หญ้าแฝก เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ช่วยในการดักตะกอนดินและป้องกันการพังทลายของดินได้ดี

หญ้าแฝก

ชื่ออื่นๆ : หญ้าแฝก, หญ้าแฝกหอม (นครราชสีมา, ภาคกลาง) แกงหอม แคมหอม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ต้นกำเนิด : ประเทศอินเดีย

ชื่อสามัญ : Vetiver grass, Khuskhus, Cuscus, Sevendara grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty

ชื่อวงศ์ : Poaceae

ลักษณะของหญ้าแฝก

ต้น พืชตระกูลหญ้าที่พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ความเปียกแฉะและสภาพน้ำท่วมขังใด้ดี เพราะมีระบบรากลึกและใบแคบ แฝกขึ้นเป็นกอใหญ่ ขนาดของกอประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-1.5 เมตร

ใบ ใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตรกว้าง 4-10 มิลลิเมตร มีรากเป็นกระจุกเหมือนใยฟองน้ำ สามารถดูดซับน้ำได้ดี ถ้านำมาปลูกเป็นแถวจะช่วยในการดักตะกอนดินและป้องกันการพังทลายของดินได้ดี

ดอก ออกดอกเป็นช่อตั้งลักษณะเป็นรวง โดยจะออกบริเวณปลายยอด ก้านช่อดอกยาวกลมยื่นพ้นจากลำต้น ก้านช่อดอกและรวงจะมีความสูงประมาณ 100-150 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก มีขนาดเล็กและเป็นสีม่วงอมเขียว

ผล ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมื่อดอกได้รับการผสมแล้ว ดอกที่ไม่มีก้านดอกที่เป็นดอกสมบูรณ์ก็จะติดเมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย หัวท้ายมน ผิวเรียบ เปลือกบาง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร โดยดอกหญ้าแฝกจะสามารถติดเมล็ดได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากในแต่ละช่อดอกจะมีดอกสมบูรณ์เพศประมาณครึ่งหนึ่ง ประกอบกับการสุกของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียที่อยู่ในดอกเดียวกันหรือต่างดอกกันมักจะไม่สัมพันธ์กัน ทำให้โอกาสที่จะผสมพันธุ์กันนั้นมีน้อย

ต้นหญ้าแฝก
ต้นหญ้าแฝก เป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอแน่น
ดอกหญ้าแฝก
ดอกหญ้าแฝก ดอกออกเป็นรวง ดอกมีสีม่วงอมเขียว

การขยายพันธุ์ของหญ้าแฝก

การใช้หัว/เหง้า/หน่อ

การขยายพันธุ์หญ้าแฝกที่นิยมกันมาก ง่าย และรวดเร็วได้แก่การแยกหน่อแล้วนำไปชำในแปลงเพาะหรือในถุงชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

  1. นำหญ้าแฝกที่เป็นกอมาตัดใบออกให้เหลือความยาวของต้นประมาณ 20 เซนติเมตร และความยาวของรากประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วแยกออกเป็นต้นๆ คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์มีรากติดนำลงปลูกในถุงชำขนาด 5 x 8 นิ้วที่มีส่วนผสมของดินร่วนปนทรายและขี้เถ้าแกลบ จากนั้นนำถุงชำมาวางเรียงในที่แจ้งให้เป็นแถว แถวละประมาณ 10 ถุง ระหว่างแถวห่างกัน 1เมตร รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  2. การเพาะชำในแปลงเพาะแบบยกร่อง โดยการนำหญ้าแฝกที่เตรียมไว้ในข้อที่ 1 มาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ที่เตรียมดินโดยการทำเป็นแปลงยกร่องกว้างขนาด 1-1.5 เมตร ความห่างระหว่างแปลงประมาณ 1 เมตร ความยาวของแปลงแล้วแต่ความเหมาะสม โดยนำหญ้าแฝกมาปลูกห่างกันระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกหญ้าแฝกได้ประมาณ 3,200 กอ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หญ้าแฝกจะเจริญเติบอย่างรวดเร็ว และสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 40-50 เท่าในระยะเวลา 4-5 เดือน

หญ้าแฝกที่นิยมปลูกกันมากในประเทศมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่สามารถเจริญเติบได้ดีบนพื้นที่สูง ที่พบตามหน่วยจัดการต้นน้ำมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. หญ้าแฝกหอมหรือหญ้าแฝกลุ่ม (Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty)
  2. หญ้าแฝกดอน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysopogon nemoralis (Balansa) Holttum (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vetiveria nemoralis (Balansa) A.Camus))

ในธรรมชาติเราจะพบหญ้าแฝกทั้งสองชนิดนี้ได้ทั่วไป เพราะขึ้นได้ดีในสภาพพื้นที่ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน ในดินสภาพต่าง ๆ จากความสูงใกล้กับระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับประมาณ 800 เมตร

ธาตุอาหารหลักที่หญ้าแฝกต้องการ

ประโยชน์ของหญ้าแฝก

หญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น

  • ต้นและใบช่วยกรองเศษพืชและตะกอนดิน ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา ใช้ทำเชือก หมวก ตะกร้า ฯลฯ ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน ใช้ทำปุ๋ยหมัก
  • รากดูดซับน้ำและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ดูดซับแร่ธาตุและอาหาร ดูดซับสารพิษ ช่วยปรับปรุงสภาพดินทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น
  • ใช้ทำเครื่องสมุนไพรและเครื่องประทินผิว ใช้กลั่นทำน้ำหอม ใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช

สรรพคุณทางยาของหญ้าแฝก

  1. รากมีรสหอม ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น (ราก)
  2. รากช่วยแก้โรคประสาท ส่วนกลิ่นของรากช่วยกล่อมประสาท (ราก)
  3. น้ำมันหอมระเหยช่วยทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ (น้ำมันหอมระเหย)
  4. ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)
  5. ช่วยแก้โลหิตและดี (ราก)
  6. รากมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้อันเกิดแต่ซาง แก้ไข้อภิญญาณ (ราก)[1],[2],[4] ส่วนหัวมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้หวัด (หัว)
  7. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก)
  8. ช่วยแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ราก, หัว)
  9. รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืด จุกเสียด ทำให้หาวเรอ (ราก, หัว)
  10. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก, หัว)
  11. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)
  12. ช่วยแก้ร้อน (ราก, หัว)
  13. ใช้ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย (ราก)
  14. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (หัว)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าแฝก

  • องค์ประกอบทางเคมีที่พบ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย (Vetiver oil) ประมาณ 0.3-1% โดยประกอบไปด้วยสาร vetiverol ประมาณ 50-75%, alpha-vetivone 4.36%, beta-vetivenene, beta-vetivone, khusimol
  • น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ทำให้ผิวหนังร้อนแดงอย่างอ่อน ทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ
  • หญ้าแฝกมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ต้านมาลาเรีย ต้านยีสต์ ยับยั้งเชื้อรา ไล่แมลง ฆ่าเห็บโค
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากหญ้าแฝกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 7,143 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยวิธีการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบว่ามีความเป็นพิษ

คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าแฝก

การแปรรูปของหญ้าแฝก

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=12159&SystemType=BEDO
http:// charoensinhos.go.th
https://www.flickr.com

Add a Comment