สมอไทย ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สรรพคุณแก้ท้องผูก เป็นยาขับปัสสะวะ บำรุงหัวใจ

สมอไทย

ชื่ออื่นๆ : มะนะ, สมอไทย, ม่าแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)  สมอไทย, สมออัพยา (ภาคกลาง)  หมากแน่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ต้นกำเนิด :

ชื่อสามัญ : สมออัพยา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz.

ชื่อวงศ์ : Combretaceae

ลักษณะของสมอไทย

ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลา ตรง ไม่มีพูพอนหรืออาจมีบ้างเล็กน้อยในช่วงที่ใกล้ ๆ ผิวดิน เปลือกหนา สีน้ำตาลแก่ค่อนข้างดำแตกปริเป็นร่องลึกไปตามยาว ลำต้นขรุขระ เปลือกในสีน้ำตาลแดง เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่ค่อนข้างโปร่ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป

ต้นสมอไทย
ต้นสมอไทย ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ผิวขรุขระ

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ทรงใบมีทั้งรูปรี ๆ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 10-13 ซม. ยาว 18-28 ซม. โคนใบมนและมักเบี้ยวเล็กน้อย บริเวณขอบใบใกล้ ๆ กับโคนใบจะมีตุ่มหูดหนึ่งคู่ ปลายเป็นติ่งแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบสีเขียวเข้ม มีขนสีขาวคลุม ทางด้านท้องใบสีจางคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่ม พอใบแก่จัดขนทางด้านท้องใบจะหลุดร่วงไปหมดหรือเกือบหมด เส้นแขนงใบค่อนข้างถี่ มี 12-18 คู่ และมักมีเส้นแทรกเส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหเห็นชัดมากทางด้านท้องใบ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 2-2.5 ซม.

ดอก มีขนาดเล็ก สีขาวหรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกรวมกันเป็นช่อยาว ๆ ที่ไม่แยกแขนงเป็นกระจุก ๆ ละ 4-7 ช่อ บริเวณเหนือรอยแผลใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ปลายช่อจะห้อยย้อยลง กลีบฐานดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนแน่นทางด้านใน เมื่อบานเต็มที่กว้าง 3-4 มม. ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้มี 10 อัน เรียงตัวเป็นสองแถวล้อมรอบรังไข่ รังไข่รูปไข่เกลี้ยง ๆ ภายในมีช่องเดียว และมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ระยะการออกดอกเป็นผล เริ่มออกดอกภายหลังจากใบใหม่ผลิออกมาแล้ว ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน

ใบและดอกสมอไทย
ใบและดอกสมอไทย ใบเดี่ยวรูปรี เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบสีเขียวเข้ม มีขนสีขาวคลุม

ผล รูปป้อม ๆ หรือรูปกระสวย มีเนื้อเยื่อหนาหุ้มเมล็ดซึ่งมีเมล็ดเดียวแข็ง ๆ ผลโต 2-3 ซม. และยาว 3-4 ซม. มีพูหรือเหลี่ยมตามยาวตัวผล 5 พู ผลแก่สีเขียวอมเหลือง แต่พอแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลจะแก่จัดในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม

ลักษณะเนื้อไม้ กระพี้สีเขียวอ่อนถึงเหลืองอ่อน หรือน้ำตาลแกมเทาแก่นสีม่วงแก่แตกต่างจากกระพี้เห็นได้ชัดเจน เสี้ยนสน แข็ง เลื่อย ไสกบ ตบแต่งยาก ทนทาน ใช้กรำแดด กรำฝนได้ มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.22 เนื้อไม้มีความแข็ง ประมาณ 1,133 กก. ความแข็งแรงประมาณ 1,155 กก./ตร.ซม. การผึ่งและอบ อบให้แห้งได้ยากปานกลางใช้ตารางอบไม้ที่ 4 ความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ 2-6 ปี เฉลี่ยประมาณ 3 ปี

ผลสมอไทย
ผลสมอไทย ผลป้อมรูปกระสวย ผลแก่สีเขียวอมเหลือง

การขยายพันธุ์ของสมอไทย

การใช้เมล็ด

ช่วงเวลาที่เก็บเมล็ดประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยการเก็บผลที่ร่วงหล่นโคนต้น ซึ่งผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลืองเมื่อแก่แล้วไม่แตก ต้องแกะเนื้อนอกออกโดยใช้แปรงถูขูดออก คุณภาพของเมล็ด จะมีอัตราการงอก 70-80% เมล็ดเก็บไว้นาน เปอร์เซ็นต์การงอกจะลดลง อย่างไรก็ตามภายหลังเมล็ดแห้งแล้ว สามารถเก็บรักษาเมล็ดไว้ได้นานถึง 2 ปี

ธาตุอาหารหลักที่สมอไทยต้องการ

ประโยชน์ของสมอไทย

  • เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ทำเสา รอด ตง เครื่องเรือน เครื่องเกวียน กรรเชียง คานเกวียน ครก สาก กระเดื่อง
  • ผลสดใช้รับประทานกึ่งผักกึ่งผลไม้ ผลสุกหมักเป็นหนำเลี๊ยบได้
  • เปลือกและผล ให้น้ำฝาดสำหรับย้อมผ้าและเครื่องมือประมง

สรรพคุณทางยาของสมอไทย

  • ทั้งต้น แก้ท้องผูก เป็นยาสมาน ยาขับเสมหะ แก้อาการเสียวคอและหน้าอก
  • เปลือก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาบำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลืองเสีย
  • ดอก  ใช้รักษาโรคบิด
  • ผล ผลอ่อนใช้เป็นยาระบาย ผลแก่มีรสฝาด เนื่องจากมีสารพวกเทนนิน (tannin) ใช้เป็นยาสมาน แก้ลม จุกเสียด ยาเจริญอาหาร ยาบำรุงเป็นยาชง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย ใช้ภายนอกบดเป็นผงละเอียดโรยแผลเรื้อรัง ใช้รักษาโรคฟันและเหงือกเป็นแผล
  • เนื้อหุ้มเมล็ด  ใช้รักษาเกี่ยวกับน้ำดี ท้องร่วงเรื้อรัง บิด ท้องผูก ท้องขึ้น อืดเฟ้อ โรคหืด กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน อาเจียน อาการสะอึก พยาธิในลำไส้ โรคท้องมาน ตับและม้ามโต

คุณค่าทางโภชนาการของสมอไทย

การแปรรูปของสมอไทย

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9581&SystemType=BEDO
http://phayamengraischool.ac.th
https://www.flickr.com

6 Comments

Add a Comment