ละมุดสีดา รสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม

ละมุดสีดา

ชื่ออื่นๆ :  ละมุดฝรั่ง (ภาคกลาง) ชวานิลอ (ปัตตานี, มลายู, ยะลา), สวา

ต้นกำเนิด :

ชื่อสามัญ : Sapodilla

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manilkara kauki (L.) Dubard

ชื่อวงศ์ : SAPOTACEAE

ลักษณะของละมุดสีดา

ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร ไม่ผลัด ใบ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านเยอะเป็นพุ่มทรงกลมทึบ กิ่งอ่อนเกลี้ยง เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา

ใบ เป็นรูปหอกแคบ หรือรูปหอกแกมรูปไข่กลับ ออกเรียงสลับถี่ตามปลายกิ่ง ปลายใบสอบเรียว บางทีมน โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น สีเขียวสด เวลามีใบดกจะให้ร่มเงาดีมาก

ดอก  มีสีขาว ออกเป็นกระจุกใหญ่ๆ ตามปลายกิ่ง บางทีออกตามง่ามใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม

ผล  รูปกลมรี ลักษณะคล้ายผลพิกุล แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกหรือแก่จะเป็นสีแดงสดใส หรือสีแดงคล้ำ เวลาติดผลดกและผลสุกพร้อมๆกันทั้งต้น จะดูสวยงามแพรวพราวมาก เนื้อในเมื่อสุกเป็นสีเหลืองปนส้ม รับประทานได้ แต่ต้องรับประทานตอนที่ผลสุกงอมเป็นสีดำ รสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม เป็นกลิ่นละมุดแรงมาก จึงถูกตั้งชื่อว่า “ละมุดสีดา” หนึ่งผล มี 1-2 เมล็ด ติดผลได้ เรื่อยๆ  ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ผลเริ่มสุกในเดือนธันวาคม

ต้นละมุดสีดา
ต้นละมุดสีดา ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านเยอะเป็นพุ่มทรงกลมทึบ
ผลละมุดสีดา
ผลละมุดสีดา ผลกลมรี ผลสุกหรือแก่จะเป็นสีแดงสดใส หรือสีแดงคล้ำ

การขยายพันธุ์ของละมุดสีดา

การเพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง และเสียบยอด

หากปลูกด้วยเมล็ด หรือตอนกิ่ง จะใช้เวลาปลูกนาน 4-5 ปีขึ้นไป จึงจะติดผลชุดแรก แต่ปลูกด้วยต้นเสียบ ยอดใช้เวลาไม่นานสามารถติดผลให้เก็บรับประทานได้เลย ปลูกได้ในดินทั่วไป ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง

ธาตุอาหารหลักที่ละมุดสีดาต้องการ

ประโยชน์ของละมุดสีดา

  • ลำต้น เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งและทนทาน จึงนิยมนำมาทำเป็นเสาเรือน พื้นบ้าน ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ส่วนยางใช้ผลิตเป็นรองเท้าบูทได้
  • ผล ละมุดสีดาเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งยังมีเส้นใยสูงมาก
  • ละมุดสีดา พืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าที่คิด แน่นอนว่าไม่ใช่ละมุดทุกสายพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ละมุดสีดาเป็นพันธุ์ที่ให้ผลแตกต่างออกไป ทั้งลักษณะภายนอกของผลและรสชาติที่ได้ ละมุดสีดาที่เป็นผลอ่อนจะมีรสฝาดและเมื่อสุกก็จะหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่ได้หวานจัดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ส่วนประกอบอื่นของต้นละมุดสีดาจะมีคุณสมบัติที่ต่างไปด้วย มีงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากใบละมุดสีดาเอาไว้ว่า ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้มีปริมาณสูงมากเมื่อสกัดหยาบด้วยเมทานอล แม้แต่พืชอื่นๆ ในวงศ์เดียวกันกับละมุดสีดาก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน เช่น ม่อนไข่ ลูกน้ำนม เป็นต้น ด้วยปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ตรวจพบนี้ สามารถนำไปต่อยอดได้ค่อนข้างมาก เพียงแต่ยังมีงานวิจัยน้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะละมุดสีดาเป็นพันธุ์ไม้หายากนั่นเอง

สรรพคุณทางยาของละมุดสีดา

  • ผลสดจะมีเนื้อหวานกรอบ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
  • เปลือกนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด ยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง

คุณค่าทางโภชนาการของละมุดสีดา

ผลคุณค่าสารอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม ให้พลังงาน 71 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย

  • น้ำ                      77.3   กรัม
  • โปรตีน                 0.3   กรัม
  • ไขมัน                   0.8   กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 15.6   กรัม
  • กาก                       2.5   กรัม
  • ใยอาหาร             5.6   กรัม
  • เถ้า                        0.4   กรัม
  • แคลเซียม             15   มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส              6   มิลลิกรัม
  • เหล็ก                    0.6   มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน     22   มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ               4   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2        0.01    มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน            0.6   มิลลิกรัม
  • วิตามินซี             47   มิลลิกรัม

การแปรรูปของละมุดสีดา

ผลสามารถดัดแปลงเป็นแยมหรือไวน์ได้

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9426&SystemType=BEDO
www.skm.ssru.ac.th
www.forest.go.th
www.flickr.com

Add a Comment