มะระขี้นก รสขม สมุนไพรใกล้ตัว สรรพคุณเพียบ
ชื่ออื่นๆ : ผัก ไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู มะระหนู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ ผักไซร้ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) ชาวปานามาเรียก บัลซามิโน่
ต้นกำเนิด : เขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน
ชื่อสามัญ : BALSAM PEAR, BITTER CUCUMBER
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantin Linn
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bitter gourd
ลักษณะของมะระขี้นก
มะระขี้นก มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็กมี 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป มีมือเกาะซึ่งเปลี่ยนมาจากใบเจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกันแล้วแตกเป็นร่างแห มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม
ดอกมะระขี้นก เป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน เจริญมาจากข้อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบนอก 5กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันมีก้านชูเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีอับเรณู 3 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่แบบหลบใน (inferior ovary) มีรังไข่ 1 อัน stigma 3 คู่ ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน
ผลมะระขี้นกรูปร่างคล้ายกระสวยสั้นๆ ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลยาว 5-7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก
เมล็ดมะระขี้นกมีรูปร่างกลม รี แบน ปลายแหลมสีฟางข้าว เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่
เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก ผลิใบทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้ เช่น ต้นไม้ใหญ่ แนวรั้วบ้าน เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า “มะระขี้นก”
การขยายพันธุ์ของมะระขี้นก
ใช้เมล็ด/การขยายพันธ์ด้วยเมล็ด
ธาตุอาหารหลักที่มะระขี้นกต้องการ
–
ประโยชน์ของมะระขี้นก
ทางอีสานนิยมนำใบมะระขี้นกใส่ลงไปในแกงเห็ดแบบพื้นบ้านจะทำให้แกงมีรสขมนิดๆ กลมกล่อมมาก บ้างนิยมนำใบมะระมาต้มหรือลวกจิ้มน้ำพริก
สรรพคุณทางยาของมะระขี้นก
- ใบช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบายน้ำคั้นใบดื่มเป็นยาทำให้อาเจียน บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ
- ดอกชงกินกับน้ำแก้อาการหืดหอบ
- ผลกินเป็นยาขม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ขับพยาธิ แก้ตับและม้ามอักเสบ หรือจะคั้นน้ำมะระดื่มสัปดาห์ละไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาระบาย
- ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม
- น้ำต้มรากมะระขี้นกใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ บำรุงธาตุ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บาดแผลอักเสบ
ออกฤทธิ์ : ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
ส่วนที่เป็นพิษ : เมล็ดของผลสุก
สารพิษ : Saponin
อาการ : คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ถ้าอาการรุนแรง พิษอาจทำลายเนื้อเยื่อ ถ้ามีการดูดซึม จะมีอาการกระวนกระวาย ปวดศีรษะ เป็นไข้ กระหายน้ำ ม่านตาขยาย หน้าแดง กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ทำงานไม่สัมพันธ์กัน อาจจะแสดงพิษต่อระบบไหลเวียนโลหิต และชัก
วิธีการรักษา :
- รับประทานไข่ขาว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษ
- นำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเหลือชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
หมายเหตุ ยังไม่มีวิธีการเฉพาะสำหรับแก้พิษเมื่อมีการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ ร่างกาย
คุณค่าทางโภชนาการของมะระขี้นก
- คุณค่าทางโภชนาการของผลมะระขี้นกต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4.32 กรัม
- น้ำตาล 1.95 กรัม
- เส้นใย 2 กรัม
- ไขมัน 0.18 กรัม
- โปรตีน 0.84 กรัม
- น้ำ 93.95 กรัม
- วิตามินเอ 6 ไมโครกรัม 1%
- แบต้าแคโรทีน 68 ไมโครกรัม 1%
- ลูทีน และ ซีแซนทีน 1,323 ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.051 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี2 0.053 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี3 0.28 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี5 0.193 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี6 0.041 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี9 51 ไมโครกรัม 13%
- วิตามินซี 33 มิลลิกรัม 40%
- วิตามินอี 0.14 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 4.8 ไมโครกรัม 5%
- ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.38 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมกนีเซียม 16 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุแมงกานีส 0.086 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุฟอสฟอรัส 36 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโพแทสเซียม 319 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุโซเดียม 6 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.77 มิลลิกรัม 8%
การแปรรูปของมะระขี้นก
มะระขี้นกสามารถมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงจืดมะระขี้นกยัดไส้หมูสับ พะแนงมะระขี้นกยัดไส้ ผัดกับไข่ นอกจากใช้ผลเป็นอาหารแล้ว ทางภาคเหนือนิยมนำยอดมะระสดมากินกับลาบ หรือนำไปทำแกงคั่ว แกงเลียง และแกงป่า ได้รสน้ำแกงที่ขมเฉพาะตัว
เกษตรตำบล ศูนย์รวมความรู้การเกษตร ปลูกได้ ขายเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีเกษตร กับมะระขี้นก
References : www.bedo.or.th , https://medplant.mahidol.ac.th
รูปภาพจาก : www.bloggang.com, 2.bp.blogspot.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม
คุณค่าทางอาหาร เยอะมาก