เครือซุด เถาเนื้อเหนียว ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของ หรือใช้ถักกับซี่ไม้ไผ่ทำเครื่องมือจับปลา

เครือปลาสงแดง

ชื่ออื่นๆ : เครือเจ็น (เชียงใหม่), เครือซุด, เครือซุดแดง, ชัยสง(เลย), เครืออีโม้, เต่าไห้ (ตราด), เถาโก (ประจวบคีรีขันธ์), เถายอดแดง (อ่างทอง), เถาวัลย์แดง, หัวขวาน (ชลบุรี), ปอเต่าไห้ (จันทบุรี), หุนน้ำ (สระบุรี)

ต้นกำเนิด : เขตร้อนของทวีปเอเชีย

ชื่อสามัญ : เครือปลาสงแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ichnocarpus frutescens (L.) W.T.Aiton

ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะของเครือปลาสงแดง

ต้น ไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ยาว 2-8 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ เถาสีน้ำตาลแดง เถาอ่อนมีขนสีน้ำตาล ทุกส่วนมีน้ำยางขาว

ใบ  ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบหนา เรียบ สีเขียวเข้ม มีขนตามเส้นใบ ใบรูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 ซม. ยาว 7-11 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนประปรายที่เส้นใบ เส้นใบหลัก 5-7 คู่ ก้านใบยาว 0.8-1.2 ซม. อาจพบขนหรือไม่มี

ดอก ช่อแยกแขนง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ ดอกมีขนาดเล็ก ออกที่ซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก 11-80 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มม. มีขนสั้นหนานุ่ม ก้านช่อดอกยาว 0.3-4.2 ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบดอกสีขาว หรือสีเหลืองนวล กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบรูปถ้วย กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2.0-2.5 มม. ปลายแยก 5 กลีบ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.5-2.0 มม. ยาว 2.0-2.5 มม. โดยด้านข้างของส่วนปลายกลีบจะยื่นยาวคล้ายหาง 2-3 มม. ขอบเป็นคลื่น มีขนอุยที่โคนแฉกด้านในและขนสั้นนุ่มตามขอบ ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ทำให้มองเห็นขอบกลีบเป็นฝอยละเอียด กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา ใบประดับ 2 อัน รองรับช่อดอกย่อย รูปไข่ กว้าง 0.5 มม. ยาว 1.0-1.5 มม. ขอบเรียบ พบขนสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วผิวด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยง หลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 1.5 มม. ปลายแยกแฉกแหลม รูปไข่หรือคล้ายสามเหลี่ยม สีเขียว มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้สีเหลือง ผิวเกลี้ยง อับเรณูยาว 1 มม. ติดที่ฐาน โคนมน ปลายเรียวแหลม ซึ่งแตะล้อมรอบ ก้านและยอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มม. อยู่สูงจากโคนหลอดดอกประมาณ 1 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 15-35 ออวุล รังไข่มีขนสั้นนุ่มและใสที่ผิวด้านบน โคนเชื่อมกัน ปลายแยก ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาว 1 มม. เกลี้ยง สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน จานฐานดอก 5 อัน แยกกัน รูปไข่หรือคล้ายขวด ยาว 0.5-1.0 มม. โคนเชื่อมแตะรังไข่ ปลายมนหรือกลม เกลี้ยง สีขาวหรือขาวอมเหลือง

ผล  เป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายแหลม กว้าง 1.6-5 มิลลิเมตร ยาว 3-10.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งแตกตะเข็บเดียว

เมล็ด   สีน้ำตาล มีกระจุกขนสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ที่ปลายเมล็ด ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม พบกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณผสม พื้นที่โล่ง ป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าพรุ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 850 เมตร

เครือซุด
เครือซุด ไม้เถาเลื้อย เถาสีน้ำตาลแดง ทุกส่วนมีน้ำยางขาว
ดอกเครือซุด
ดอกเครือซุด ออกที่ซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว หรือสีเหลืองนวล

การขยายพันธุ์ของเครือปลาสงแดง

ใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่เครือปลาสงแดงต้องการ

ประโยชน์ของเครือปลาสงแดง

เถาเนื้อเหนียว ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของทั่วไป หรือใช้ถักกับซี่ไม้ไผ่ทำเผือก ลอบ ไซ ซูด (เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อ เครือซูด) หรือใช้ผูกกับลำไม้ไผ่เพื่อทำรั้ว, ใช้แทนเชือกไพหญ้าแฝกหรือหญ้าคํามุงหลังคา, สานตะกร้าหรือกระเช้าของขวัญ

สรรพคุณทางยาของเครือปลาสงแดง

  • ทั้งต้น – แก้ไข้
  • ราก ใช้ฆ่าแมลงผสมรากมะเฟืองเปรี้ยว รากตะโกนา และรากตีนนก ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ทั้ง 5 แก้ไข้

คุณค่าทางโภชนาการของเครือปลาสงแดง

การแปรรูปของเครือปลาสงแดง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11813&SystemType=BEDO
www.flickr.com

Add a Comment