ประโยชน์ของเนื้อมังคุด เปลือกมังคุดใช้ทำอะไรได้บ้าง สรรพคุณทางยาของมังคุด

มังคุด

มังคุด “ราชินีผลไม้ ” ชื่ออังกฤษ mangosteen ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia  mangostana Linn. เป็นผลไม้อร่อยมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังต่างประเทศ
แหล่งกำเนิดของมังคุดคาดว่าเป็นแถบหมู่เกาะมลายูและประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันยังพบมังคุดเป็นพืชในป่าธรรมชาติในประเทศมาเลเซียและหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งพบ “มังคุดป่า” หรือ “มะแปม” (Garcinia costata Hemsl.) บริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย
ด้วยความอร่อยของมังคุดจึงได้มีความพยายามที่จะนำมังคุดไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น มีการนำเข้าไปปลูกในประเทศศรีลังกา ปี พ.ศ. 2343 ในประเทศอินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2344ในรัฐควีนส์แลนด์ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2397 และได้นำไปปลูกในเรือนกระจกในสวนพฤกษศาสตร์คิวของประเทศอังกฤษระหว่างปี พ.ศ. 2393-2403 และผลมังคุดผลแรกของสวนคิวออกในปี พ.ศ. 2400 และยังมีการนำไปทดลองปลูกในหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน เช่น ปานามา เพอร์โทริโก โดมินิกา คิวบา ซึ่งได้ผลผลิตไม่ดีเช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาซึ่ง The United States Department of Agriculture ได้รับเมล็ดมังคุดจากประเทศจาวา ในปี พ.ศ. 2449 ได้พยายามขยายพันธุ์ทดลองปลูกในเขตร้อนของประเทศสหรัฐอเมริการวมไปถึงฮาวาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเช่นกัน

ดังนั้น  มังคุดจึงยังคงเจริญเติบโตได้ดีในแถบแหลมมลายูและชวา พม่า ไทย ประเทศในกลุ่มอินโดจีน  สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็นสวรรค์ของคนชอบมังคุด เพราะมังคุดไทยรสชาติดี เนื้อมากเมล็ดเล็ก เปลือกบาง ในประเทศอื่นมักจะมีเปลือกหนา รสชาติเปรี้ยวจัดกว่าของไทย

ประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกมังคุด 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี  ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี

ผลมังคุด
ผลมังคุด ภายในมีมีเนื้อสีขาว รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว
 

มังคุดส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์

  • ผลใช้เป็นอาหาร
    ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวหอมอร่อย กินเป็นผลไม้ นอกจากจะกินเป็นผลสุกแล้ว ทางภาคใต้ของประเทศไทยยังนิยมกินมังคุดในลักษณะ “มังคุดคัด” โดยนำมังคุดดิบที่แก่จัดแต่ยังไม่สุก กล่าวคือเริ่มเห็นสายเลือด มางัดเปลือกออก โดยให้เนื้อและเมล็ดคงรูปเดิม ไม่แตกกระจายออกจากกัน แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด นำไปแช่น้ำเกลือที่มีความเค็มอ่อนๆ ทิ้งไว้ให้น้ำเกลือดูดซึมเข้าไปในเนื้อจนทั่ว แล้วใช้ไม้เสียบเรียงเป็นตับๆ แต่ละชุดมีเนื้อมังคุดเรียง 5-7 ผล 
    มีความพยามที่จะทำมังคุดกระป๋องแต่ไม่อร่อยเนื่องจากเกิดการสูญเสียกลิ่นของมังคุดไปในกระบวนการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาสเจอไรซ์นาน 10 นาที จากการทดสอบพบว่าวิธีทำมังคุดกระป๋องที่ดีที่สุดคือ การแช่ในน้ำเชื่อมเข้มข้นร้อยละ 40 ถ้าการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลซ์นาน 5 นาที ซึ่งมังคุดที่มีรสเปรี้ยวเหมาะที่จะทำมังคุดกระป๋องมากกว่า 
    ในประเทศมาเลเซียมีการทำแยมมังคุดจากการนำเนื้อมังคุดที่ไม่มีเมล็ดมาต้มกับน้ำตาลในปริมาณที่เท่าๆ กัน เติมกานพลูไปเล็กน้อย ต้มนาน 15-20 นาที แล้วจึงนำมาเก็บไว้ในขวดแก้ว ในประเทศฟิลิปปินส์ มีวิธีเก็บมังคุดไว้กินนานๆ ง่ายๆ คือนำทั้งเนื้อและเมล็ดไปต้มในน้ำตาลทรายแดง 
    บางประเทศมีการนำเมล็ดของมังคุดมาต้มหรือคั่วกินเป็นของว่าง ส่วนเปลือกของมังคุดมีสารที่เรียกว่า เพกทิน (pectin) สูงมาก หลังที่ไปกำจัดสารฝาดด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นร้อยละ 6 แล้ว จะได้เจลลี่สีม่วง มีคุณสมบัติเหมือนเจลลี่ทั่วๆ ไป
  • การใช้ประโยชน์อื่นๆ  (ประโยชน์ของเนื้อมังคุด)
    – ในประเทศกานา มีการใช้กิ่งเล็กของมังคุดเคี้ยวเล่นดับกลิ่นปาก เหมือนเคี้ยวหมากฝรั่ง
    – ในประเทศจีนใช้เปลือกมังคุดไปย้อมหนังให้เป็นสีดำจากการที่เปลือกมังคุดมีสารแทนนิน(tannin) คาเทชิน (catechin) และโรซิน (rosin) อยู่ถึงร้อยละ 7-14
    –  ในประเทศไทยใช้เนื้อไม้ของมังคุดซึ่งมีสีน้ำตาลแก่ หนัก จมน้ำ มีความทนทานปานกลาง นำเผาเป็นถ่านไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ในงานฝีมือ ใช้เป็นที่นวดข้าว หรือในงานก่อสร้าง
  • การใช้ประโยชน์ทางยาและวิธีใช้พื้นบ้าน
    ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีคำถามว่า “เปลือกมังคุดใช้ทำอะไรได้บ้าง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เปลือกผลที่สุกแล้วของมังคุดเป็นยา นิยมตากแห้งเก็บไว้ใช้ แต่ส่วนอื่นๆ ของมังคุดก็สามารถนำมาใช้เป็นยาได้เช่นเดียวกัน 
    ประเทศไทย 
    ยาไทยส่วนใหญ่ใช้เปลือกผลมังคุดต้มแก้ท้องเสีย แก้บิด และรักษาแผล
    – แก้ท้องเสีย โดยใช้เปลือกผลตากแห้ง 1/2-1 ผล ต้มเปลือกมังคุดกับน้ำปูนใสดื่มแต่น้ำ  
    – แก้บิด ใช้เปลือกผลแห้ง 1/2 ผล ย่างไฟให้เกรียมฝนกับน้ำปูนใส 1/2 แก้ว ดื่มครั้งเดียวหรือใช้ผง 1 ช้อนชา ละลายน้ำข้าวหรือน้ำสุก ดื่มทุก 4 ชั่วโมง (ขนาดที่ใช้ 1/2 ผล จะได้น้ำหนักของสารสกัดประมาณ 116 +- 7 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เพียงพอในการรักษาโรคท้องร่วงเมื่อเทียบกับขนาดที่ใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรียในการทดลอง)
    – รักษาแผล  เปลือกผลต้มน้ำใช้ชะล้างแผลที่เป็นหนอง  เน่าเปื่อย  หรือจะใช้เปลือกลำต้นตากแห้ง เปลือกผลดิบหรือเปลือกผลสุกมาฝนเป็นยาทาแผล

    ประเทศอื่นๆ มีการใช้มังคุดเป็นยารักษาโรคคล้ายคลึงกันกับที่มีการใช้ประเทศไทย เช่น
    ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เปลือกไม้กินแก้บิด นำใบแห้งมาต้มดื่มแก้ไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง 
    ประเทศจีน ได้นำเข้าเปลือกมังคุดแห้งแล้วนำไปบดเป็นผงใช้เป็นยาแก้บิด นำไปสกัดใส่ยาขี้ผึ้ง (ointment) ใช้ทาแก้ผื่นแพ้ (eczema) และปัญหาทางผิวหนังอื่นๆ เปลือกผลใช้ต้มกินเพื่อรักษาอาการท้องร่วงและทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคโกโนเรีย นำเปลือกผลไปแช่น้ำค้างคืนหรือทำเป็นชาชงเพื่อรักษาอาการท้องเสียเรื้อรังทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ และใส่สารสกัดเปลือกผลผสมในโลชั่นด้วยต้องการฤทธิ์ฝาดสมาน 
    ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ใบและเปลือกต้มน้ำเพื่อรักษาอาการท้องเสีย บิด ถ่ายพยาธิ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทั้งยังเชื่อว่าการกินผลมังคุดจะควบคุมอาการไข้
    ประเทศมาเลเซีย ใช้ใบมังคุดชงผสมกล้วยดิบและใส่เบนโซอินไปเล็กน้อยใช้ทาแผลที่ขริบ ใช้รากต้มดื่มเพื่อรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ใช้เปลือกแก้บิดโดยมีการสกัดสารจากเปลือกชื่อว่า “amibiasine”  ขายในท้องตลาดเพื่อรักษาโรคบิด
    ประเทศแถบทะเลแคริบเบียน รู้จักมังคุดในชื่อของ “eau de Creole ” ซึ่งเป็นชาจากมังคุดมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงแก้อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง ชาวบราซิลดื่มชามังคุดด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ทั้งยังเชื่อว่าการกินมังคุดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเป็นปกติ

เนื้อผลมังคุด
มังคุดมี เนื้อใน 5-7 กลีบ ผลมีเมล็ด

สมุนไพรแห่งอนาคต

จากกระแสการตื่นตัวนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั่วทั้งโลก มังคุดเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากการศึกษาวิจัยล่าสุดพบประโยชน์ของมังคุดมากมาย นอกเหนือไปจากฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในอดีต
การพบสารในมังคุดที่เรียกว่า “แซนโทน (xanthones ซึ่งมีอยู่ถึง 43 ชนิด เช่น mangostin, mangostenol, mangostenone A, mangostenone B, trapezifolixanthone, tovophyllin B, alpha- and beta-mangostins, garcinone B, mangostinone, mangostanol เป็นต้น) ซึ่งมีมากในเปลือกผลและเมล็ด และมีน้อยในเนื้อผล  สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ปัจจุบันมีการสั่งเปลือกมังคุดจากประเทศไทยไปสกัดสารดังกล่าวในประเทศต่างๆ เช่น นำเข้าไปในประเทศอินเดีย โดยโรงงาน Dhanvantari Botanicals เป็นโรงงานผลิตสารสกัดและสารบริสุทธิ์ ของบริษัท Renaissance Herbs ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ซื้อเปลือกมังคุดแห้งจากเมืองไทย ซื้อแต่ละครั้งประมาณ 15 ตัน ในกิโลกรัมละ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 100 บาท) จากโรงงานทำน้ำมังคุดหรือมังคุดกระป๋องในประเทศไทยหลังจากทำการสำรวจแล้วว่าเปลือกมังคุดของประเทศไทยให้สารแซนโทนสูง 

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดมากมายทั้งในรูปแบบของการกิน เป็นยาภายนอก เป็นเครื่องสำอาง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงพอจะกล่าวได้ว่ามังคุดเป็นสมุนไพรแห่งอนาคตที่คนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ก่อนอื่นจำเป็นต้องรู้องค์ประกอบทางเคมีของสารในส่วนต่างๆ ของมังคุดก่อนดังนี้

มังคุด
มังคุดผลอ่อนสีเหลืองอมเขียว ผลแก่สุกจะเป็นผลสีม่วงดำ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.doctor.or.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

One Comment

Add a Comment