หม่อน หรือ มัลเบอร์รี ผลไม้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ทำน้ำผลไม้ได้

หม่อน

ชื่ออื่นๆ : หม่อน ภาคอีสานเรียก มอน ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก เก้ซิวเอียะ 

ต้นกำเนิด : ประเทศจีน มีอายุนานได้มากกว่า 100 ปี สำหรับประเทศไทยพบมีการปลุกมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อสามัญ : Mulberry Tree, White Mulberry

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba L

ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ลักษณะของหม่อน

ต้น หม่อนเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านไม่มากนัก

ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบสากคาย ก้านใบเล็กเรียว ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปแถบแคบปลายแหลม ยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร

ดอก ดอกเป็นดอกช่อ รูปทรงกระบอกออกที่ซอกใบ และปลายยอด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างช่อกัน วงกลีบรวมสีขาวหม่น หรือสีขาวแกมเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง เกสรเพศเมีย วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน

ผล ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ฤดูการให้ผลผลิตของมัลเบอร์รี่ ฤดูการให้ผลผลิตปกติอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ต้นหม่อน
ต้นหม่อน ไม้พุ่มขนาดกลาง ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว

การขยายพันธุ์ของหม่อน

วิธีการปลูกหม่อนมีความสำคัญต่อการรอดของท่อนพันธุ์และการเจริญเติบโตของต้น หม่อน ถ้าปลูกไม่ถูกวิธีจะทำให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ จำนวนต้นหม่อนต่อพื้นที่น้อยลงทำให้สิ้นเปลืองแรงงานและค่าใช้จ่ายสูง วิธีการปลูกที่นิยมกันมีสองวิธี คือ
1. นำท่อนพันธุ์ไปปลูกโดยตรงในแปลงที่เตรียมไว้
2. นำท่อนพันธุ์ไปปักชำในแปลงเพาะชำก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกต่อไป
การเตรียมท่อนพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมท่อนพันธุ์เพื่อปลูกในแปลงโดยตรง หรือเพื่อนำไปปักชำไว้ก่อนปลูกก็เตรียมท่อน

พันธุ์ในลักษณะเดียวกันดังนี้
1. เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพใบดี
2. เลือกกิ่งที่มีอายุอยู่ในช่วง 4-12 เดือน ซึ่งเหมาะในการแตกรากและกิ่งก้านได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง กิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. มีผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลมีตาที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น รากเน่า ใบด่าง ถ้าอายุกิ่งอ่อนเกินไป อาหารที่สะสมไว้ในกิ่งจะไม่พอที่รากจะงอกได้ ถ้ากิ่งแก่เกินไปตาของกิ่งจะเป็นตาที่พักตัวหรือเรียกทั่วไปว่าตาฝ่อ การแตกกิ่งจะไม่ดี กิ่งที่เหมาะควรเป็นกิ่งที่ได้จากแปลงที่เตรียมไว้สำหรับทำกิ่งพันธุ์โดย เฉพาะ ซึ่งมีการดูแลรักษาและใส่ปุ๋ยเป็นอย่างดี เพื่อให้กิ่งพันธุ์มีอาหารเพียงพอ
3. ตัดท่อนพันธุ์ด้วยการการไกรตัดแต่งกิ่งหรือมีมีดคมๆเพื่อไม่ให้ท่อนพันธุ์ ฉีกและซ้ำได้ให้ท่อนพันธุ์มีขนาดความยาวท่อนละประมาณ 20 ซม. หรือมีตาหม่อนอยู่บนท่อนพันธุ์ประมาณ 4-5 ตา โดยตัดส่วนบนของท่อนพันธุ์ให้มีลักษณะตรงเหนือตาบนสุดประมาณ 1 ซม. (ถ้าตัดเฉียงจะทำให้มีการคายน้ำสูง และอาจผิดพลาดเวลาปลูก) ส่วนโคนของท่อนพันธุ์ตัดเฉียงประมาณ 45 องศา เป็นรูปปากฉลากตัดต่ำกว่าข้อตาล่างสุดประมาณ 1.5 ซม. โดยให้ด้านเฉียงอยู่ตรงข้ามกับตาล่างสุด
4. หลังจากเตรียมท่อนพันธุ์เสร็จแล้ว ควรรีบนำไปปลูกหรือปักชำทันที ถ้าหากไม่สามารถนำไปปลูกหรือชำได้ทันทีให้เอาท่อนพันธุ์เก็บไว้ในร่ม ใช้แกลบเผาหรือขี้เลื่อยหรือกระสอบคลุมไว้แล้วรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้ง จะสามารถเก็บท่อนพันธุ์ไว้ได้นาน 2 สัปดาห์ในหน้าฝนหรือ 1 สัปดาห์ในหน้าแล้ง
ในกรณีที่กิ่งพันธุ์ที่เกษตรกรไปขอรับจากแหล่งขยายพันธุ์ถูกทิ้งไว้หลายวัน ซึ่งทำให้กิ่งและตาเหี่ยว เมื่อนำไปปลูกจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์ตายสูง ดังนั้น ควรบ่มท่อนพันธุ์เสียก่อนโดยกานำท่อนพันธุ์ที่เตรียมแล้วมามัดรวมกันมัดละ ประมาณ 100 ท่อน วางเรียงแถวตั้งเป็นกองไว้ในร่ม คลุมด้วยเศษหญ้าหรือเศษฟางแล้วรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 1 สัปดาห์กิ่งพันธุ์จะมีลักษณะสด ตาสีเขียวตูม เมื่อนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง

ผลหม่อน
ผลหม่อน ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ

ธาตุอาหารหลักที่หม่อนต้องการ

เนื่องจากหม่อนเป็นพืชยืนต้นมีอายุยาวนานและติดดอกออกผลนานหลายสิบปี การบำรุงรักษาโดยวิธีการใส่ปุ๋ยบำรุงดินจึงมีความจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินจะส่งผลกระทบต่อการเจริญ เติบโตของหม่อนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะนอกจากจะเป็นแหล่งคาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ สำหรับการเจริญเติบโตของพืชโดยตรงแล้ว ยังมีผลต่อขบวนการทางกายภาพ เคมี และชีวเคมีของดิน ทำให้ดินมีลักษณะโครงสร้างที่ดี และมีกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในดิน ซึ่งมีผลทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของต้นหม่อน ดังนั้นก่อนการปลูกหม่อนขอแนะนำให้นำตัวอย่างดินในแปลงไปตรวจวิเคราะห์หา คุณสมบัติของดิน เพื่อจะได้ทราบว่าดินที่จะใช้ปลูกหม่อนขาดธาตุอาหารใดบ้าง ในปริมาณที่เท่าใดหรือมีธาตุอาหารอื่นใดเพียงพอแล้ว จะได้ไม่ต้องให้เพิ่มลงไปให้เกินความจำเป็นเพื่อเป็นการประยัดและลดต้นทุน การผลิต ก่อนการปลูกหม่อนให้ใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ตามความจำเป็น จากการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินเพิ่มและปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักในอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่รองก้นหลุม จากนั้นจึงใช้หน้าดินกลบหลุมก่อนปลูก และเมื่อเข้าสู่ปลายฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รอบๆ ทรงพุ่มของต้นหม่อนอีกครั้ง
หลังจากปีที่ 2 เป็นต้นไป การใส่ปุ๋ยหม่อนเพื่อผลิตผลหม่อนขอแนะนำอัตราการใส่ปุ๋ย ดังนี้ คือ
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูฝน โดยใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่
ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูหนาวก่อนทำการบังคับทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความหวานโดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ในระยะที่ผลหม่อนเริ่มจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง

การให้น้ำ
การให้น้ำหม่อนเพื่อเก็บผลสดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำหม่อนใน ระยะที่หม่อนติดผลเรียบร้อยแล้ว หากต้นหม่อนขาดน้ำในระนะนี้จะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็กกว่าปรกติ ส่วนการให้น้ำในระยะอื่นๆ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมเมื่อฝนทิ้งช่วงอาจจะต้องให้น้ำเป็นบางครั้ง วิธีการให้น้ำมีหลายวิธี คือ
1. การให้น้ำแบบ มินิสปริงเกอร์ เป็นวิธีการให้น้ำแบบประหยัดทั้งแรงงานและน้ำ แต่ต้นทุนในการจัดทำระบบน้ำค่อนข้างสูง สามารถให้น้ำได้บ่อยตามความจำเป็น
2. การให้น้ำแบบ รดโคนต้น โดยใช้เครื่องสูบนน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่แปลงหม่อนโดยตรง รดน้ำตรง รดน้ำตรงบริเวณโคนต้นให้ชุ่ม 10 วันต่อครั้ง

ประโยชน์ของหม่อน

  1. ใบสดเมื่อนำใบมาเคี้ยวสด ๆ จะมีรสหวานอมขมเย็นเล็กน้อย บางท้องถิ่นนำมากินสด
  2. ปัจจุบันนิยมนำใบมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน ซึ่งจะให้กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ และรสชาติเหมือนชา แต่อมหวานเล็กน้อย
  3. บางท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ นิยมใบมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้มต่าง ซึ่งจะเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
  4. ในส่วนของผลสุก สามารถกินเป็นผลไม้หรือเป็นอาหารนกได้
  5. ในบางพื้นที่ที่มีการปลูกหม่อนมากจะนำผลหม่อนมาหมักเป็นไวน์จำหน่าย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามสถาน Otop ต่างๆ ลักษณะไวจากผลหม่อนจะเป็นสีม่วงอมแดง หรือนำผลสุกมารับประทานสดซึ่งจะให้รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย หรือจำหน่ายผลหม่อนสุกกินสด
ลูกหม่อน
ลูกหม่อน ผลสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ

สรรพคุณทางยาของหม่อน

ยาพื้นบ้าน ใช้ ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง ใบแก่ ตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก ใบ แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะฝ้าฟาง ใบ ใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ราก ขับพยาธิ และเป็นยาสมาน ตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง ยานี้จะมีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจ และการมีน้ำสะสมในร่างกายผิดปกติ ใช้แก้โรคความดันโลหิตสูง แขนขาหมดความรู้สึก กิ่งอ่อน ใบอ่อน แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ใบ น้ำต้มและยาชง มีฤทธิ์เป็นยาชะล้าง ใช้ล้างตาแก้ตาอักเสบ ใบอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไอ ยาหล่อลื่นภายนอก น้ำต้มใบใช้กลั้วคอแก้เจ็บคอ ใช้ล้างตา แก้อาการติดเชื้อ ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอก รักษาแผลจากการนอนกดทับ ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น ต้มน้ำหรือเชื่อมกิน เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้โรคปวดข้อ ใช้แก้โรคได้เช่นเดียวกับเปลือกราก ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น เมล็ด ใช้เพิ่มกากใยอาหาร เปลือก เป็นยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ

ในประเทศจีนใช้ เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะแก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ

น้ำลูกหม่อน
น้ำลูกหม่อน น้ำสีม่วง ดำ

คุณค่าทางโภชนาการของหม่อน

ใบ มี carotene, succinic acid, adenine, choline, วิตามินซี ผล มี citric acid, วิตามินซี เนื้อไม้ มี morin ลำต้น มี steroidal sapogenin เปลือก มี α-amyrin

การแปรรูปของหม่อน

ผลหม่อนเมื่อสุกแล้วสามารถน้ำมาอบแห้ง ทำแยม หรือทำไวน์

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9237&SystemType=BEDO
https://th.wikipedia.org/
https://www.scimath.org/
http://agknowledge.arda.or.th/
http://agknowledge.arda.or.th/

One Comment

Add a Comment