อินทผาลัม
อินทผาลัม หรือ อินทผลัม ชื่อวิทยาศาสตร์ Phoenix dactylifera L. อยู่ในวงศ์ ARECACEAE เป็นพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งนิยมปลูกในหลายทวีปทั่วโลกทั้งแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานอินทผาลัมแห้ง แต่อินทผาลัมสดนั้นให้พลังงานและมีน้ำตาลน้อยกว่า โดยทั่วไป อินทผาลัมสด มักมีรสชาติหวานและฝาด เปลือกมีสีเหลืองไปจนถึงแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทั้งนี้ อินทผาลัมอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินมากมาย เช่น ไฟเบอร์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินบี 6 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
ประโยชน์ต่อสุขภาพของอินทผาลัมสด
ประโยชน์ของอินทผาลัมสด ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของอินทผาลัมสด ดังนี้
1. อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
อินทผาลัมอุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลไม่สูงขึ้นเร็วเกินไป การบริโภคอินทผาลัมสด จึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับผลกระทบของผลอินทผาลัมต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Pakistan Journal of Medical Sciences ปี พ.ศ. 2564 โดยศึกษาข้อมูลจากบทความในงานวิจัยที่เผยแพร่ในทวีปเอเชียจำนวน 942 ชิ้น พบว่า มีอาสาสมัครในกลุ่มทดลองจำนวน 390 รายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และได้บริโภคอินทผาลัมสดเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 วัน-12 สัปดาห์ และได้มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครเหล่านั้น พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จึงสรุปว่า อินทผาลัมมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และอาจมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
2. อาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
อินทผาลัม มีสารประกอบอินทรีย์ที่ชื่อว่าเอทิล อาเซเตด (Ethyl Acetate) ซึ่งงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นสนับสนุนว่า เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งหรือต้านการเติบโตของเนื้อร้ายได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของเอทิล อาเซเตดในอินทผาลัมพันธุ์อัจวะห์ (Ajwa) ต่อการตายของเซลล์และการหยุดวงจรชีวิตของเซลล์ในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เผยแพร่ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology ปี พ.ศ. 2561 โดยทำการเพาะเลี้ยงเซลล์และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ พบว่าเอทิล อาเซเตด อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และหยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็งในระยะการสังเคราะห์ดีเอ็นเอได้
ทั้งนี้ ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดสอบในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของอินทผาลัมในการต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก
3. อาจช่วยให้คลอดลูกแบบธรรมชาติง่ายขึ้น
อินทผาลัมสดเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี มีคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลในปริมาณที่พอดี อีกทั้งสารอาหารและสารประกอบต่าง ๆ ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนความรักซึ่งจำเป็นต่อการคลอดบุตร การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจช่วยส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกให้มีระยะห่างที่สม่ำเสมอ และไม่ถี่หรือห่างเกินไปซึ่งช่วยให้การคลอดแบบธรรมชาติ เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด
การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของอินทผาลัมต่อระยะเวลาในการคลอดแบบธรรมชาติ ของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน เผยแพร่ในวารสาร Iranian Journal of Nursing and Midwifery Research ปี พ.ศ. 2560 โดยมีการตั้งสมมติฐานว่า การบริโภคอินทผาลัมอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงได้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ อายุ 18-35 ปี จำนวน 182 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 91 ราย โดยกลุ่มแรกบริโภคอินทผาลัม 70-76 กรัม/วัน จากสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด ส่วนอีกกลุ่มไม่บริโภคอินทผาลัมเพิ่มเติม แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะเวลาขณะที่คลอดแบบธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่พบคือ ระยะเวลาคลอดโดยเฉลี่ย ของผู้หญิงกลุ่มที่บริโภคอินทผาลัม น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภคอินทผาลัมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความจำเป็นในการใช้ฮอร์โมนออกซิโทซินเพื่อกระตุ้นช่วยให้คลอดง่ายขึ้นก็น้อยกว่าเช่นกัน
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบริโภคอินทผาลัมอาจมีคุณสมบัติส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และทำให้คลอดง่ายขึ้น
4. อาจมีฤทธิ์ต้านจุลชีพได้
อินทผาลัม อุดมไปด้วยใยอาหารและเป็นแหล่งสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและต้านจุลินทรีย์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังและโรคทางลำไส้ การบริโภคอินทผาลัมจึงอาจช่วยต้านแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและลำไส้ได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องฤทธิ์ของน้ำเชื่อมอินทผาลัม ในการต้านแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus หรือ S.aureus) และแบคทีเรียเอสเชอริเดียโคไล (Escherichia Coli หรือ E. coli) ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Microbiology ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า น้ำเชื่อมอินทผาลัมมีสารโพลีฟีนอล ซึ่งอาจมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสแตปฟิโลค็อกคัสออเรียสที่เป็นสาเหตุของโรคอักเสบทางผิวหนัง และแบคทีเรียอีโคไลซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดิน ด้วยการก่อห้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่นในแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดสอบในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติต้านแบคทีเรียของอินทผาลัม
นอกจากนั้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติและสารประกอบของอินทผาลัมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร การสร้างและการสลายตัวของแบคทีเรีย และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เผยแพร่ในวารสาร Journal of Nutritional Science พ.ศ. 2557 โดยทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า สารโพลีฟีนอล ในอินทผาลัมมีคุณสมบัติในการช่วยลดการเจริญเติบโตของจำนวนจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายแบคทีเรีย และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อควรระวังในการบริโภคอินทผาลัมสด
อินทผาลัมสด เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยน้ำตาลฟรักโทสและมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index) การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นไม่มากนัก และค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ป่วยเบาหวานหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง หรือท้องเสียได้
วิธีกินอินทผาลัมสด กัดผลอินทผลัมตรงกลาง หรือให้กัดตามแนวยาวของผล จะทำให้รสชาติไม่ค่อยฝาด
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://hellokhunmor.com
ภาพประกอบ : www.flickr.com
โทษของอินทผาลัมสด ประโยชน์ โทษของการกินอินทผาลัมสด