ตะเคียน เป็นไม้ใหญ่มีอายุยืน ประโยชน์และสรรพคุณทางยา

ต้นตะเคียน

ชื่ออื่นๆ : ตะเคียน,  ตะเคียนทอง, กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) แคน (ตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย) จะเคียน (เหนือ) จืองา (มลายู นราธิวาส) จูเค้, โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ตะเคียนใหญ่ (กลาง) ตะเคียนทอง (กลาง, ประจวบคีรีขันธ์) ไพร (ละว้า เชียงใหม่)

ชื่อสามัญ : Iron wood, Malabar iron wood, Takian, Thingan, Sace, Takian

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea odorata Roxb.

ชื่อวงศ์ : Dipterocarpaceae

ลักษณะของต้นตะเคียน

ต้นตะเคียน เป็นพันธุ์ไม้สกุล Hopea รวมอยู่ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เ ป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่แพ้ไม้ยางหรือไม้ยูง ไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกจะเรียบ แต่พอต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวย กิ่งอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อละเอียด ใบรูปไข่แกม รูปหอกเกลี้ยงเป็นมัน ลักษณะคล้ายใบตะเคียนชันตาแมว แต่ในตะเคียนทองมีข้อสังเกตได้ตรง ที่ง่ามแขนงใบที่ติดกับเส้นกลางใบ มักมีตุ่มหูดเกลี้ยง ๆ ติดอยู่เสมอ ดอกเล็ก ๆ สีขาวกลิ่นหอม ออกรวมกัน เป็นช่อโตๆ ตามง่ามใบ ดอกจะเรียงกันเป็นแถวบนก้านแขนงช่อ ช่อจะมีขนเทา ๆ ทั่ว ๆ ไป ทั้งกลีบดอก และกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ ผล รูปกระสวยเล็ก ๆ มีปีกยาว 2 ปีก และปีกสั้น 3 ปีก ปีกยาวแต่ละปีกมีเส้นตามยาว 7 เส้น เป็นพันธุ์ไม้ในเขตมรสุมของเอเชีย ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มและชุ่มชื้น เช่น ตามชายหนอง คลอง บึง ในบ้านเมืองเรา ตะเคียนสามารถขึ้นได้ทุกภาค จึงมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ เช่น กะกี้ โกกี้ แคน จะเคียน จูเค้ โซเก ตะเคียน ตะเคียนใหญ่ และไพร เป็นต้น ในช่วงแรกไม่ชอบแดดจัดถ้านำต้นเล็กมาปลูก ในที่โล่ง ไม่มีร่มเงาจะไม่ค่อยเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ เมล็ดควรจะเก็บจากต้น คือ สังเกตุพอเห็นปีกเริ่มเป็นสีน้ำตาลก็เก็บได้เลย แล้วรีบนำมาเพาะทันที หากทิ้งไว้นานเปอร์เซ็นต์การงอก จะน้อยมาก

ต้นตะเคียน
ต้นตะเคียน ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ แต่พอต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด
ใบตะเคียน
ใบตะเคียน ใบรูปไข่แกม รูปหอกเกลี้ยงเป็นมัน

ประโยชน์ของต้นตะเคียน

  1. ไม้ตะเคียน จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน หน้าต่าง วงกบประตู ทำพื้นกระดาน ฝ้าหลังคา รั้วไม้ หีบใส่ของ ด้ามเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ พานท้ายและรางปืน หรือใช้ทำสะพาน ต่อเรือ ทำเรือมาด เรือขุด เรือแคนู เสาโป๊ะ กระโดงเรือ ทำรถลาก ทำหมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ กังหัน เกวียน หูกทอผ้า ทำไม้ฟืน ฯลฯ ไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียวและเด้ง
  2. เปลือกต้นให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol
  3. ชันจากไม้ตะเคียนใช้ทำน้ำมันชักเงาตบแต่งเครื่องใช้ในร่ม ใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ หรือใช้ผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ เช่น ใช้สำหรับทาเคลือบเรือเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้และป้องกันเพรียงทำลาย เป็นต้น
  4. ใบตะเคียนมีสารแทนนินอยู่ประมาณ 10% โดยน้ำหนักแห้ง ส่วนในเปลือกต้นก็มีสารประกอบนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยคุณสมบัติของแทนนินที่ได้จากไม้ตะเคียนทองนี้ เมื่อนำมาใช้ฟอกหนังจะช่วยทำให้แผ่นหนังแข็งขึ้นกว่าเดิม จึงเหมาะกับการนำมาใช้เฉพาะงานได้เป็นอย่างดี
  5. ใช้ปลูกตามป่าหรือตามสวนสมุนไพรเพื่อเป็นไม้บังลม เพื่อให้ร่มเงา และช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพราะไม้เป็นไม้ไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นไม้ที่ช่วยรักษาความเขียวได้ตลอดปี ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากตะเคียนเป็นไม้ใหญ่มีอายุยืนนาน และชอบอยู่ในที่ชุ่มชื้น จึงทำให้เกิดนิยายเกี่ยวกับผีสางนางไม้ของ ต้นตะเคียนเสมอ บางบ้านที่เอาต้นตะเคียนมาทำเสา พอมีน้ำมันไหลซึมออกมาก็ต้องนำไปเซ่นไหว้บูชา เพื่อลุแก่โทษทันที มิฉะนั้นอำนาจของนางไม้ในต้นตะเคียนจะทำให้เจ้าของและบริวารในบ้านไม่มีความสุข จะเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ต้นที่อยู่ในป่าบางทีก็จะมีผ้าแดงไปคาดไว้ และทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่อยากจะกล้ำกราย เข้าใกล้ทีเดียว ยิ่งต้นใหญ่ ๆ ที่มีอายุมาก ๆ จะไม่เข้าไปตัดโค่น แถมบางทีเวลาผ่านต้องกราบไหว้เสียอีก นับว่าเป็นการสงวนพันธุ์แม่ไม้ได้อย่างดี ไม่น่าที่ความเชื่อถือแบบนี้ในปัจจุบันจะหดหายลงไปเลย

สรรพคุณทางยาของต้นตะเคียน

1. แก่นมีรสขมอมหวาน มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตและกำเดา (แก่น)
2. ช่วยคุมธาตุ (เนื้อไม้)[10] ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)
3. ช่วยแก้ไข้สัมประชวร หรือไข้ที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ และมักมีอาการแสดงที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น (แก่น)
4. แก่นไม้ตะเคียน ใช้ผสมกับยารักษาทางเลือดลม กษัย (แก่น)
5. ช่วยแก้อาการลงแดง (เปลือกต้น)
6. ช่วยขับเสมหะ (แก่น)
7. เปลือกต้นนำมาต้มกับเกลือ ใช้อมช่วยป้องกันฟันหลุด เนื่องจากินยาเข้าปรอท (เปลือกต้น)
8. ช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม (แก่น)
9. ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ (เปลือกต้น)
10. ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก (เปลือกต้น)
11. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
12. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (แก่น,เนื้อไม้)
13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ยาง)
14. ช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
15. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
16. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง (เปลือกต้น)
17. ช่วยแก้อาการอักเสบ (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
18. ยางใช้ผสมกับน้ำใช้ทารักษาบาดแผล หรือจะทำเป็นยางแห้งบดเป็นผงใช้รักษาบาดแผล
19. เปลือกเนื้อไม้มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้ฆ่าเชื้อโรค (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
20. ยางจากไม้ตะเคียนเมื่อนำมาบดเป็นผง สามารถใช้เป็นยารักษาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น ใช้ทำยาหม่องเพื่อช่วยบรรเทารักษาบาดแผลหรือบริเวณที่มีอาการฟกช้ำตามร่างกาย (ยาง)
21. ช่วยรักษาคุดทะราด (แก่น)
22. ดอกใช้เข้าในตำรับยาเกสรร้อยแปด ใช้ผสมเป็นยาทิพย์เกสร (ดอก)
23. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะเคียนทอง มีข้อมูลระบุว่ามีฤทธิ์แก้แพ้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9593&SystemType=BEDO
www.arit.kpru.ac.th
www.flickr.com

Add a Comment