ชะมวง
ชื่ออื่นๆ : ส้มป้อง, มะป่อง, หมากโมก, มวงส้ม, กะมวง, มวง, ส้มมวง, กานิ, ตระมูง, ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง, ส้มป่อง
ชื่อสามัญ : ชะมวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb
ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE
ลักษณะของชะมวง
ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ต้นอายุมากมีเปลือกแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกลำต้นมักเกิดไลเคนเกาะหรือมีราเติบโตทำให้มองเห็นเป็นสีขาวของรา และสีเขียวของไลเคน โดยเฉพาะต้นที่โตบริเวณป่าดิบชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ เมื่อถากเปลือกจะพบเนื้อเปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้ม ใบชะมวง เป็นใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก มีรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ เมื่อเคี้ยวจะมีรสเปรี้ยว

การขยายพันธุ์ของชะมวง
การใช้เมล็ด, การตอนกิ่ง, การปักชำ ต้นชะมวงนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในป่าดิบชื้น และพบได้มากในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน
การปลูกและการดูแล
นำเมล็ดเพาะชำลงในถุงขนาด 5×8 ซม. เมื่องอกขึ้นมาจนมีใบจริง 2-3 ใบ หรือมีความสูงประมาณ 10 ซม. จึงถอนให้เหลือเพียง 1 ต้น แล้วนำลงปลูกในหลุมหรือปลูกโดยใช้กิ่งตอนหรือปักชำราก ขุดหลุมกว้างและลึก 30 ซม. รองก้นด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋คอกแล้วใช้ดินกลบทับปุ๋ยเล็กน้อยก่อนนำต้นกล้าลงปลูกและกลบดินรอบโคนต้นให้เรียบร้อย ในช่วงแรกรดน้ำทุกวันจนตั้งตัวได้ ปล่อยให้ลำต้นสูง 1-2 เมตร จึงตัดยอดทิ้งเพื่อมิให้มีความสูงเกินไป การเด็ดยอดบ่อยๆ จะทำให้ยอดอ่อนแตกออกมาอยู่ตลอดเวลา
ธาตุอาหารหลักที่ชะมวงต้องการ
ประโยชน์ของชะมวง
- ผลชะมวงสุกสีเหลืองใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือจะนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้
- ยอดอ่อนหรือใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่นแจ่ว หรือนำไปใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น
- ผลและใบอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยจะมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะดัน (การรับประทานมาก ๆ จะเป็นยาระบายท้องเหมือนดอกขี้เหล็ก)
- ผลและใบแก่เมื่อนำมาหมักจะให้กรด ซึ่งนำมาใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้แกะสลักรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี
- ต้นชะมวงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ให้ร่มเงาได้ดี
- ลำต้นหรือเนื้อไม้ชะมวงสามารถนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ
- เปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
- น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง สมัยก่อนนำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงา
- ยอดอ่อนชะมวงเมื่อนำไปหมักกับจุลินทรีย์จะทำให้เกิดรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ย
คำแนะนำ
- ใบชะมวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเลือดเสีย ช่วยขับระดูของสตรี สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานชะมวง อาจทำให้แท้งได้
- ยางจากผลชะมวง ทำให้เกิดการฝืดในช่องปาก ทำให้ติดฟัน

สรรพคุณทางยาของชะมวง
- ช่วยฟอกโลหิต (ผลอ่อน, ใบ) แก้โลหิต (ใบ)
- ช่วยรักษาธาตุพิการ (ผล,ใบ,ดอก)
- ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)
- ช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล, ใบ)
- ช่วยแก้อาการไอ (ผล, ใบ) บ้างก็ว่าเนื้อไม้ช่วยแก้อาการไอได้เช่นกัน (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก) เสมหะเป็นพิษ (ราก) ช่วยขับเสมหะ (เนื้อไม้)
- ใช้เป็นยาระบายท้อง (ผลอ่อน, ใบ, ดอก)ส่วนตำยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากชะมวง ผสมกับรากกำแพงเจ็ดชั้น รากตูมกาขาว และรากปอด่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก) บ้างก็ว่าเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (เนื้อไม้)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)
- รากช่วยแก้บิด (ราก) หรือจะใช้ผลนำมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้ดินเป็นยาแก้บิดก็ได้เช่นกัน (ผล)
- ใบชะมวงใช้ผสมกับยาชนิดอื่น ๆ ใช้ปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)
- ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)
- ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)
- แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา (แก่น)
- ได้มีการค้นพบสารชนิดใหม่จากใบชะมวง และได้มีการตั้งชื่อว่า “ชะมวงโอน” (Chamuangone) ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้ดี (ทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร (เชื้อ Helicobacter pylori) ช่วยยับยั้งเชื้อโพรโทซัว Leishmania major (เป็นโรคระบาดที่เคยพบในภาคใต้) ได้เป็นอย่างดี
คุณค่าทางโภชนาการของชะมวง
การแปรรูปของชะมวง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11880&SystemType=BEDO
http://rspg.svc.ac.th
http://hort.ezathai.org
https://arit.kpru.ac.th
https://www.flickr.com