เกล็ดลิ้นใหญ่ ไม้พุ่มขนาดเล็ก จัดเป็นต้นไม้มงคล ยอดนำมารับประทานสด

เกล็ดลิ้นใหญ่

ชื่ออื่นๆ : เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา) ลูกหนีบต้น (ปราจีนบุรี) หางลิ่น (สุราษฎร์ธานี) หญ้าเกล็ดลิ่น (ภาคเหนือ, ภาคใต้) เกล็ดลิ่นใหญ่, ลิ่นต้น, หญ้าสองปล้อง (ภาคกลาง) กาสามปีกเล็ก, เกล็ดลิ้น เป็นต้น

ต้นกำเนิด : ทุกภาคของประเทศไทย

ชื่อสามัญ : เกร็ดปลาช่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllodium pulchellum (L.) Desv.

ชื่อวงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE

ลักษณะของเกล็ดลิ้นใหญ่

ต้น จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.2-3.7 เซนติเมตร กิ่งก้านแตกแขนงตั้งแต่โคนต้น ปลายกิ่งโค้งลง กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนขึ้นหนาแน่น ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ

ต้นเกล็ดลิ้นใหญ่
ต้นเกล็ดลิ้นใหญ่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ

ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก รูปฝ่ามือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง มีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบแหลม มน หรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ บางครั้งเป็นคลื่น มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนสั้นนุ่มขึ้นบาง ๆ เมื่อแก่จะเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น (หลังใบหยักเป็นลอนตามเส้นใบแบบขนาน ส่วนท้องใบก็เป็นลอนด้วยเช่นกัน) ใบย่อยด้านข้าง 2 ใบนั้นมีลักษณะรูปร่างคล้ายใบย่อยตรงกลาง แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบย่อยสั้น มีขนาดยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร มีขน หูใบย่อยเป็นขนแข็ง ยาวคล้ายหาง ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แก่นช่อใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร

ใบเกล็ดลิ้นใหญ่
ใบเกล็ดลิ้นใหญ่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกประมาณ 3-5 ดอก เรียงอยู่บนแกนช่อดอก แบบช่อกระจะจะค่อนข้างยาว โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกแต่ละกระจุกจะมีใบประดับคล้ายใบประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ใบประดับจะมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา เป็นรูปเกือบกลม ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือเป็นรูปหัวใจตื้น มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร มีขนทั้งสองด้าน และมีใบประดับอีกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ลดรูปเป็นเส้นใบประดับย่อย ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขน ใบประดับหุ้มดอกและติดอยู่จนติดผล ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ส่วนแฉกล่างจะมีลักษณะเป็นรูปไข่เช่นกัน แต่จะแคบและยาวกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบกลางจะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลม มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบด้านข้างจะเป็นรูปรีแคบ ปลายมน โคนมีติ่ง มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนกลีบคู่ล่างจะยาวเท่ากับกลีบคู่ข้าง แต่จะกว้างกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มีออวุล 2-4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ที่โคนมีขน

ดอกเกล็ดลิ้นใหญ่
ดอกเกล็ดลิ้นใหญ่ ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ

ผล ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หยักคอดเป็นข้อประมาณ 2-4 ข้อ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ผิวฝักมีขน มีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน ส่วนเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ออกดอกและเป็นผลในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม

การขยายพันธุ์ของเกล็ดลิ้นใหญ่

การใช้เมล็ด, ปักชำกิ่ง

ธาตุอาหารหลักที่เกล็ดลิ้นใหญ่ต้องการ

ประโยชน์ของเกล็ดลิ้นใหญ่

  1. จัดเป็นต้นไม้มงคล จะใช้เมื่อเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง
  2. ในทางอาหารจะใช้ยอดเกล็ดปลาช่อนนำมากินสด ๆ เป็นผักจิ้ม มีรสฝาดมันและขมเล็กน้อย
  3. ใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติของโค กระบือ สำหรับแทะเล็ม ส่วนที่กินได้

สรรพคุณทางยาของเกล็ดลิ้นใหญ่

1. เปลือกต้นใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคตา (เปลือกต้น)
2. รากมีรสจืดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก อาการชักในเด็กทารก แก้ปวดฟัน เลือดจับตัวเป็นลิ่ม (ราก)
3. ใบมีรสจืด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น (ใบ)
4. ดอกใช้เป็นยาแก้อาเจียน (ดอก)
5. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)
6. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก)
7. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการตกเลือด แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษ (เปลือกต้น)
8. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากเกล็ดปลาช่อน นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคตับพิการ บรรเทาอาการตับทำงานผิดปกติ ส่วนตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้ตับพิการ (ราก, ทั้งต้น)
9. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้พยาธิใบไม้ในตับ (ทั้งต้น)
10. ใบใช้เป็นยารักษาแผลพุพอง (ใบ)
11. รากหรือเปลือกรากใช้ตำพอกแก้ปวด แก้เคล็ดบวม (ราก, เปลือกราก)
12. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดเส้น ปวดข้อ ปวดหลัง (ราก)
13. รากใช้ผสมกับรากกาสามปีกใหญ่, รากดูกอึ่ง, รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้คุณไสย (มีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่งและร้องไห้)

ดอกเกร็ดปลาช่อน
ดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน

คุณค่าทางโภชนาการของเกล็ดลิ้นใหญ่

ใบรวมก้านใบย่อย จะมีโปรตีน 16.7%, เยื่อใยส่วน ADF 34.47%, NDF 41.94%, แคลเซียม 0.84%,ฟอสฟอรัส 0.24%, โพแทสเซียม 1.52%, แทนนิน 3.74%

การแปรรูปของเกล็ดลิ้นใหญ่

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th
https://arit.kpru.ac.th
https://www.flickr.com

Add a Comment