อบเชยญวน มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร พันธุ์ไม้พระราชทานจังหวัดระนอง
ชื่ออื่นๆ : อบเชย, อบเชยต้น, มหาปราบ, เซียด, ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) ฮักแกง โกเล่ (กะเหรี่ยง-กำแพงแสน) เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) สุรามริด (ภาคใต้, พิษณุโลก, นครราชสีมา) โมง โมงหอม (ชลบุรี) เคียด กะทังหัน
ต้นกำเนิด : อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสามัญ : อบเชยญวน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ชื่อวงศ์ : Lauraceae
ชื่อภาษาอังกฤษ : Cinnamon
ลักษณะของอบเชยญวน
ต้น ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ราก และโคนต้น ทรงพุ่มกว้าง ทึบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวหยาบ เปลือกกิ่งสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ ไม่มีขน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง
ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 5.5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ
ดอก ดอกช่อแบบแยกแขนงออกตามเป็นกระจุกบริเวณง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ รูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี 9 อัน เรียงเป็น 3 วง วงละ 3 อัน อับเรณูของวงที่ 1 และวงที่ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ก้านเกสรมีขน ส่วนอับเรณูของวงที่ 3 หันหน้าออกด้านนอก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อมอยู่ใกล้โคนก้าน ต่อมรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงเป็น 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 อัน อยู่ด้านในสุด รูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีขนแต่ไม่มีต่อม รังไข่รูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียกลม ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม
ผล ผลรูปไข่ หรือกลม เป็นผลมีเนื้อ ยาว 6-10 มิลลิเมตร สีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ มีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล มีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
การขยายพันธุ์ของอบเชยญวน
ใช้เมล็ด
ธาตุอาหารหลักที่อบเชยญวนต้องการ
–
ประโยชน์ของอบเชยญวน
- นิยมใช้อบเชยในการทำเครื่องแกงเช่น พริกแกงกะหรี่ประเภทผัดที่ใช้ผงกะหรี่ ใช้เป็นไส้กะหรี่ปั๊ป หรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั้กในอาหารคาวประเภทต้มเช่น พะโล้และเนื้อตุ๋น ส่วนในประเทศแถบตะวันตก มักใส่อบเชยในของหวาน เช่น ซินนามอนโรลล์ ใช้ผงอบเชยละเอียดโรยหน้ากาแฟใส่นม ใช้ผงอบเชยกับน้ำตาลโรยหน้าเพรตเซล และนอกจากนี้ยังมีลูกอม หมากฝรั่ง และยาสีฟันรสอบเชยอีกด้วย
- เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดระนอง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อให้นำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัดและเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ใน “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงครบรอบปีที่ 50 ในการครองราชสมบัติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537
สรรพคุณทางยาของอบเชยญวน
ตำรายาไทย: น้ำต้มเปลือกต้น ดื่มแก้ตับอักเสบ อาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ขับพยาธิ มีสรรพคุณบำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ลมอัณฑพฤกษ์ แก้ไข้สันนิบาต ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์แก้ปวดหัว รับประทานแก้เบื่ออาหาร แก้จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แก้ไอ แก้ไข้หวัด ลำไส้อักเสบ ท้องเสียในเด็ก อาการหวัด ปวดปะจำเดือน แก้อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน แก้ปวดประจำเดือน ห้ามเลือด บดเป็นผงโรยแผลกามโรค สมานแผล
อบเชยมีการนำมาใช้ในพิกัดยาไทย คือ “พิกัดตรีธาตุ” ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ “พิกัดตรีทิพย์รส” คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดจตุวาตะผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง “พิกัดทศกุลาผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มีชะเอมทั้ง 2 (ชะเอมไทย ชะเอมเทศ) ลูกผักชีทั้ง 2 (ผักชีล้อม ผักชีลา) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยไทย อบเชยเทศ) ลำพันทั้ง 2 (ลำพันแดง ลำพันขาว) ลูกเร่วทั้ง 2 (เร่วน้อย เร่วใหญ่) มีสรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้
คุณค่าทางโภชนาการของอบเชยญวน
–
การแปรรูปของอบเชยญวน
สามารถนำอบเชยญวณมาแปรรูปเป็นยา หรือ เครื่องเทศสำหรับทำอาหารได้
เกษตรตำบล ศูนย์รวมความรู้การเกษตร ปลูกได้ ขายเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีเกษตร กับอบเชยญวณ
References : www.bedo.or.th
รูปภาพจาก :
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม