ว่านหอม
ชื่ออื่นๆ : ว่านหอม (ภาคอีสาน)เปราะหอมแดง หอมเปราะ (ภาคกลาง) ว่านตีนดิน ว่านแผ่นดินเย็น ว่านหอม (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Sand Ginger, Aromatic Ginger, Resurrection Lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia galanga L.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ลักษณะของว่านหอม
ว่านหอม พืชล้มลุก อายุปีเดียว มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า เนื้อภายในสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก มีกลิ่มหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน แผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย มีขนอ่อนบริเวณท้องใบ บางครั้งอาจพบขอบใบมีสีแดงคล้ำ เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วแผ่ราบบนหน้าดิน ดอกมีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูแต้มสีม่วง

ประโยชน์ของว่านหอม
- หัวและใบ ใช้ในการปรุงเป็นอาหารได้
- เป็นว่านเมตตามหานิยม หากมีปลูกไว้ที่บ้านหรือร้านค้าจะดี ยิ่งว่านเจริญงอกงามดีจะยิ่งส่งผลให้เจ้าของมีโชคลาภและเจริญรุ่งเรือง หัวว่านใช้หุงน้ำมัน หรือตำผสมอาบน้ำว่าน หรือแช่น้ำมันจันทน์ จะเป็นมหาเสน่ห์ยิ่งนัก หรือใช้หัวว่านพกพาติดตัว เพราะเป็นยอดทางเสน่ห์เมตตามหานิยม จึงเป็นที่นิยมใช้ทั้งเรื่องการค้าขาย และการทำให้เป็นที่นิยมแก่ผู้คน

สรรพคุณทางยาของว่านหอม
ส่วนที่ใช้ : ดอก ต้น หัว ใบทั้งสด หรือ แห้ง
สรรพคุณ : เปราะหอมขาว
- ดอก แก้เด็กนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา
- ต้น ขับเลือดเน่าของสตรี
- ใบ ใช้ปรุงเป็นผักรับประทานได้
- หัว
– แก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ
– ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับแกง สุมศีรษะเด็ก แก้หวัด คัดจมูก รับประทานขับลมในลำไส้
สรรพคุณ : เปราะหอมแดง
- ใบ แก้เกลื้อนช้าง
- ดอก แก้โรคตา
- ต้น แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
- หัว ขับเลือด และหนองให้ตก แก้ลมพิษ แก้ผื่นคัน แก้ไอ แก้บาดแผล
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง ใช้เปราะหอมสด 10-15 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัวสดใช้ 1/2-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 ครั้ง
หัวและใบ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับลม
วิธีและปริมาณที่ใช้ – ใช้หัวสด 10-15 กรัม แห้ง 5-10 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 คร้ง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11685&SystemType=BEDO
https://www.flickr.com