การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา วิธีใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา

ในสภาวะปัจจุบันสภาพดินในแปลงปลูกพืชทั่วไปมีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมี ปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีอย่างหนัก โดยไม่เคยปรับปรุงบำรุงดิน จึงทำให้ประสบปัญหาการระบาดของโรคเชื้อราทางดิน ซึ่งเมื่อพืชเป็นโรคแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ การใช้สารเคมีจึงเป็นการสิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า นอกจากนั้นยังทำให้เกิดปัญหา หลายประการ การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อป้องกันกำจัดโรคร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน จึงเป็นวิธีการที่มี ประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และยังมีความปลอดภัยสูง วิธีการนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับเกษตร

เชื้อราไตรโคเดอร์มา

ชื่อสามัญ : Trichoderma 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichoderma harzianum 

ชื่อวงศ์ : Moniliaceae 

ลักษณะของเชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูต่อเชื้อราโรคพืชหลายชนิด มีสีเขียว เจริญเติบโตได้ดีในดิน บนเศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิต และสามารถเป็นปรสิต (Parasite) โดยการพันรัด เส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืชแล้วสร้างเอนไซม์ เช่น ไคติเนส (chitinase) เบต้า-1,3 กลูคาเนส (B-1,3glucanase) และเซลลูเลส (cellulose) ย่อยสลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช จากนั้นจึงแทงเส้นใยเข้าไปเจริญอยู่ภายในเส้นใยโรคพืช ทำให้สูญเสียความมีชีวิตลง นอกจากนี้ยังมีความสามารถสูงในการแข่งขัน (Competition) กับเชื้อโรคพืชด้านการใช้อาหาร เจริญเติบโตสร้างเส้นใยและสปอร์ได้อย่างรวดเร็ว บางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร (antibiotics)เพื่อยับยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อโรคจนเกิดการเหี่ยวสลาย(lysis)และตายได้ 

เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อจุลินทรีย์ มีสีเขียว

กลไกในการควบคุมเชื้อราโรคพืช

  1. เจริญแข่งขัน แก่งแย่งอาหาร น้ำ แร่ธาตุ อากาศ และแหล่งที่อยู่กับเชื้อราสาเหตุโรคพืช จึงทำให้เชื้อโรคลดปริมาณ ลงอย่างรวดเร็ว
  2. เป็นปรสิต สร้างเส้นใยพันรัดและแทงดูดกินน้ำเลี้ยง จากเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้เส้นใยสลายลดการขยาย เผ่าพันธุ์ลง 
  3. สร้างสารพิษ น้ำย่อย ไปทำลายเชื้อราโรคพืชทำให้เส้นใย และส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา โรคพืชเหี่ยวสลาย และตายในที่สุด

เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช ดังนี้

เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชทางดินได้มากกว่า 10 ชนิด ที่สำคัญได้แก่ 

  1. เชื้อราพิเทียม สาเหตุโรคกล้าเน่า เมล็ดเน่า เน่ายุบ และเน่าคอดิน
  2. เชื้อราไฟทอปธอร่า สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่า โรคเลทไบลท์
  3. เชื้อราสเคลอโรเทียม สาเหตุโรคโคนเน่า โรครากเน่า (ราเมล็ดผักกาดขาว)
  4. เชื้อราไรช็อคดทเนีย สาเหตุโรคกล้าเน่า โคนเน่าขาว รากเน่า
  5. เชื้อราฟิวซาเรียม สาเหตุโรคเหี่ยว
เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เจริญเติบโตได้ดีในดิน บนเศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิต

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด สามารถใช้ได้หลายวิธีตามโอกาสและความสะดวกของเกษตรกร เช่น ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนักสำหรับใส่หลุมปลูก อัตรา 10-20 กรัม (1-2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด+ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาตร (20%) นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช กรณีของการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี และถ้าต้องการเชื้อสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช หรือใช้ปล่อยไปพร้อมระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่มของพืช และใช้แช่ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่นเมล็ด หัว เหง้า แง่ง ท่อนพันธุ์ ก็ได้ 

วิธีการนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าไปใช้

  1. การคลุกเมล็ด ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด) 1-2 ช้อนแกง (10-20 กรัม) ต่อเมล็ดพืช 1 กก. โดยคลุกเคล้าให้เข้า กันในถุงอาจเติมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้สปอร์ของเชื้อราเคลือบติดบนผิวของเมล็ดพืชได้ดียิ่งขึ้น
  2. การรองก้นหลุมและการหว่าน ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. บวกลำละเอียด 5 กก. บวกปุ๋ยหมัก 40 กก. รองก้นหลุม ปลูกในพืชผัก พืชสวน 10-20 กรัม/ต้น หว่านในแปลงปลูก 50-100 กรัม/ตารางเมตร และในพืชสวนหว่านใต้ทรงพุ่มในอัตรา 3-5 กก./ต้น
  3. การผสมกับวัสดุปลูก ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด)ที่ผสมแล้วกับวัสดุผสม 1 ส่วน กับวัสดุปลูก 4 ส่วน คลุกเคล้า ให้เข้ากันก่อนบรรจุลงในภาชนะเพาะเมล็ด เพาะกล้า 
  4. การผสมน้ำฉีดพ่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด) 1 กก. ต่อน้ำ 100 ลิตร โดยกวนล้างสปอร์ในน้ำ 20 ลิตรก่อน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์เทลงถังฉีดพ่นและเติมน้ำจนเต็ม 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในแปลงกล้าโคนต้นพืช และฉีดพ่นทางใบ
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช

ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. ลดปริมาณของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช โดยเข้าไปขัดขวางหรือทำลายเชื้อที่เป็นสาเหตุโรคพืช เช่น โรครากเน่า โคนเน่า อาการใบด่าง โรคแคงเกอร์ 
  2. เพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช โดยเพิ่มการสร้างดอก เพิ่มขนาด ความสูง น้ำหนัก ทำให้พืช เจริญเติบโตดี และยังช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นเมื่อคลุกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ต้นกล้าแข็งแรง 
  3. กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรค พืชมีระบบรากดี แข็งแรง จึงทำให้ต้านทานโรคได้ดี
  4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับแร่ธาตุอาหารของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะช่วยละลายธาตุอาหาร เช่น แมงกานีสออกไซด์ สังกะสี ฟอสเฟต ทำให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่ายขึ้น

กลไกการทำงานของเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสปอร์หรือเส้นใยได้จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถแข่งขันกับเชื้อ โรคที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้
  2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช โดยเข้าไปเบียดเบียน แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเชื้อราที่เป็นสาเหตุ โรคพืช
  3. การทำลายโดยตรง ด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร ดังนั้นเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสาร ปฏิชีวนะ เช่น น้ำย่อย หรือเอนไซม์ เพื่อหยุดยั้งหรือไปทำลายเส้นใยของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชได้ 
  4. สร้างสารปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อเชื้อโรคพืชชนิดอื่น โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถชักนำให้พืชผลิตสาร เช่น เอนไซม์หรือโปรตีน ที่ช่วยให้พืชเกิดความต้านทานโรคได้

การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. หุงข้าวให้สุก จากนั้นตักข้าวใส่ถุงพลาสติกใส ถุงละ 150 กรัม หรือประมาณ 2 ทัพพี
  2. นำหัวเชื้อไตรโคเตอร์มาชนิดผงแห้ง (หาซื้อได้ในร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตร) ใส่ลงไปในปริมาณเล็กน้อย แล้วคลุกให้ทั่วกับข้าวในถุง 
  3. รัดปากถุงด้วยยางรัด ให้มีพื้นที่ภายในถุงมากที่สุด จากนั้นใช้เข็มเจาะรูประมาณ 15 รู บริเวณปากถุงที่รัด ยางไว้บริเวณเพื่อระบายอากาศ 
  4. นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวกประมาณ 3-7 วัน สังเกตดูจะเห็นเชื้อเดินเต็มถุง ซึ่งจะเป็น สีเขียว เราก็จะได้เชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้ใช้
การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยการนำหัวเชื้อมาคลุกกับข้าวแล้วมัดถุง

ข้อควรระวังในการผลิต

  1. ควรหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติเท่านั้น เพราะการใช้หม้อหุงข้าวชนิดที่ใช้แก๊ซ อาจทำให้ข้าวไหม้ หรือการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำมักได้ข้าวที่แฉะเกินไป ข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะมีลักษณะเป็นไตขาวอยู่บ้าง จัดเป็นลักษณะที่ดี
  2. ต้องตักข้าวที่หุงแล้วใส่ถุงพลาสติก ขณะที่ข้าวกำลังร้อน เพื่อให้ความร้อนในถุงข้าวทำลายจุลินทรีย์ จากอากาศที่อาจปนเปื้อนอยู่ในถุงข้าว 
  3. การใช้เข็มแทงรอบบริเวณปากถุงที่รัดยางไว้ควรแทงไม่น้อยกว่า 15 จุด / ถุง เพราะถ้าอากาศไม่สามารถ ระบายถ่ายเทได้ดี เชื้อจะเจริญไม่ทั่วทั้งถุง 
  4. อย่าลืมขยำข้าวเมื่อบ่มเชื้อครบ 2 วัน ( หลังใส่เชื้อ ) และกดข้าวให้แผ่แบนราบมากที่สุดอีกครั้งหลังขยำข้าวแล้ว ดึงถุงให้โป่งขึ้นเพื่อมีอากาศในถุงห้ามวางถุงทับซ้อนกัน 
  5. ป้องกันอย่าให้ มด แมลง หรือสัตว์มากัดแทะถุงข้าว
  6. ถ้าพบเชื้อสีชมพู สีส้ม สีเหลือง หรือสีดำ ในถุงใด้ ให้นำถุงเชื้อดังกล่าวไปทิ้งขยะ หรือทิ้งใส่หลุมชนิดฝังกลบโดยไม่ต้องเปิดปากถุง 

ข้อควรระวังในการเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. ควรเก็บรักษาผงเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด 
  2. ไม่ควรผสมผงเชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกับสารเคมี หรือปุ๋ยเคมีชนิดต่าง

ข้อควรระวังในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดนี้เป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่ออยู่ในสภาพอุณหภูมิปกติ โดยสปอร์ของเชื้อซึ่งมีสีเขียวเข้มจะงอกและเจริญกลับเป็นเส้นใยสีขาวใหม่อีกครั้ง เส้นใยดังกล่าวจะอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมภายนอกถุง ดังนั้น ต้องนำเชื้อสดไปใช้ทันที หรือหากผู้ใช้ยังไม่พร้อม ที่จะใช้เชื้อสดทันทีต้องเก็บรักษาเชื้อสดไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บไว้นาน เกินกว่า 15 วัน 
  2. ควรฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็น
  3. ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นแห้งมาก ควรให้น้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่นเพื่อให้น้ำพาเชื้อซึมลงดินและความชื้นในดินจะช่วยให้เชื้อเจริญได้ดี
  4. ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เหมาะกับการใช้ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมัก โดยสมบูรณ์แล้ว (เย็นแล้ว) หรือเป็นปุ๋ยที่กองทิ้งไว้จนเก่าแล้ว ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย
  5. ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดคลุกเคล้าหรือผสมร่วมกับเชื้อไตรโคเดอร์มา
  6. เมื่อผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มากับรำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ให้ใช้หว่านทันที ห้ามบรรจุลงใน กระสอบหรือกองทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดความร้อนในกองปุ๋ย เป็นอันตรายต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้
  7. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้ก่อนปลูกพืชรุ่นใหม่ทุกครั้ง ในกรณีของการปลูกพืช ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชไร่ หรือใช้ปีละ 2-3 ครั้ง ในกรณีของไม้ผลยืนต้น (ใช้บ่อยๆ ไม่มี อันตรายต่อพืช) 
  8. ควรใช้เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ คลุมผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ ซึ่งจะช่วยให้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญได้ดี และมีชีวิตอยู่รอดในดินได้นานยิ่งขึ้น 
  9. เชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูกและสภาพแวดล้อม
  10. ถ้าดินปลูกเป็นกรดจัด ค่า pH ต่ำประมาณ 3.5-4.5 ต้องปรับค่า pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ก่อนที่จะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เจริญเติบโตบนซากอินทรีย์วัตถุตามธรรมชาติ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่, www.sci.ru.ac.th, www.wisdomking.or.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com, www.youtube.com

One Comment

Add a Comment