วิธีการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนต้นกุหลาบพันปีให้ได้มากยิ่งขึ้น

ต้นกุหลาบพันปี

กุหลาบพันปี เป็นพืชในสกุล Rhododendron มาจากคำว่า Rhodo หมายถึง กุหลาบ ส่วนคำว่า Dendron หมายถึง ต้นไม้จัดอยู่ในวงศ์ ERICACEAE ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 900 ชนิด กระจายพันธุ์กว้างขวางทั้งในเขตอบอุ่น เขตกึ่งร้อน และเขตร้อน มีทั้งที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้พุ่มอิงอาศัย ส่วนใหญ่มักขึ้นและเจริญเติบโตบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นในอากาศสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่เป็นกรด สำหรับกุหลาบพันปีชนิดที่พบในเขตร้อนจะมีถิ่นอาศัยอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่มีดอกสวยงามสะดุดตาบางชนิดมีกลิ่นหอม จึงได้รับความนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในแง่พืชสวนอย่างแพร่หลาย

สำหรับประเทศไทยมีรายงานการสำรวจพบ 11ชนิด ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาการสูญเสียสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อันมีผลเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การเผา และบุกรุกพื้นที่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชในสกุลนี้ อีกทั้งปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีผลทำให้จำนวนที่พบในธรรมชาติลดน้อยลง

กุหลาบพันปี
กุหลาบพันปี ดอกสีแดง

การขยายพันธุ์กุหลาบพันปี

การเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนกุหลาบพันปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งด้านการอนุรักษ์ และการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านพืชสวน ได้แก่ นำมาใช้เป็นไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง โดยการขยายพันธุ์กุหลาบพันปีทำได้โดย 2 วิธีการใหญ่ๆ คือ การขยายพันธุ์โดยอาศัย และไม่อาศัยเพศ

  1. การขยายพันธุ์โดยการอาศัยเพศ
    การขยายพันธุ์โดยการอาศัยเพศ ได้แก่การเพาะเมล็ด ซึ่งใช้ในกรณีเพาะขยายพันธุ์ชนิดที่เป็นพันธุ์แท้ หรือเมล็ดที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการผสมข้ามชนิดโดยสามารถทำได้ทั้งในสภาพโรงเรือน และในสภาพปลอดเชื้อ
  • การเพาะเมล็ดในสภาพโรงเรือนทำได้โดยนำเมล็ดมาเพาะลงบนวัสดุเพาะที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีค่า pH ที่เป็นกรดเล็กน้อย เช่น  Peat : Sphagnum : ทรายหยาบ อัตรา 1: 1 : 1 หรือPeat : Perliteอัตรา 2 : 1เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบอ่อน 3-4  ใบ จึงทำการย้ายปลูกลงในกระถางขนาด 2 นิ้ว ต่อไป

    การเพาะเมล็ดกุหลาบพันปี
    ต้นกล้ากุหลาบพันปีอายุ 45 วัน หลังจากการเพาะเมล็ด
  • การเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อเป็นการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ดชนิดที่งอกได้ยาก หรือมีเมล็ดจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการปรับปรุงพันธุ์ผสมข้ามชนิด การพัฒนาของเมล็ดมักไม่สมบูรณ์และบางชนิดไม่สามารถงอกเป็นต้นได้ในสภาพธรรมชาติ การเพาะเมล็ดวิธีการนี้ทำได้โดยการนำฝักของกุหลาบพันปีมาฟอกฆ่าเชื้อโดยใช้ Sodium Hypochloride ความเข้มข้น 1-2%เป็นเวลา 15-20 นาที แล้วล้างด้วยน้ำนึ่งฆ่าเชื้อ3 ครั้งจากนั้นผ่าเอาเมล็ดออกมาเพาะลงในอาหารสูตร AM (Anderson, 1984) หลังจากการเพาะภายใน 1 เดือนจะเริ่มสังเกตเห็นการงอกขึ้นมาของใบเลี้ยง จากนั้นเมื่อพัฒนาเป็นต้นเริ่มมีใบอ่อน 3-4 ใบ จึงย้ายลงในอาหารเพาะเลี้ยงขวดใหม่

2. การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ

  • การปักชำ เป็นการขยายพันธุ์ที่ทำให้ได้ลักษณะเหมือนต้นแม่ไม่เปลี่ยนแปลงทำได้ง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำ ทำได้โดยนำกิ่งกุหลาบพันปียาว 1-6 นิ้ว มาตัดใบออกให้เหลือติดส่วนยอด 4-6  ใบอาจตัดใบให้มีความยาวเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากนั้นใช้มีดที่คมเฉือนด้านข้างของโคนก้านออกโดยให้มีความยาวของแผล 0.5-1 นิ้ว จากนั้นจุ่มก้านลงในสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชกลุ่มออกซิน เช่น IBA จากนั้นช าลงในวัสดุชำที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้ เช่น Peat : Sphagnum : ทรายหยาบ อัตรา 1: 1 : 1 หรือ Peat : Perliteอัตรา 2 : 1หรือ แกลบดำ : ทรายหยาบ อัตรา 2:1 หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ ถึง 12 เดือน จะพัฒนารากและเจริญเป็นต้นใหม่

    การปักชำกุหลาบพันปี
    การปักชำกุหลาบพันปี โดยนำกิ่งกุหลาบพันปียาว 1-6 นิ้ว
  • การเสียบกิ่ง เป็นการขยายพันธุ์ในกรณีที่ชนิดของกุหลาบพันปีที่ต้องการขยายพันธุ์เกิดรากได้ยากโดยวิธีการปักชำ ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
    1.) การเสียบกิ่งโดยเตรียมต้นตอที่มีรากสมบูรณ์แล้ว ทำได้โดยตัดโคนก้านของกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้เป็นรูปตัว v เสียบบนต้นตอที่ทำการบากไว้แล้ว โดยต้นตอกับกิ่งพันธุ์ที่ต้องการควรมีขนาดใกล้เคียงกัน ถ้าหากมีขนาดแตกต่างกันให้ชิดด้านใดด้านหนึ่งให้ตรงกัน จากนั้นใช้พลาสติกพันให้แน่นเมื่อเนื้อเยื่อเชื่อมติดกันดีแล้วจึงตัดพลาสติกออก

    2.) การเสียบกิ่งกับต้นตอที่ยังไม่ได้ผ่านการปักชำให้เกิดราก วิธีนี้เป็นการลดขั้นตอนในการปักชำให้ได้ต้นตอก่อนทำการเสียบกิ่งทำได้โดยนำกิ่งพันธุ์ที่ต้องการมาเสียบกับกิ่งต้นตอมัดด้วยพลาสติกให้แน่น จากนั้นนำไปชำในวัสดุปักชำต้นตอจะพัฒนารากไปพร้อมกับการเชื่อมติดกันของเนื้อเยื่อ จากนั้นก็จะได้ต้นใหม่เป็นชนิดพันธุ์ชนิดที่ต้องการ

  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากกุหลาบพันปีบางชนิดขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปกติได้ยากหรือช้า อีกทั้งบางชนิดมีอัตราการงอกต่ำ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นวิธีการที่ขยายพันธุ์ที่ได้ลักษณะต้นตรงตามชนิดเดิมในปริมาณที่มากในเวลาที่เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์และเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ในระยะยาวอีกด้วย

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบพันปีทำได้โดยนำชิ้นส่วน กลีบดอกอ่อนใบอ่อน ตาดอก ตาข้าง หรือส่วนข้อ นำมาฟอกฆ่าเชื้อใน Sodium Hypochloride ความเข้มข้น1-2% เป็นเวลา 15-20นาที จากนั้นล้างด้วยน้ านึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง จากนั้นนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อชักนำให้เกิดแคลลัสในอาหารเพาะเลี้ยงสูตร AM (Anderson, 1984) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในกลุ่มออกซิน ได้แก่ IAA BAP Kinetin ที่ความเข้มข้น 0.1-1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร จากนั้นนำแคลลัสที่ได้มาเพาะเลี้ยงเพื่อชักนำให้เกิดเป็นยอด ในอาหารสูตร AM ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในกลุ่มออกซิน จากนั้นนำยอดที่ได้มาเพาะเลี้ยงบนอาหารที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน เช่น NAA IBA ที่ความเข้มข้น 0.2-2 มิลลิกรัมต่อลิตรเพื่อให้เกิดราก และพัฒนาเป็นต้นที่สมบูรณ์

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.qsbg.org

Add a Comment