เดินทางจากเชียงใหม่ไปลำพูนด้วยรถสองแถว

การเดินทางจากเชียงใหม่ไปลำพูน

การเดินทางจากเชียงใหม่ไปลำพูนโดยรถสองแถวประจำทางรถสีฟ้าจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดลำพูน สามารถขึ้นรถได้ที่สะพานเหล็ก (ขัวเหล็ก), กาดหลวง (ตลาดวโรรส) ใกล้สะพานขัวแขก โดยรถตู้จะใช้การเดินทางบนถนนหมายเลข 106 (ถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่า หรือเรียกว่าถนนเส้นต้นยาง-สารภี) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40-50 นาที (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการจราจรของแต่ละช่วงเวลา) ระยะทางประมาณ 29  กิโลเมตร (จากสะพานเหล็กไปขนส่งลำพูน) รถออกทุกๆ 7 นาที ค่าโดยสาร 30 บาท

โทร. บริษัทลำพูนพัฒนาเดินรถ 083-325-4965 081-940-7899

รถสองแถวสีฟ้า
รถสองแถวสีฟ้าเชียงใหม่ลำพูน

สถานที่ท่องเที่ยวในลำพูน

เมื่อเดินทางมาถึงตัวเมืองลำพูนแล้ว สามารถแจ้งให้กับคนขับให้ไปส่งได้ หรือจะเดินไปก็ได้เช่นกันซึ่งไม่ไกลจากจุดที่จอดรถมากนัก และต้องไม่พลาดที่จะไปเที่ยวสถานที่เหล่านี้

  1. วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทาง ทิศตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา  (ปีไก่) พระบรมธาตุหริภุญไชย ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ- บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูป นั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปเดิมทีเป็นพระราชวังของพระเจ้าอทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจาก พระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย บริเวณกำแพงพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราชได้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ในกาลต่อมาภายหลังพระเจ้าอาทิตยราช ได้ถวายราชวังของพระองค์ให้เป็นสังฆารามไว้กับทางพระพุทธศาสนาเมื่อถวายเป็นสังฆารามแล้ว ได้รื้อกำแพงชั้นนอกออกแล้วปั้นสิงห์คู่หนึ่งไว้ที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เป็นสิงห์ขนาดใหญ่ประดับเครื่องทรงยืนอ้าปากประดิษฐานไว้แทน ตามคติโบราณทางเหนือซึ่งนิยมสร้างสิงห์เฝ้าวัด วัดพระธาตุหริภุญชัย จึงมีกำแพงสองชั้นตามรูปลักษณ์ของพระราชวังเดิมของพระเจ้าอาทิตยราช คือ รอบบริเวณวัดชั้นนอกชั้นหนึ่ง และก่อกำแพงเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นกำแพงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง
    สถานที่ตั้ง วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ถนนอินทยงยศ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

    วัดพระธาตุหริภุญชัย
    วัดพระธาตุหริภุญชัย ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ
  2. อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ตำบลในเมือง บริเวณด้านหลังตลาดหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางทรงเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม เป็นนักรบที่มีความสามารถและกล้าหาญชาญชัย พระนางคือผู้นำพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาเผยแผ่ในดินแดนแถบนี้จนรุ่งเรื่องสืบมาจนถึงปัจจุบัน พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525

    อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
    อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย
  3. วัดมหาวัน (มหาวันวนาราม) เป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวี เจดีย์วัดมหาวันเป็นที่บรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่า พระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผลและคงกระพันชาตรี หากใครได้มากราบไหว้บูชาพระรอดก็จะพ้นภัยอันตรายทุกสิ่งปวง วัดเก่าแก่ อายุกว่า 1,300 ปี สร้างในสมัยพระนางจามเทวี มีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่อัญเชิญมาจากเมืองละโว้ กรุพระเครื่องชื่อดัง คือ พระรอดมหาวัน ถือเป็นแบบพิมพ์องค์พระรอดที่มีชื่อเสียง
    ที่ตั้ง : ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

    วัดมหาวัน
    วัดมหาวัน วัดมหาวันเป็นที่บรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด
  4. ขัวมุงท่าสิงห์ หรือ สะพานมีหลังคา หลายแห่งในภาคเหนือมักสร้างใกล้วัดหรือในชุมชน ดังนั้น “ขัว” หรือสะพาน จะใช้เพื่อการสัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งน้ำเป็นจุดประสงค์หลัก แต่การสร้างหลังคามุงเพื่อเหตุผลทาง สถาปัตย์ คือ สะพานโบราณส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ การมุงหลังคาช่วยกันแดดกันฝนทำให้อายุการใช้งานของสะพานยาวนานขึ้น ต่อจากนั้นเมื่อสะพานมีร่มเงา จากที่ใช้เพียงการสัญจรไปมากลายมาเป็นนั่งพักผ่อน นั่งคุยกัน และพัฒนามาเป็นตลาดพื้นบ้านเล็ก จวบจนปัจจุบัน ขัวมุงท่าสิงห์ ได้พัฒนาโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ทำเป็นศูนย์สินค้า OTOP ขายสินค้าพื้นบ้าน อาทิ ผ้าฝ้าย เครื่องไม้ ผลิตภัณฑ์จากลำไย พระเครื่องลำพูน ขนมไทยล้านนา และของที่ระลึกต่างจากจังหวัดลำพูนในราคากันเอง  ขัวมุงท่าสิงห์ ตั้งอยู่ฝั่งน้ำกวง หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เชื่อมฝั่งตัวเมืองกับบ้านเวียงยอง
    เปิดทุกวัน : เวลา 9.00-18.00 น.
    ที่ตั้ง : ตำบลเวียงยอง อ.เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

    ขัวมุงท่าสิงห์
    ขัวมุงท่าสิงห์ เป็นศูนย์สินค้า OTOP ของลำพูน
  5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้มาจากวัดสำคัญและแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลำพูน จำนวนกว่า 3,000 ชิ้น ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่รวบรวมและจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่มีอยู่มากมายในภาคเหนือของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง โดยมหาอำมาตย์โท พระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดี (อวบ เปาโรหิต) สมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ เป็นผู้ริเริ่มการนี้มาตั้งแต่พ.ศ. 2470 ซึ่งในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการมองเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น กิจการพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเริ่มจากในพระราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. 2417 มีผลให้เกิดพิพิธภัณฑสถานอื่นๆขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ รวมทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย แห่งนี้
    วันเวลาเปิดทำการ
    เปิดวันพุธ – อาทิตย์
    เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น.
    ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ค่าธรรมเนียมเข้าชม
    ชาวไทย  คนละ  20  บาท
    ชาวต่างชาติ คนละ  100  บาท

    ที่ตั้ง : ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน (เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย) จังหวัดลำพูน

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.lamphun.go.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com, www.youtube.com, www.baania.com

One Comment

Add a Comment