สนุ่น นิยมปลูกริมน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งพัง-ดอกอ่อนนำมารับประทานได้

สนุ่น

ชื่ออื่นๆ : ตะไคร้บก, สนุ่นบก, ไค้นุ่น (เหนือ) ไก๋นุ่น (อีสาน) สนุ่นน้ำ (นครราชสีมา) ไคร้ใหญ่ (ยะลา) คล้าย (ปัตตานี) ตะหนุ่น

ต้นกำเนิด : พบทั่วไปตามที่ลุ่มชื้น ริมธารน้ำ แม่น้ำลำคลอง ภูเขาที่โล่ง ป่าชายน้ำ ทั้งป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ พบที่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,900 เมตร

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salix tetrasperma Roxb.

ชื่อวงศ์ : Salicaceae

ลักษณะของสนุ่น

ต้น  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง เนื้ออ่อน ผลัดใบระยะสั้นก่อนออกดอก สูง 6-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อย แต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาวๆ เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาว ยอดอ่อนมีขนสีเงินหนาแน่น

ใบ  ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหอกเรียว ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบใบมีซี่เล็กๆ ขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ใบแก่หนาเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีขาวนวล  เส้นใบข้าง 12-24 คู่  ก้านใบเรียวเล็ก สีออกแดง ยาว 1-3 เซนติเมตร  หูใบยาวถึง 4 มิลลิเมตร อาจเห็นไม่ชัดเจนหรือไมมี

สนุ่น
สนุ่น ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านชูตั้งขึ้น

ดอก ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ สีขาวหรือเหลืองอ่อน ช่อดอกห้อยลงแบบช่อหางกระรอก ทรงกระบอก ออกที่ปลายของกิ่งข้างสั้นๆ หรือที่ซอกใบ ปลายช่อมีใบอ่อน ช่อยาว 5-15 เซนติเมตร ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกย่อยมีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกรูปไข่ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเกสร 4-10 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียมีต่อมน้ำหวาน 1 ต่อมที่ฐาน ก้านเกสรสั้น ปลายแยกเป็น 2 พู  รังไข่มีขนหนาแน่น มีก้านชูชัดเจน  ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ติดผลราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์

ผล ผลแห้งแตกได้ ขนาด 0.4 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อนหรือออกเทา แตกได้เป็น 2 พู

เมล็ด เมล็ดเล็กๆ 4-6 เมล็ด ปลายด้านหนึ่งมีแผงขนสีขาวเป็นปุย

ใบสนุ่น
ใบสนุ่น ใบเดี่ยว รูปหอกเรียว ปลายแหลม

การขยายพันธุ์ของสนุ่น

ใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่สนุ่นต้องการ

ประโยชน์ของสนุ่น

  • นิยมปลูกริมน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งพัง
  • ดอกอ่อนนำมารับประทานได้
  • เปลือกต้นใช้ย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแดง

สรรพคุณทางยาของสนุ่น

ตำรายาไทย

  • ใบ รสจืดเย็นเมา น้ำคั้นจากใบตำพอก ทา หรือพ่น แก้เริม งูสวัด แก้แผลเปื่อย บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง ขับชีพจร แก้ตัวร้อน แก้หวัดคัดจมูก ดับพิษร้อน แก้ตับพิการ แก้ริดสีดวงจมูก
    เปลือกต้น รสเย็นเมา แก้ไข้ แก้ตัวร้อน บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง แก้ริดสีดวงจมูก ต้มอาบและรดศีรษะแก้เด็กตัวร้อน แก้หวัดคัดจมูก  เปลือกต้น พบสารไกลโคไซด์ salicin มีฤทธิ์ลดไข้
  • ราก รสขมเย็น ต้มดื่ม ทำให้รู้รสอาหาร ช่วยเจริญอาหาร ดับพิษร้อน แก้ตับพิการ
ดอกสนุ่น
ดอกสนุ่น ออกเป็นช่อสีเหลือง ช่อดอกห้อยลงแบบช่อหางกระรอก

คุณค่าทางโภชนาการของสนุ่น

การแปรรูปของสนุ่น

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9899&SystemType=BEDO
www.flickr.com

Add a Comment