กระชายดำ
กระชายดำ เป็นไม้ล้มลุกไม่มีลำต้นบนดิน มีเหง้าใต้ดินซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลาลพองกว้างกว่าส่วนหัวและท้าย ใบ เดี่ยว เรียงสลับเป็นระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4.5-10 เซนติเมตร ยาว 13-15 เซนติเมตร ตรงกลางด้านในของก้านใบมีร่องลึก ดอก ช่อ ออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ใบประดับรูปใบหอกสีม่วงแดง ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก
กระชายดำสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากสีของเนื้อในเหง้า ได้แก่ กลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีม่วง ม่วงเข้ม จนถึงม่วงดำ และกลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าสีของเนื้อในเหง้าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของกระชายดำ ในทางการค้าจึงมักนิยมกระชายดำมีเนื้อในเหง้าสีม่วงเข้มซึ่งเชื่อว่ามีคุณภาพดี ถ้าเนื้อเป็นสีม่วงอ่อนจะถูกคัดไปเป็นกระชายม่วงซึ่งเชื่อว่าคุณภาพด้อยกว่า
ในเหง้ากระชายดำ ประกอบด้วยสารสำคัญต่างๆ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) กลุ่มฟลาโวน (flavones) เช่น 5,7-dimethoxyflavone, 5,7,4′-trimethoxyflavone, 5,7,3′, 4′-tetramethoxyflavone และ 3,5,7,3′,4′-pentamethoxyflavone กลุ่มสารแอนโทไซยานิน (antho-cyanins) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) อื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีเข้ม จะมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมและสารฟลาโวนอยด์สูงกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง ส่วนพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง จะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าพันธุ์ที่มีสีเข้ม
สรรพคุณทางยาของกระชายดำ
- แก้โรคในปาก เช่น ปากเป็นแผล , ปากเปื่อย
- รักษาโรคภูมิแพ้ ช่วยขับพิษต่างๆ ในร่างกาย
- รักษาโรคปวดข้อ เช่น ปวดหลัง , ปวดเมื่อตามร่างกาย
- บำรุงกำลัง ช่วยเสริมสมรรถภาพกล้ามเนื้อของนักกีฬา
- ออกฤทธิ์ช่วยในการกำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง
- เหง้า รักษาโรคบิด แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด รักษาแผลในปาก ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ
- ตำรายาไทย ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ขับลม เป็นยาอายุวัฒนะ (เชื่อว่าช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย) แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง หรือโขลกกับเหล้าขาวคั้นน้ำดื่ม แก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อน ใช้กวาดคอเด็ก แก้โรคตานซางในเด็ก หรือต้มดื่มแก้โรคตา
โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ระบุเอาไว้ว่า “กระชายดำ” มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากๆ จำพวกแบคทีเรีย หรือแม้แต่ไวรัส ช่วยต้านทานการอักเสียบเทียบได้กับยาหลายๆ ชนิด อาทิ แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน
ประโยชน์ด้านอื่นของกระชาย
- เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย
อ้างอิงจากจุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเหง้ากระชายดำมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ที่เข้ารับการทดลองดีขึ้น ซึ่งจะเข้าไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศ ออกฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต และกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเพศของผู้ที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี การแข็งตัวของอวัยวะเพศจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากการทดลองเพิ่มเติมที่ทำกับอาสาสมัครวัย 65 ปีขึ้น โดยให้ทานแคปซูลที่เป็นสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำเป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่า พวกเขาสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศได้เพิ่มขึ้น (erotic stimuli) รวมถึงขนาดและความยาวขององคชาติก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจต่อการแข็งตัว จากนั้นเมื่อหยุดให้สารสกัด ร่างกายก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงพิสูจน์ได้ว่ากระชายดำมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่ออกมารับรองว่าต้องทานสารสกัดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งก่อนนำมาใช้
- เพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง
จากข้อมูลในตำรายาสมุนไพรไทยได้ระบุเอาไว้ว่า กระชายดำ สามารถช่วยบำรุงเลือดในสตรี แก้ตกขาว ทำให้โลหิตหมุนเวียนได้ขึ้น ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ เมื่อมีประจำเดือน อาการปวดท้องก็จะลดน้อยลง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยบำรุงให้ผิวพรรณผุดผ่องได้อีกด้วย
- บำรุงระบบไหลเวียนเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
อ้างอิงจากข้อมูลในงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุเอาไว้ว่า เมื่อหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้กินกระชายดำเข้าไปในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ อาการอ่อนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นความผิดปกติของระบบประสาทก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณเนื้อตายของสมองที่เกิดจากการขาดเลือดได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://oarkm.oas.psu.ac.th
https://pharmacy.mahidol.ac.th
https://www.flickr.com