วิธีการขยายพันธุ์มะม่วง การขยายพันธุ์มะม่วง ด้วยวิธีต่างๆ และข้อควรระวังในการปลูกมะม่วง

มะม่วง

มะม่วงเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ปลูกได้ในดินทั่วไป ยกเว้นดินเค็มและดินที่มีน้ำขัง ถ้าปลูกในดินร่วนซุยมีอินทรีย์วัตถุมาก และมีการระบายน้ำดีก็จะยิ่งให้ผลผลิตดี นอกจากนี้มะม่วงยังมีความต้านทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี จะเริ่มให้ผลหลังจากการปลูกด้วยกิ่งทาบประมาณ 3 ปี สามารถให้ผลผลิตมากกว่า 15 ปี และผลผลิตจะสูงขึ้นเฉลี่ยปีที่ 8 ประมาณ 50-100 กก./ต้น โดยเฉลี่ยอายุจากดอกบาน เก็บผลแก่อยู่ระหว่าง 90-115 วัน น้ำหนักผลมะม่วงเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 260 กรัม ฤดูกาล ผลผลิตอยู่ระหว่างปลายเดือนมีนาคม-มิถุนายน

ประเภทของมะม่วง

มะม่วงสามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก มะม่วงดิบเปลือกสีเขียว เนื้อสีขาวส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยว ยกเว้นบางพันธุ์ที่เรียกว่ามะม่วงมัน ส่วนผลสุกจะมีสีเหลืองทั้งเปลือกและเนื้อ รับประทานผลสด หรือนำไปทำเป็นอาหาร เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง อีกทั้งมีการนำไปแปรรูป เช่น มะม่วงอบแห้ง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงเค็ม แยมมะม่วง และพายมะม่วง เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งมะม่วงตามความนิยมในการับประทานได้ 3 ประเภท คือ

  1. ประเภททานผลดิบ
    มีรสเปรี้ยว ได้แก่ มะม่วงเขียวเสวย แรด พิมเสนมัน ทองดำ เขียวไก่กา
    มีรสมัน ได้แก่ ฟ้าลั่น หนองแซง
  2. ประเภททานผลสุก
    ได้แก่ พันธุ์อกร่อง นวลจันทร์ น้ำดอกไม้ เป็นต้น
  3. ประเภทใช้แปรรูป
    ได้แก่ พันธุ์มหาชนก แก้ว สามฤดู และพิมเสน เป็นต้น

การขยายพันธุ์มะม่วง

การขยายพันธุ์มะม่วงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การติดตาและการทาบกิ่ง เป็นต้น แต่วิธีที่ นิยมทำกันมากในปัจจุบันคือ การทาบกิ่ง

วันนี้เกษตรตำบลมีวิธีการขยายพันธุ์มะม่วง ด้วย 3 วิธีมาฝากกันค่ะ ขั้นตอนจะมีอะไรกันบ้างนั้น มาดูกันได้เลยค่ะ

ผลมะม่วง
มะม่วงสามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก

1. การเพาะเมล็ด

โดยทั่วไป การเพาะเมล็ดมีจุดประสงค์สองประการคือ เพื่อใช้ปลูกโดยตรงและเพื่อใช้เป็นต้นตอสำหรับการขยายพันธุ์แบบต่าง ๆ เช่น ก ารติดตา การทาบกิ่ง เป็นต้น การเพาะเมล็ดเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ข้อดีของการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดคือ ทำได้ง่าย ได้จ ำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ต้นมะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ดต้นจะใหญ่โตมีอายุยืนนาน เพราะมีระบบรากที่แข็งแรงส่วนข้อเสียคือออกดอกออกผลช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยการติดตา การตอนหรือการทาบกิ่ง และต้นมะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ดนั้น อาจกลายพันธุ์ ไม่ตรงตามพันธุ์เดิมก็ได้ซึ่งอาจดีกว่าหรือเลวกว่าพันธุ์เดิม กลายเป็นพันธุ์ใหม่ไป

  1. การเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดจำนวนไม่มากนัก อาจจะเพาะในกระบะเพาะหรือในภาชนะต่าง ๆ เช่น หม้อดิน กระถาง กระบอกไม้ไผ่และถุง พลาสติก เป็นต้น ส่วนการเพาะเมล็ดจำนวนมาก ๆ ควรเพาะในแปลงเพาะชำเสียก่อน แล้วจึงขุดไปปลูกหรือนำไปทาบกิ่งต่อไป
  2. การเก็บเมล็ดที่จะนำมาเพาะ ควรคัดเลือกเก็บจากต้นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงไม่แคระแกร็น ผลที่จะเก็บมาต้องแก่จัดหรือสุกปากตะกร้อ ผลควรมีขนาดและน้ำหนักเท่า ๆ กัน สำหรับเมล็ดที่จะนำมาเพาะเพื่อใช้เป็นต้นตอควรเป็นเมล็ดของมะม่วงพันธุ์ที่แข็งแรง ทนทาน เช่น มะม่วงกะล่อนแก้ว พิมเสนแดง อกร่อง เป็นต้น เพราะมะม่วงพวกนี้จะแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี
  3. การเตรียมเมล็ด เมล็ดที่เอาเนื้อออกแล้ว ให้รีบเพาะภายใน 1 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บไว้นานเกกินกว่า 1 เดือน จะเพาะไม่งอก หรือถ้างอกต้นก็จะไม่ค่อยแข็งแรง การทิ้งเมล็ดให้โดนแดดโดนลมจะทำให้ ความงอกเสียไป เมื่อได้เมล็ดมาแล้วควรคัดเมล็ดโดยก ารนำเมล็ดไปแช่น้ำ เมล็ดที่จมน้ำจะเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ นำไปเพาะได้ดี ส่วนเมล็ดลอยน้ำให้คัดทิ้งไป เมล็ดที่ดีจะนำไปเพาะเลยก็ได้ แต่อาจจะงอกช้า วิธีที่จะช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็ว คือ ใช้มีดสับที่ปลายเมล็ดตอนที่บาง ๆ ออกทิ้งไปเพื่อให้ เมล็ดโปร่ง อากาศและน้ำเข้าไปในเมล็ดได้ง่าย จะทำให้งอกเร็วขึ้น และถ้ามีแรงงานพอให้แกะเอาเปลือกแข็งที่หุ้มเมล็ดออกทั้งหมด เอาแต่เนื้อข้างในไปเพาะก็จะทำให้งอกได้ดียิ่งขึ้นอีก
  4. วิธีเพาะเมล็ด สำหรับการเพาะในภาชนะต่าง ๆ ให้ฝังเมล็ดลงไป 1-2 เมล็ด แล้วแต่ขนาดของภาชนะ ส่วนการเพาะในกระบะหรือในแปลงเพาะให้เพาะเป็นแถว ๆ ห่างกัน 6-8 นิ้ว และแต่ละเมล็ดห่างกัน 6 นิ้ว การฝังเมล็ดควรให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โดยให้ด้านท้องของเมล็ดอยู่ด้านล่าง จะทำให้เมล็ดงอกดีและต้นที่ได้ตั้งตรง เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวันถ้าฝนไม่ตก ประมาณ 20 วันหลังจากเพาะเมล็ดก็จะงอก

การขุดต้นกล้าใส่กระถางหรือถุงพลาสติกเพื่อนำไปทาบกิ่งให้เอาเฉพาะต้นที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปหลังจากงอก หรือใบมะม่วงเริ่มเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียวแก่แล้ว ส่วนการขุดต้นเพื่อนำไปปลูกในสวนนั้นควรรอให้ต้นโตได้ขนาดเสียก่อนจึงขุด หรืออาจขุดมาปลูกชำไว้ในกระถางเสียก่อนเพื่อความสะดวกในการขนย้ายหรือรอเวลาปลูก

การเพาะเมล็ดมะม่วง
ต้นอ่อนมะม่วงที่โตจากการเพาะเมล็ด

2. การทาบกิ่ง

เป็นวิธีที่นิยมกันมาก ต้นที่ได้จากการทาบกิ่งจะตรงตามพันธุ์เดิมและยังมีรากแก้วที่แข็งแรงเช่นเดียวกับการปลูกด้วยเมล็ด ต้นที่ได้ก็ตกผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด การทาบกิ่งนั้นทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. การเตรียมต้นตอ ต้นตอที่จะนำมาทาบกิ่งก็คือ ต้นกล้ามะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ดดังที่กล่าวถึงแล้ว อายุของต้นกล้าที่จะใช้เป็นต้นตอควรมีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป หรือลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ครึ่งเซนติเมตร (สำหรับต้นกล้าที่งาม ๆ อายุเพียง 3 สัปดาห์ก็จะโตพอที่จะใช้เป็นต้นตอได้) และใบชุดแรกเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่แล้ว เมื่อต้องการจะทาบกิ่งก็ขุดแยก ต้นตอออกจากกระบะเพาะนำไปชำในถุงพลาสติกที่มีขนาดปากถุงกว้าง 4-5 นิ้ว ใส่ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำเตรียมไว้ลงไปให้เต็ม ถุง ผูกปากถุงอย่าให้แน่นมาก ก็พร้อมที่จะนำไปทาบกิ่งได้
  2. การเลือกกิ่งพันธุ์ กิ่งของต้นพันธุ์ดีที่ต้องการจะทาบนั้น ให้เลือกกิ่งที่มีขนาดไล่เลี่ยกับขนาดของต้นตอ จะใหญ่กว่าสักเล็กน้อยก็ได้ แต่อย่าให้ใหญ่กว่ามากนัก (ถ้าใหญ่กว่ามากให้ใช้ต้นตอหลายต้น) กิ่งพันธุ์ควรเป็นกิ่งที่กำลังเจริญเติบโตไม่แคระแกรน กิ่ งมีลักษณะกลมไม่เป็นเหลี่ยม กิ่งพันธุ์ต้องไม่แก่กว่าต้นตอมากนักและไม่มีโรคแมลงรบกวน ถ้าได้กิ่งที่ตั้งตรงจะดีมาก เพราะสะ ดวกในการทำงาน ส่วนกิ่งที่เอนก็ใช้ได้ แต่กิ่งที่ห้อยย้อยลงล่างไม่ควรใช้ทาบกิ่ง ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้ผูกกิ่งให้ตั้งตรงเสียก่อน
  3. ฤดูกาล ฤดูที่เหมาะที่สุดคือ ฤดูฝนเพราะต้นไม้กำลังเจริญเติบโต จะทำให้กิ่งติดกันได้ดีและเร็วกว่า แต่ถ้าทั้งต้นตอและยอดพันธุ์มีความสมบูรณ์จะทาบกิ่งตอนไหนก็ได้
  4. วิธีทาบกิ่ง เมื่อเตรียมกิ่งพันธุ์และต้นตอเรียบร้อยแล้ว ใช้มีดคม ๆ เฉือนที่กิ่งพันธุ์ ลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย รอยเฉือนยาวประมาณ 2 นิ้ว แล้วเฉือนบนต้นตอให้ห่างจากปากถุงพลาสติกราว 2-3 นิ้ว เป็นปากฉลามยาวพอ ๆ กับรอยเฉือนบนกิ่งพันธุ์ ยอดของต้นตอจะถูกตัดขาออกไป เอารอยเฉือนของต้นตอประกบทาบเข้าที่รอยเฉือนของกิ่งพันธุ์ให้เปลือกของทั้งสองสัมผัสกันให้มากที่สุด แล้วพันด้วยแ ถบพลาสติกให้แน่น เสร็จแล้วใช้เชือกผูกถุงที่หุ้มโคนต้นตอให้ติดกับกิ่งพันธุ์ เพื่อไม่ให้ต้นตอแกว่ง เมื่อทาบกิ่งครบ 30 วัน ให้ควั่นกิ่งพันธุ์ดีลึกประมาณครึ่งกิ่งในระหว่างนี้ให้คอยดูความชื้นในถุงด้วย ถ้าเห็นว่าขุยมะพร้าวในถุงแห้งเกินไปให้รดน้ำให้เมื่อครบ 45 วัน รอยทาบของกิ่งจะประสานกันสนิท ก็ตัดกิ่งพันธุ์ออกมาชำได้
  5. การชำต้นทาบกิ่ง เมื่อตัดต้นทาบกิ่งออกมาแล้ว ใหห้แกะเอาถุงพลาสติกที่หุ้มโคนอยู่ออก เอาไปชำในน้ำสักพักหนึ่งก่อนแล้วจึงนำไปชำในดิน ต้นที่เห็นว่าขุยมะพร้าวแห้งมาก อาจชำไว้ในน้ำก่อนสัก 1-3 วัน จึงนำไปชำในดิน การชำน้ำทำได้ดังนี้คือ นำต้นทาบกิ่งวางในกระป๋อง หรือกาละมัง เติมน้ำลงไปสูงประมาณ 1 ใน 3 ของกระเปาะที่หุ้มรากอยู่ อย่าใส่น้ำจนท่วมกระเปาะ

เมื่อชำน้ำเสร็จแล้วจึงนำไปชำในดิน ภาชนะที่สามารถใช้ชำได้แก่กระถางหรือถุงพลาสติก เป็นต้น โดยแกะขุยมะพร้าวออกบ้าง แล้วใส่ดินลงไป กดดินรอบ ๆ โคนต้นให้แน่นพอประมาณแล้วปล่อยให้ต้นทาบกิ่งนี้เจริญต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน ต้นก็จะตั้งตัวแข็งแรง นำไปปลูกหรือจำหน่ายได้

การทาบกิ่ง
การทาบกิ่งพันธุ์มะม่วง

3. การเสียบยอด

การเสียบยอด คือ วิธีการขยายพันธุ์มะม่วงวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อย เพราะเป็นวิธีการที่นำมาใช้เพื่อปรับปรุงต้นมะม่วงพันธุ์เดิมให้กลายเป็นต้นมะม่วงพันธุ์ดีด้วยระยะเวลาและต้นทุนที่น้อยกว่าการเริ่มเพาะพันธุ์ต้นใหม่ ด้วยการนำยอดของพันธุ์ที่ดีมาขนายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศบนต้นตอมะม่วงเดิมด้วยการเสียบยอดและรอให้เนื้อเยื่อของทั้งยอดและต้นตอสมานกันดี และบำรุงต้นตออย่างดีและเหมาะสมใช้เวลาราว 1 ปี ก็จะได้ผลผลิตมะม่วงพันธุ์ดีให้เก็บเกี่ยวได้

การเสียบยอดมะม่วงมักทำกัน 2 แบบ คือ

  1. แบบเสียบข้าง
  2. แบบเสียบเปลือก

ขั้นตอนการเสียบยอดมะม่วง

การเสียบยอดหรือการต่อกิ่งมะม่วงแบบเสียบข้างนั้นให้คัดเลือกต้นตอที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร เฉือนต้นตอในบริเวณที่สูงจากพื้นราว 5 นิ้ว เมื่อเฉือนให้เฉือนเฉียงทำมุมราว 20-30 องศา มีความยาวของรอยเฉือน ราว 3 นิ้ว สำหรับการเตรียมกิ่งตาหรือคัดยอดพันธุ์ดีนั้น ให้คัดยอดที่ยาวราว 3 นิ้ว มีตายอดและมีใบสีเขียวแก่ แล้วจึงทำการรูดใบออก แล้วใช้ใบมีดคมกริบเฉือนโคนกิ่งตาให้เป็นรูปปากฉลามที่มีความยาวของแผลที่เฉือน 2 นิ้ว แล้วนำกิ่งตาไปเสียบลงบนต้นตอที่ได้เฉือนรอไว้แล้ว โดยให้แผลด้านหน้าของกิ่งตาทับซ้อนบริเวณเยื่อเจริญของต้นตอ พันพลาสติกหุ้มรอยแผลให้สนิทโดยให้พันจากด้านล่างขึ้นด้านบน ใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน กิ่งพันธุ์ดีจะเริ่มผลิยอดแล้วจึงใช้คัตเตอร์กรีดพลาสติกที่ห่อหุ้มไว้ออก เมื่อยอดของกิ่งตาแตกใบเป็นสีเขียวเข้มแล้วให้ตัดยอดต้นตอออก

การเสียบยอดมะม่วงแบบเสียบเปลือก ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมทำกันในกลุ่มพืชที่มีเนื้อไม้ที่แข็งและเปลือกอ่อน แต่ต้องทำในช่วงที่ต้นตอสมบูรณ์เต็มที่ มักจะใช้กับการเสียบยอดในแปลงปลูกที่ต้นตอมีลำต้นที่ใหญ่ โดยให้จุดเสียบยอดสูงประมาณ 4-6 นิ้ว นำใบมีดกรีดบริเวณดังกล่าวมีความยาว 3 นิ้ว กรีด 2 รอยเป็นคู่ขนาน แต่ละรอยห่างกัน 0.5 นิ้ว แล้วจึงกรีดเปลือกต้นตอแนวนอนด้านบนของรอยกรีดเพื่อเปิดแผ่นเปลือกไม้ออก แล้วเฉือนเปลือกประมาณ 2 นิ้ว โดยเหลือแผ่นเปลือกด้านล่างไว้ 1 นิ้ว สำหรับการเตรียมกิ่งตานั้นสามารถทำได้เหมือนวิธีที่หนึ่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วนำมาเสียบบนต้นตอให้ตรงกับเนื้อเยื่อเจริญ พันด้วยพลาสติกจากล่างขึ้นบนให้ปิดกิ่งตาให้สนิท และรอเวลาเช่นเดียวกับวิธีการข้างต้น

เมื่อเสียบยอดสำเร็จ ให้ทำการบำรุงและดูแลต่อต้นมะม่วงด้วยการให้น้ำพอชุ่ม สม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยคอกอย่างเหมาะสม รวมถึงเรื่องโรคและแมลงให้ดีด้วย

การเสียบยอดมะม่วง
ต้นมะม่วงที่ทำการเสียบยอดแล้ว

ข้อควรระวังในการปลูกมะม่วง

การปลูกมะม่วงไม่ว่าจะปลูกด้วยกิ่งตอน กิ่งทาบ หรือต้นที่เพาะเมล็ดก็ตาม ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้รากขาดมาก เพราะจะทำให้ต้นชะงักการเติบโตหรือตายได้ ต้นมะม่วงที่ปลูกไว้ในภาชนะนานๆ ดินจะจับตัวกันแข็ง และรากก็พันกันไปมา เวลานำออกจากภาชนะแล้วให้บิแยกดินก้นภาชนะให้กระจายออกจากกันบ้าง ส่วนรากที่ม้วนไปมาให้พยายามคลี่ออกเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เจริญเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.dara.ac.th, http://blog.arda.or.th/, https://arit.kpru.ac.th/
ภาพประกอบ : www.flickr.com, www.youtube.com

2 Comments

Add a Comment