ย่านางขาว ย่านางแดง เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น

ย่านางขาว

ย่านาง หรือย่านางขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels เป็นไม้เถาเลื้อย เกี่ยวพันไม้อื่น เป็นเถากลมๆ ขนาดเล็ก แต่เหนียว มีสีเขียว เมื่อเถาแก่จะมีสีเข้ม บริเวณเถาว์มีข้อห่างๆ เถาอ่อน มีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายใบพริกไทย ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ในภาคใต้ใบค่อนข้างเรียวยาวแหลมกว่า สีเขียวเข้ม หน้าและหลังใบเป็นมัน มีดอกขนาดเล็กสีเหลีอง

คนไทยนิยมใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆ เช่น แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ (ย่านางสามารถต้านพิษกรดยูริกในหน่อไม้ได้) แกงอ่อม แกงเห็ด หรือขยี้ใบสดกับหมาน้อย รับประทานถอนพิษร้อนต่างๆ

ใบย่านาง
ใบย่านาง ใบเรียว สีเขียวเข้ม
น้ำคั้นจากใบย่านาง
น้ำค้้นจากใบย่านาง จะมีสีเขียวเข้มถึงดำ

ย่านางแดง

ย่านางแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia strychnifolia Craib. เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น โดยมีความยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเรียบ เถามีขนาดกลาง ๆ และมักแบนมีร่องตรงกลาง เปลือกเถาเป็นสีออกเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่มีลักษณะกลมและเป็นสีน้ำตาลแดง มีมือสำหรับการยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ๆ ปลายม้วนงอ ส่วนรากมีผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยบากตามขวางเล็ก ๆ ทั่วไป ลักษณะของเนื้อไม้ภายในรากเป็นสีน้ำตาลแดง ใบมีใบดกและหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน

นิยมนำยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบได้  และปลูกเป็นไม้ประดับไว้เป็นไม้ประดับรั้วหรือปลูกไว้เป็นซุ้มหน้าบ้านได้อีกด้วย เนื่องจากมีใบที่เขียวสดและมีช่อดอกที่โดดเด่นสวยงาม

ต้นย่านางแดง
ต้นย่านางแดง ไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น
ดอกย่านางแดง
ดอกย่านางแดง กลีบดอกเป็นสีแดงสด รูปไข่กลับ
ย่านางแดง ย่านางขาว
ย่านางแดง ย่านางขาว

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9915&SystemType=BEDO

Add a Comment