มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ยอดใบจนถึงราก

มันสำปะหลัง

ชื่ออื่นๆ : มันสำโรง, มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียก มันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า “มันหลา”) คำว่า “สำปะหลัง” ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า “ซำเปอ (Sampou)” ของชวาตะวันตก 

ต้นกำเนิด : อเมริกาใต้

ชื่อสามัญ : Cassave

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manihot esculenta Crantz.

ชื่อวงศ์ : Euprorbiaceae

ลักษณะของมันสำปะหลัง

ต้น เป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นตั้งตรง สูง 1.3–5 เมตร รากแบบสะสมอาหาร (tuberous root) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10–1.5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นรอยที่ก้าน ใบร่วงหลุดไป สีของลำต้นส่วนยอดจะเป็นสีเขียว ส่วนทางด้านล่างอาจมีสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงขึ้นอยู่กับพันธุ์

ราก มันสำปะหลังมีรากน้อยและอยู่ไม่ลึกจากผิวดิน มีราก 2 ชนิด คือรากจริงและรากสะสมอาหาร ที่เรียกกันทั่วไปว่า หัว มีปริมาณแป้งประมาณ 5-40 %

ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบแยกเป็นแฉกมีสีเขียว ก้านใบอาจมีสีเขียวหรือสีแดง หรือใบด่าง ที่ใช้เป็นไม้ประดับ

ดอก มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ทางส่วนปลายของช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือมีลายแดง

ผล ผลและเมล็ดในแต่ละผลมี 3 เมล็ด เมล็ดจะมีสีเทาหรือลายจุดดำ

ต้นมันสำปะหลัง
ต้นมันสำปะหลัง ลำต้นตั้งตรง สีเขียว
ใบมันสำปะหลัง
ใบมันสำปะหลัง ใบแยกเป็นแฉกมีสีเขียว

การขยายพันธุ์ของมันสำปะหลัง

การใช้กิ่ง, การใช้ลำต้น

ธาตุอาหารหลักที่มันสำปะหลังต้องการ

ประโยชน์ของมันสำปะหลัง

  • มันสำปะหลังเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ยอดใบจนถึงราก (หัวมัน) เพื่อการบริโภคเป็นอาหารมนุษย์ และอาหาร สัตว์ รวมถึงใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
  1. ใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยใช้ส่วนหัว นำมา ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เชื่อม เป็นอาหารชนิดต่างๆ  ส่วนใบ นำมา ต้มจิ้มน้ำพริก
  2. ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งที่เป็นหัวสด กากที่เหลือจากการทำแป้ง เปลือกของหัวใบสด ตากแห้งป่นผสมเป็นอาหารสัตว์
  3. ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร  อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน
  • อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  ใช้เพื่อผลิตเป็น มันสำปะหลังเส้น (cassava chips / shredded)  มันสำปะหลังอัดเม็ด (cassava pellets)  แป้งมันสำปะหลัง (cassava flour /tapioca flour)  และจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งแปรรูป (modified starch) ชนิดต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น สาคู  ตลอดจนใช้แป้งมันช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการผลิตซอสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ และอาหารกระป๋องต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรส รวมถึงการผลิตไลซีน และสารให้ความหวานต่างๆ
  • อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร เช่น อุตสาหกรรมทำกาว อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นตัวฉาบผิวด้วยกาวจากแป้งทำให้กระดาษเรียบ คงรูปร่าง ช่วยทำให้กระดาษไม่ซึมหมึกพิมพ์สี อุตสาหกรรมซักรีด อุตสาหกรรมยาสีฟัน และเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และสารดูดน้ำในการผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่  ฯลฯ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล  เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอลล์
รากมันสำปะหลัง
รากมันสำปะหลังหรือหัวมันสำปะหลัง
หัวมันสำปะหลัง
หัวมันสำปะหลัง เนื้อด้านในสีขาว

การจำแนกมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. ชนิดหวาน (Sweet Type)  เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคต่ำ ไม่มีรสขมใช้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ มีทั้งชนิดเนื้อร่วนนุ่ม และชนิดเนื้อแน่น เหนียว แต่มีจำนวนน้อย
  2. ชนิดขม (Bitter Type) เป็นมันสำปะหลังที่มีกรดไฮโดรไซยานิคสูง เป็นพิษ และมีรสขม ไม่เหมาะสำหรับ การบริโภคของมนุษย์ หรือใช้หัวมันสำปะหลัง สดเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่จะใช้สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆเช่น แป้งมัน มันอัดเม็ด และแอลกอฮอล์ เป็นต้น เนื่องจากมีปริมาณแป้งสูง มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศ ไทยส่วนใหญ่เป็นชนิดขมสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม

ความเป็นพิษในมันสำปะหลัง

ในส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังจะมีกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid ,HCN) ซึ่งเกิดจาก การแตกตัวของสารประกอบไซยาโนเจเนติก กลูโคไซด์ (cyanogenetic glucosides) ให้สารพิษในรูปกรดไฮโดรไซยานิค ที่มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ถึงตายได้ เนื่องจากทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง

การออกฤทธิ์ : ระบบไหลเวียนของโลหิต

ส่วนที่เป็นพิษ : ทั้งต้น/หัวมันสำปะหลังดิบ

สารพิษ : Cyanogenic glycoside อาการ : อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อกระตุก มึนงง ไม่รู้สึกตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะโคม่าภายใน 10-15 นาที

วิธีการรักษา :

  1. ทำให้อาเจียน
  2. รีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อล้างท้อง
  3. ในกรณีที่อาการรุนแรงให้ดม amyl nitrite แล้วรีบล้างท้องด้วย 5% sodium thiosulfate หรือทำให้อาเจียน
  4. ฉีด soduim nitrite (3% solution at 2.5-5 ml/min.) ร่วมกับ sodium thiosulfate (50 ml of 25% solution,IV) อาจต้องให้ยาซ้ำ
  5. ให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ

คุณค่าทางโภชนาการของมันสำปะหลัง

การแปรรูปของมันสำปะหลัง

  • ประกอบอาหารคาวหวาน โดยนำส่วนของรากสะสมอาหารที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตไปใช้ประกอบอาหาร
  • แปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร
  • อาหารสัตว์
  • อุตสาหกรรมกาว
  • พลังงานเอทานอล

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=10296&SystemType=BEDO
https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=17866
https://www.tapiocathai.org/C.html
https://th.wikipedia.org
https://medplant.mahidol.ac.th
https://www.flickr.com

3 Comments

Add a Comment