ลักษณะประจำวงศ์
ลักษณะวงศ์เป็นไม้พุ่ม ไม้ต้นขนาดเล็ก หรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีขนปกคลุม มีหูใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ขอบเรียบ มีต่อม 2 ต่อมหรือมากกว่าบนก้านใบ ดอกออกเป็นช่อ ดอกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นคู่ ตามง่ามใบ ดอกสมมาตรตามรัศมี สมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ติดแน่น มีต่อม 2 ต่อมชัด กลีบดอกมี 5 กลีบ บางทีมีขนาดไม่เท่ากัน โคนมักเป็นก้านกลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน ก้านเกสรเพศผู้มักกว้างและโคนเชื่อมติดกัน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีหนึ่งออวุล ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน อาจจะพบ 1 อัน เนื่องจาก 2 อันฝ่อไป ผลแห้งแยก (schizocarp) แต่ละส่วนมีปีก
ลักษณะเด่นของวงศ์
วงศ์ของพืชชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม มีขน ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ขอบเรียบมีต่อมบนก้านใบ กลีบเลี้ยงและดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีต่อม เกสรเพศผู้มี 10 อัน ก้านเกสรเพศผู้มักกว้างและโคนเชื่อมติดกัน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีหนึ่งออวุล ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ผลมีปีก
วงศ์ใกล้เคียง-ลักษณะที่แตกต่าง
- Oxalidaceae ใบประกอบแบบขนนกหรือแบบ 3 ใบ กลีบเลี้ยงไม่มีต่อม รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องมี 1ถึงหลายออวุล ก้านเกสรเพศเมียมี 5 อัน
การกระจายพันธุ์
พบทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยมี 6 สกุล 22 ชนิด เช่น
- สกุล Hiptage ได้แก่ โนรา Hiptage benghalensis (L.) Kurz subsp. benghalensis โนรี Hiptage lucida Pierre
- สกุล Malpighia เป็นไม้ต่างถิ่น ได้แก่ ชาปัตตาเวีย Malpighia coccigera L. เชอรี่ Malpighia glabra L
- สกุล Tristellateia เป็นไม้เถา ปลูกประดับ ได้แก่ พวงทองเครือ Tristellateia australasiae A. Rich.
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.dnp.go.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com
วงศ์โนรา ในประเทศไทยมี 6 สกุล 22 ชนิด