มะม่วง
มะม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L. วงศ์ Anacardiaceae มีถิ่นกำเนิดมาจากเขตติดต่อระหว่างอินเดียและพม่า ปัจจุบันพบมะม่วงในตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เวสอินเดีย อาฟริกาตะวันออกและใต้ อียิปต์ และ อิสราเอล สำหรับในประเทศไทยมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์

โรคและแมลงศัตรูมะม่วง
โรคและแมลงในระยะแตกยอดใหม่จนถึงระยะใบแก่
แมลงที่สำคัญในระยะนี้ คือ
- หนอนผีเสื้อเจาะยอดอ่อนมะม่วง (Chlumetia transversa Walker) ตัวเต็มวัยจะวางไข่หรือกิ่งอ่อน ยอดอ่อน เมื่อฟักเป็นตัวหนอน หนอนเจาะกินเข้าไปอยู่ในยอดอ่อน ทำให้ยอดอ่อนเหนือรอยเจาะเหี่ยวแห้ง
- ด้วงงวงกัดใบไม้ (Hypomeces squamosus F.) เรียกว่าแมลงค่อมทอง หรือแมงสะแกง ตัวเต็มวัยสีเขียวใบไม้ปนน้ำตาล มีความยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ด้วงวางไข่จามก้านใบทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินใบ ถ้าหากทำลายมากจะทำให้เหลือแต่ยอด
- ด้วงตัดใบ (Deporaus marginatus Pascoe) ด้วงชนิดนี้ตัวเต็มวัยสีน้ำตาล ขนาดลำตัวกว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร ชอบทำลายใบขณะใบอ่อนเริ่มคลี่ โดยกัดกินผิวใบด้านล่างของใบ ทำให้ด้านบนแห้ง ถ้าทำลายมากทำให้ใบร่วงเหลือแต่ยอดกิ่ง การวางไข่จะวางไข่ที่ใบอ่อนและกัดเส้นกลางใบขาดห้อยให้ตัวอ่อนม้วนกินอยู่ เมื่อลมพัดใบจะขาดร่วงลงดิน ใบที่เหลือจึงขาดวิ่น
-
เพลี้ยไฟ (Scirtothrips dorsalis) ตัวขนาดเล็กมาก สีเหลืองอ่อนหรือส้ม เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน หรือตามด้านล่างของใบอ่อน โดยเฉพาะบริเวณปลายใบ ยอดอ่อนที่เพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจะมีสีน้ำตาล ใบที่ถูกทำลายบริเวณปลายใบและขอบใบไหม้ ขอบใบม้วนลง ใบอาจแห้งถึงครึ่งใบ
- หนอนชอนเปลือกกิ่งมะม่วง (Spulerina isonoma Meyrick) ในระยะแตกยอดใหม่ใกล้แก่หรือระยะใบเพสลาดมักมีหนอนผีเสื้อกินใต้ผิวเปลือกของกิ่ง กินถึงไหนจะทำให้เปลือกกิ่งที่มีสีเขียวเปลี่ยนเยื่อสีน้ำตาล ตัวหนอนขนาดเล็กจะอยู่ภายใน ถ้าหลายตัวกัดกินรอบกิ่งทำให้ยอดที่แตกใหม่แห้งตายได้
- เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้า (Idioscopus sp.) เป็นแมลงขนาดเล็กตัวยาว 3.5-4 มิลลิเมตร หัวป้านท้องเรียวลงเล็กน้อยมีขาคู่หลังกระโดได้ดี ลำตัวสีเขียวอ่อนออกน้ำตาล มีจุดเล็กๆสีดำหรือเหลืองประปรายทั่วตัว วางไข่ตามด้านใต้เส้นแถบกลาง ยอดอ่อน เมื่อฟักเป็นตัวจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ส่วนต่างๆ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้แห้ง ถ้าเป็นกับช่อดอกทำให้ช่อดอกแห้งหรือผลร่วงในระยะเล็ก
โรคในมะม่วง
โรคที่สำคัญ ในระยะนี้มักจะพบว่าเป็นกับใบอ่อน กิ่งอ่อน ใบแก่ ช่อดอก ผลอ่อน และผลในที่บ่ม ก็คือ
โรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum gloeosporioides) เชื้อจะอยู่ทั่วไปในอากาศและตามส่วนต่างๆของมะม่วงที่เป็นโรค เชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง เช่น ในช่วงฝนตกชุก ช่วงที่มีหมอกน้ำค้างมาก เชื้อจะระบาดรวดเร็ว ดังนั้นในระยะแตกกิ่งใหม่จึงควรป้องกันไม่ให้มะม่วงเป็นโรค อาการของโรค เมื่อเชื้อเข้าทำลายใบอ่อนจะเห็นเป็นแผลเล็กๆ สีน้ำตาล ถ้าเป็นมากจะลุกลามทำให้ใบแห้งและร่วงได้ ถ้าเกิดกับกิ่งอ่อนทำให้กิ่งแห้งตายจากยอดลงมาในกิ่งแก่ถ้าเกิดแผลเชื้อก็จะเข้าทำลายได้ ถ้าเกิดบนผลทำให้ผลเน่าและบริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีดำ บางครั้งทำความเสียหายในขณะขนส่งและขณะบ่ม ถ้าโรคแอนแทรคโนสระบาดในระยะมะม่วงแทงช่อดอก จะทำให้ช่อดอกหรือส่วนของดอกเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล หลังจากนั้นดอกจะร่วงหล่นไป ในระยะผลอ่อนทำให้ผลอ่อนร่วง
การป้องกันกำจัดแมลงและโรคในระยะแตกยอดใหม่จนถึงระยะใบแก่
- หนอนเจาะยอดและด้วงกัดกินใบ ควรป้องกันในระยะเริ่มแทงยอดใหม่ ขนาดประมาณ 2.54 เซนติเมตร โดยฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงคาบาริล ชื่อการค้า เซฟวิน 85 อัตรา 2-3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บ
- เพลี้ยไฟหนอนชอนเปลือกกิ่ง และเพลี้ยจั๊กจั่น ถ้าพบระบาดควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น ไดเมธโอเอท ในอัตรา 30-40 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตรหรือสารไพรีทรอย
- โรคแอนแทรคโนส ใช้สารเคมีกำจัดโรคไซแนบผสมมาแนบ ชื่อการค้า เช่น เอชินแมก ไดเทนเอ็ม-45 และไตรแมนโซน ใช้อัตรา 2-3 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 ปี๊บ หรือสารเคมีกำจัดโรคเบโนมิล เช่น เบนเลท หรือฟันตาโซล หรือยาคาเบนดาซิมก็ได้
การใช้สารเคมีกำจัดแมลงกับสารเคมีกำจัดโรคในตัวยาที่กล่าวมาแล้วสามารถผสมกันได้ โดยไม่เกิดอันตรายต่อมะม่วงที่ปลูกและในระยะแตกใบอ่อนจนเป็นใบแก่ ขอแนะนำให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและโรคประมาณ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในระยะเริ่มแทงยอดใหม่ขนาด 2.54 เซนติเมตร ฉีดพ่นยาครั้งที่ 2 หลังฉีดครั้งแรก 10-14 วัน และฉีดพ่นครั้งที่ 3 หลังฉีดพ่นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10-14 วัน เช่นกัน

โรคและแมลงศัตรูในมะม่วงระยะแทงช่อดอกและติดผล
แมลงศัตรูที่สำคัญในระยะแทงช่อดอกถึงติดผล
- หนอนผีเสื้อเจาะช่อดอกอ่อน เป็นชนิดเดียวกับหนอนผีเสื้อเจาะยอดอ่อน
- ด้วงงวงกัดกินดอก เป็นชนิดเดียวกับด้วงงวงกัดกินใบ
- เพลี้ยไฟช่อดอก ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ช่อดอก ทำให้ดอกแห้งหรือช่อดอกไม่ยืดแก ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผลอ่อนทำให้ผลอ่อนบิดเบี้ยวหรือเปลี่ยนสีเป็นแบบเดียวกับสีของละมุด
- หนอนผีเสื้อกินดอก
- เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้า จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนทำให้ช่อมะม่วงแห้งและผลร่วง ฤดูที่มะม่วงแทงช่อดอก เป็นช่วงที่เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้าขยายพันธุ์และวางไข่ตามยอดอ่อน ก้านช่อดอก ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย แต่ไม่มีปีกและมีขนาดเล็กกว่า ตัวอ่อนจะลอกคราบหลายครั้ง นอกจากนี้เพลี้ยจักจั่นยังขับถ่ายของเหลวที่มีรสหวานออกมาด้วย ซึ่งทำให้เกิดราดำขึ้นบนน้ำหวาน จะพบว่าช่อดอก ใบ กิ่ง เป็นสีดำ ถ้ากำจัดเพลี้ยหมดไปราดำก็จะหมดไปด้วย การกำจัดอาจใช้สารเคมีกำจัดแมลง คาร์บาริลหรือไพรีทรอยก็ได้
โรคในระยะช่อดอกที่สำคัญ
- โรคแอนแทรคโนส จะเข้าทำลายใบและระบาดในระยะแทงช่อดอกด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่มีหมอก มีน้ำค้างมาก เชื้อจะเจริญที่ดอกและช่อดอก ทำให้ดอกแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วง
- โรคราแป้ง เป็นโรคที่สำคัญในระยะช่อดอกและติดผลโรคหนึ่งของมะม่วงโดยเฉพาะในเขตที่มีอากาศเย็น อาการจะมีลักษณะเป็นแป้งฝุ่นสีขาวที่ช่อดอก โดยเชื้อจะเข้าทำลายที่โคนก้านดอกย่อย โดยเฉพาะจะทำให้ช่อดอกร่วงหมด ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้โรคแพร่กระจายลงมาทางโคนก้านช่อทำให้ช่อแห้งหรือบางทีไม่แห้งแต่มีรอยขีด สีน้ำตาล ถ้าเป็นกับผลจะทำให้ผลแตกบุ๋ม แผลเป็นรูปแฉกหรือรูปดาว
สาเหตุเกิดจาก Oidium mangiferae กลุ่มโคโลนีจะถูกพัดพาไปโดยลมจากส่วนที่เป็นโรคไปยังส่วนปกติอื่นๆ เมื่อเชื้อไปติดบริเวณโคนก้านดอกย่อยเชื้อจะเจริญผลิตสปอร์ของราสีขาวได้ภายใน 5 วัน หลังจากเชื้อเข้าไป รามีชีวิตอยู่โดยอาศัยอยู่ที่เซลล์ผิวก้านของดอก ช่อดอก ผลอ่อน ทำให้ผลแตกรูปหลายแฉก แผลบุ๋มหรือแห้งร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดโรค เช่น ซาพรอน หรืออาฟูกาน อัตรา 10-20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะแทงช่อดอกถึงติดผล
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูในมะม่วงระยะแทงช่อดอกและติดผล
- ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงในระยะช่อดอกยาว 1.27-2.54 เซนติเมตร
- ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงในระยะช่อดอกยืดแต่ยังไม่บาน โดยฉีดห่างครั้งแรก 7-10 วัน เมื่อดอกบานแล้วปล่อยให้แมลงช่วยผสมเกสร เมื่อติผลแล้วจึงป้องกันกำจัดแมลงและโรคต่อ
- ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงหลังติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด พร้อมใส่ปุ๋ย
- ถ้าไม่มีแมลงทำลายฉีดพ่นแต่สารเคมีป้องกันโรคและปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยทางดินถ้ามีน้ำให้ ถ้าไม่มีน้ำฉีดพ่นทางใบ
– ให้น้ำหลังจากติดผลขนาดเมล็ดถั่วเขียว ในพื้นที่มีน้ำจะช่วยให้ผลเจริญเติบโตได้ดี
โรคและแมลงศัตรูในระยะมะม่วงติดผลใหญ่
แมลงวันผลไม้เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด ในระยะที่มะม่วงติดผลใหญ่แล้ว การป้องกันกำจัดที่ได้ผลดี ต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้คือ
- ห่อผลเมื่ออายุประมาณ 50-70 วัน หลังติดผล เป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดและยังช่วยให้ผลมะม่วงมีคุณภาพดีขึ้นด้วย โดยใช้ถุงสีน้ำตาลห่อมะม่วงพันธุ์ที่ไม่ต้องการแสงแดดช่วยเปลี่ยนสีผิวหรือมะม่วงพันธุ์ที่สุกผิวผลสีเหลือง เช่น มะม่วงพันธุ์นวลคำ และถุงสีขาวใช้ห่อมะม่วงพันธุ์ที่ต้องการแสงแดดเพื่อเปลี่ยนสีผิว เช่น มะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์ เออร์วิน และอาร์ทูอีทู
- ใช้สารเมทธิยูจีนอลผสมสารเคมีกำจัดแมลง พวกมาลาไธออน อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ชุบสำลีไล่กับดักล่อแมลงวันทองตัวผู้ เพื่อลดการเกิดของแมลง
- ใช้ยีสโฮโดรไลซีส เช่น นาสิมาน ผสมสารเคมีกำจัดแมลงพวกมาลาไธออนฉีดพ่นที่ใบเพื่อล่อทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยใช้ยีสโฮโดรไลซีส 200 ซีซี. ผสมมาลาไธออน 8 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 70 ซีซี. ผสมน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นใบมะม่วงที่แก่จัดต้นละประมาณ 1 ตารางฟุต หรือพ่นที่วัชพืชและต้นไม้อื่นๆ ในช่วงตอนเช้าตรู่เมื่อแมลงวันค่อมทองมาตอมก็จะตายทั้งตัวผู้ตัวเมีย
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://hkm.hrdi.or.th/
ภาพประกอบ : www.phtnet.org, https://pantip.com/
นอกจากโรคของมะม่วงแล้วก็ยังมีแมลงศัตรูพืช ที่คอยทำลายมะม่วงเช่นกัน
โรคที่เกิดกับมะม่วงตั้งแต่ออกใบ ออกดอก จนไปถึงออกผล พร้อมวิธีป้องกัน