัด หวานมากกว่ามะม่วงทุกสายพันธุ์
- ใช้ผลดิบสำหรับประกอบอาหาร อาทิ ข้าวคลุกกะปิ น้ำพริกมะม่วง และเมนูยำต่างๆ
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา, www.doa.go.th, https://arit.kpru.ac.th/
ภาพประกอบ : www.flickr.com, FB บ้านไร่กุญชร The mango farm.
มะม่วงอกร่อง มีทั้งอกร่องเขียวและอกร่องทอง
มะม่วงอกร่อง ผลสุกมีรสชาติหวานจัด หวานมากกว่ามะม่วงทุกสายพันธุ์