ไม้เต็ง ไม้ดอกหอม ช่อดอกมีขน ผลเป็นรูปไข่ ทั้งยังแปรรูปได้ด้วย
ชื่ออื่นๆ : แงะ(ภาคเหนือ), จิก (ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ), เต็งขาว(ขอนแก่น), ชันตก (ตราด), เน่าใน (แม่ฮ่องสอน), ประจั๊ด
(เขมร บุรีรัมย์), ล่าไน้ (กะเหรี่ยง), แลเน่ย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ต้นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสามัญ : Siamese Sal, Burma Sal,Thitya
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea obtusa Wall. ex Blume
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCAPACEAE
ลักษณะของไม้เต็ง
- ใบไม้เต็ง มีใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ขนาด 4 – 7 x 10 – 16 ซม. โคนและปลายมน เนื้อใบหนา เป็นมันใบอ่อน มีขนประปราย เนื้อใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่ เกลี้ยงเป็นมัน ก่อนหลุดร่วงเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองเส้นแขนงใน มี 12 – 15 คู่ ปลายเส้นส่วนมากจรดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านท้องใบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย
- ดอกไม้เต็ง เล็ก ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขนนุ่ม ขอบโคนกลีบรองกลีบดอกเกยซ้อนกันแต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เวียนกันตามเข้มนาฬิกาเป็นรูปกังหัน ก้านดอกสั้นมาก ดอก สีขาว เกสรผู้ มี 20 – 25 อัน รังไข่ รูปรี ๆ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 หน่วย
- ผลไม้เต็ง รูปไข่เล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้งโคนปีกผล ซึ่งมีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ปีกยาวรูปขอบขนานแกมไข่กลับ ยาวประมาณ 6 ซม. มีเส้นตามยาวปีก 9 เส้น ผลอ่อน สีเขียว ผลแก่ สีน้ำตาลแดง
การขยายพันธุ์ของไม้เต็ง
- ขยายพันธุ์โดยการเมล็ดโดยวิธีธรรมชาติ
- ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง
ประโยชน์ของไม้เต็ง
- เนื้อไม้เต็ง ใช้ทำเป็นโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน คาน เสาบ้าน เนื้อไม้ทนทานแข็งแรง
สรรพคุณทางยาของไม้เต็ง
- ไม้และเปลือกไม้เต็ง ให้น้ำฝาดชนิด Pyrogallol ใช้เป็นยาสมานแผล ห้ามโลหิต เปลือก ใช้ฝนกับน้ำปูนใส เป็นยาสมานแผลเรื้อรังและแผลพุพอง
- รากไม้เต็ง แก้ท้องเสีย แก้บิด เป็นยาห้ามโลหิต ยาสมานท้อง
- เปลือกต้นไม้เต็ง ยาสมานท้อง สมานแผลเรื้อรัง สามนแผลพุพอง
- แก่นไม้เต็ง แก้กระษัย แก้เลือดลม
- ยางไม้เต็ง แก้บิด ปิดธาตุ แก้ฝีในท้อง สมานบาดแผล แก้น้ำเหลืองเสีย
- ใบไม้เต็ง รักษาบางแผลแผลพุพองของเด็ก
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ยับยั้ง HIV -1 reverse transcriptase
การแปรรูปของไม้เต็ง
ไม้เต็ง เป็นไม้ที่ดีและราคาไม่แพงมากนัก อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายกว่าไม้ตัวอื่น มักจะนิยมนำมาแปรรูปใช้กันในอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงงานตกแต่งทั้งภายในและภายนอก อาทิเช่น เสาเรือนไม้ ไม้พื้น (ต้องอบ) ไม้บันได ไม้ฝ้าเพดาน บัวไม้ คานไม้เพื่อโชว์ และ ไม้แปรรูปทั่วไป แต่เนื่องจากเป็นไม้ที่มีความถ่วงจำเพาะสูงจึงไม่ค่อยนิยม ใช้ ทำวงกบ บานประตู และ หน้าต่าง เป็นต้น แหล่งไม้ พบได้ในประเทศไทย ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
References : www.bedo.or.th
ภาพประกอบ : www.qsbg.org
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม