มะม่วงมันเดือนเก้า
ชื่ออื่นๆ : มะม่วงเดือนเก้า, มะม่วงทะวายเดือนเก้า, มะม่วงพันธุ์ทะวาย
ชื่อสามัญ : Mango มะม่วงมันเดือนเก้า
ต้นกำเนิด : จังหวัดฉะเชิงเทรา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ลักษณะของมะม่วงมันเดือนเก้า
ต้น ไม้ยืนต้นสูง 10 – 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเยอะ
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว ขอบใบเรียบ ออกเรียงสลับเป็นคู่ รอบกิ่งก้านบริเวณช่วงปลายยอด ใบเป็นรูปขอบขนาน โคนมน ปลายใบแหลม
ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรสีแดงเรื่อๆ ดอกออกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล ผลยาวประมาณ 5–20 ซม. กว้าง 4–8 ซม. ลูกดิบสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเหลืองส้ม มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 250-500 กรัม เนื้อมะม่วงมีกลิ่นแรง เนื้อละเอียด ออกผลในฤดูร้อน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
การขยายพันธุ์มะม่วงมันเดือนเก้า
การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การตอนกิ่ง
โดยทั่วไปมะม่วงพันธุ์นี้ ติดผลง่าย ให้ผลดก
วิธีการปลูกมะม่วงมันเดือนเก้า
การปลูก
เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ระยะปลูกแบบถี่ 2.5×2.5 เมตร หรือ 4×4 เมตร ระยะปลูกแบบห่าง 6×6 เมตร
การดูแลรักษา
การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อต้น การให้ปุ๋ยเคมีควรใส่ทันทีหลังการตัด แต่งกิ่งโดยใช้สูตร 15-5-20 ช่วงก่อนออกดอกใส่สูตร 12-24-12 และช่วงหลังห่อผลใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 ใน 3 ของ เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ไม่เกิน 2 กิโลกรัม ต่อครั้ง
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
- โรคแอนแทรคโนส เป็นได้ทุกส่วนทั้งใบ กิ่ง ดอก และผล ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเคมี เช่น สารคาร์เบนดาซิม
- โรคราแป้ง พบผงสีขาวขึ้นปกคลุมก้านดอกและใบอ่อนทำให้ ใบอ่อนและช่อดอกหลุดร่วง ป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งและใบที่เป็นโรค ทำลายโดยเผาหรือฝังดิน ระยะดอก ติดผลอ่อน พ่นสารไดโนแคป หรือไตรอะไดเมฟอน หรือกำมะถันผง โรคราดำ เป็นคราบดำเคลือบอยู่บนผิวนอกของใบพืชและผล เนื่องจากเชื้อราดำเจริญปกคลุมบนผิวโดยใช้สารน้ำหวานที่แมลงปากดูดถ่ายทิ้งไว้ โรคผลเน่าหรือโรคขั้วผลเน่า พบกับมะม่วงหลังเก็บเกี่ยว ป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับโรคแอนแทรคโนส และควรเก็บมะม่วงอย่างระมัดระวัง และหลังจากหักก้านให้วางคว่ำบนผ้ากระสอบที่สะอาด ไม่ควรวางกับดินหรือหญ้า
- เพลี้ยไฟ ดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อนและช่อดอก ทำให้ใบร่วงดอกร่วง ป้องกันกำจัดโดยระยะเริ่มผลิใบอ่อนและก่อนดอกบานจนติดผลขนาด 2-3 เซนติเมตร พ่นด้วยสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน หรือสารเฟนโพรพาทริน ด้วงกรีดใบหรือด้วงงวงกัดใบมะม่วง พบการร่วงของใบอ่อนบริเวณโคนต้น ป้องกันกำจัดโดยเก็บใบอ่อนตามโคนต้นไปฝังหรือเผาทำลายเพื่อทำลายไข่และตัวหนอน หรือพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน ด้วงหนวดยาว เจาะทำลายลำต้นหรือกิ่ง พบขุยไม้ติดอยู่ภายนอก ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริดให้ชุ่มบริเวณต้นและกิ่งขนาดใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ เพลี้ยจักจั่นมะม่วง พบการทำลายที่ช่อดอกตั้งแต่เริ่มออกดอกโดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกและผลร่วง ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน หนอนผีเสื้อเจาะผลมะม่วง พบการทำลายเจาะผลมะม่วง ป้องกันกำจัดโดยเก็บผลที่หนอนเข้าทำลายเผา หรือฝังดิน หรือห่อผลมะม่วงด้วยถุงกระดาษ เมื่อผลอายุ 40-50 วัน แมลงวันผลไม้ พบการทำลายผลมะม่วงที่กำลังสุก ป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีการห่อผล
ประโยชน์ของมะม่วงมันเดือนเก้า
- ผลดิบมีรสชาติเปรี้ยว ผลแก่จัดมีรสชาติเปรี้ยวมันอมหวาน กรอบอร่อย รับประทานได้ทั้งดิบและกึ่งสุก
- ผลดิบ นำมาทำยำ ทำส้มตำ
- ผลแก่จัด นำมาบ่มสุกหวานกินกับข้าวเหนียวมูน ผลสุกสีเหลือง เนื้อสีเหลือง
- มะม่วงมันเดือนเก้า เป็นมะม่วงพันธุ์โบราณ
สรรพคุณทางยาของมะม่วงมันเดือนเก้า
- ใบนำมาต้มกับน้ำเปล่านำมาล้างแผลได้
- ใช้ใบที่ตำละเอียดมาพอกที่แผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ราคาขายตลาดสี่มุมเมือง ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2567
- มะม่วงมันเดือนเก้า (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 24 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.opsmoac.go.th, https://researchex.mju.ac.th/, www.simummuangmarket.com
ภาพประกอบ : www.simummuangmarket.com, FB ตลาดไอยรา, https://shopee.co.th/
มะม่วงมันเดือนเก้า ผลดิบมีรสเปรี้ยว เมื่อแก่จัดจะมีรสมันอมเปรี้ยว
มะม่วงมันเดือนเก้า หรือมะม่วงเดือนเก้า มะม่วงพันธุ์โบราณ