ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกต้นยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส (Eucalyptus) เป็นพรรณไม้มีถิ่นกำเนิดในเกาะแทสเมเนีย ทวีปออสเตรเลีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะมินดาเนา เซลีเบส ปาปัวนิวกินี ในพื้นที่ชุ่มที่มีน้ำขังในเขตร้อน ยูคาลิปตัส มีทั้งหมดมากกว่า 500 ชนิด (Species) มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และ พบว่า ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเกือบทุกสภาพพื้นที่ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูง จึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

ต้นยูคาลิปตัส
ต้นยูคาลิปตัส ไม้ยืนต้น ลำต้นเปลาตรง

ทำไมยูคาลิปตัสถึงโตเร็ว?

หลายคนคงเคยได้ยินว่า ยูคาลิปตัสโตเร็วมากและสามารถหาสารอาหารในดินได้เก่งกว่าพืชชนิดอื่น อันนี้เป็นผลมาจากยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่มีพื้นที่ของกระพี้(xylem)มาก ทำให้มีพื้นที่ลำเลียงน้ำขึ้นสู่เรือนยอดมากตามไปด้วย เนื่องจากแนวโน้มการดูดน้ำของต้นไม้แต่ละต้นมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของกระพี้ในลำต้นเป็นสำคัญ อีกทั้งยูคาลิปตัสยังมีระบบรากที่แผ่ขยายเร็วและสามารถหยั่งลงไปในดินได้ในระดับลึก จึงมีประสิทธิภาพในการเสาะแสวงหาแหล่งน้ำใต้ดินได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ

ใบยูคาลิปตัส
ใบยูคาลิปตัส ใบรูปหอก ก้านใบยาว

ข้อดีของยูคาลิปตัส

  1. โตเร็ว สามารถใช้ประโยชน์ได้ภาย 4-5 ปี มีการลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น
  2. เจริญเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
  3. มีประสิทธิภาพสูงในการใช้น้ำและธาตุอาหารน้อยสำหรับการเจริญเติบโต
  4. ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้นได้ โดยการเป็นไม้เบิกนำที่ดี
  5. มีความสามารถในการแตกหน่อ
  6. มีเนื้อไม้แข็งแรง ลำต้นตรง
  7. กิ่งก้านใช้ทำฟืนถ่านที่มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูง ไม่แตกขณะเผาและไม่มีควัน คุณภาพถ่านใกล้เคียงถ่านจากไม้โกงกาง
  8. เมื่ออายุ 3-6 ปี เนื้อไม้มีความเหมาะสมสำหรับผลิตเยื่อกระดาษจากการประเมินเยื่อไม้ยูคาลิปตัส 1 ตัน ผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน เยื่อไม้ยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับ ไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียวประเภทต่างๆ ได้
  9. ทำชิ้นไม้สับ ไม้ยูคาลิปตัสเมื่อนำมาแปรรูปและสับทำชิ้นไม้สับ สามารถนำไปผลิตแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นปาร์ติเกิล และแผ่นไม้อัดซีเมนต์ นอกจากนี้ได้มีโรงงานผลิตชิ้นไม้สับ เพื่อนำส่งไปจำหน่ายให้กับโรงงานเยื่อกระดาษทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการสูงมาก ไม้ท่อนยูคาลิปตัส 2.2 ตัน นำมาผลิตเป็นชิ้นไม้สับได้ 1 ตัน ราคาชิ้นไม้สับ ประมาณตันละ 3,000 บาทเศษ
  10. ช่วยทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ อันเนื่องจากปริมาณน้ำที่ต้นไม้ยูคาลิปตัสดูดขึ้นไปคายน้ำออกทางใบ เป็นปริมาณกว่า 95% มีส่วนช่วยทำให้ฝนตก ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน

ข้อเสียของยูคาลิปตัส

  1. เป็นไม้ที่มีความสามารถในการแก่งแย่งทางด้านเรือนรากสูง มีการแก่งแย่งความชื้นได้ดี หากปริมาณความชื้นในดินต่ำหรือฝนตกน้อยไม้ยูคาลิปตัสจะดูดความชื้นจากดินไปหมด ทำให้การเจริญเติบโตของพืชชั้นล่างและไม้ข้างเคียงชะงัก
  2. ใบสดของยูคาลิปตัสมีน้ำมันหอมระเหยสะสมอยู่ ซึ่งถ้ามีปริมาณความเข้มข้นสูงจะสามารถยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของพืชอื่นได้
  3. เป็นไม้ที่มีศักยภาพต่ำในการปลูกเพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  4. คุณภาพเนื้อไม้ยูคาลิปตัสเมื่อแปรรูปจะบิดงอได้ง่าย เนื้อไม้มีเสี้ยนบิดเป็นเกลียวและแตกร้าว จึงเหมาะสมสำหรับใช้งานหน้าแคบและสั้น

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://envi-mining.dpim.go.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment