สำรอง เมล็ดจะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น แล้วนำมาใช้ประกอบอาหารได้

สำรอง

ชื่ออื่นๆ : จอง หมากจอง (อุบลราชธานี), บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน), ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย, ฮวงไต้ไฮ้ (จีน), พ่างต้าห่าย (จีนกลาง), สำรอง (จันทบุรี, ตราด,ทั่วไป)

ต้นกำเนิด : พบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง พบได้มากในจังหวัดจันทบุรี

ชื่อสามัญ : Malva nut

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scaphium macropodium Beaum

ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ลักษณะของสำรอง

ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 30-40 เมตร และอาจสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกรอบต้น เรียงกันเป็นชั้น ๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง

ใบ  ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ ลักษณะของใบมีหลากหลายรูปร่าง เช่น รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปคล้ายรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ และใบมีรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึกประมาณ 2-5 แฉก ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักประมาณ 3-5 หยักและมีก้านใบยาวมาก

ดอก  ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ โดยจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร กลีบดอกปลายแหลม เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายทรงบอก มีขนปกสีแดงปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-15 ก้านและเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

ผล  ผลจะออกตามปลายกิ่ง กิ่งหนึ่งจะมีผลประมาณ 1-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมรีเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกับลูกสมอ ผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น แห้ง และขรุขระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 18-25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปมนรี มีเยื่อหุ้มอยู่

ต้นสำรอง
ต้นสำรอง ใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ

การขยายพันธุ์ของสำรอง

การใช้เมล็ด, การเสียบยอด, การตอนกิ่ง, การปักชำ

ธาตุอาหารหลักที่สำรองต้องการ

ประโยชน์ของสำรอง

ผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือใช้ทำเป็นสำรองลอยแก้ว

ลูกสำรอง
ลูกสำรอง ผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น

สรรพคุณทางยาของสำรอง

  • ใบ, ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้
  • เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ
  • ผลแห้งนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ
  • ผลมีรสจืด ขุ่นเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น

คุณค่าทางโภชนาการของสำรอง

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลสำรองประกอบไปด้วย
คาร์โบไฮเดรต 68.59%
โปรตีน 8.45%
ไขมัน 0.11%
ใยอาหาร 3.97%
เถ้า 8.01%
แคลเซียม 0.25%
ฟอสฟอรัส 0.20%
ธาตุเหล็ก 0.007%
โซเดียม 0.12%
โพแทสเซียม 0.14%

การแปรรูปของสำรอง

ทำน้ำสำรองพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9356&SystemType=BEDO
https://www.flickr.com

Add a Comment