ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นอาหาร วัตถุดิบ ที่อยู่อาศัย และแม้กระทั่งยารักษาโรค ไผ่ในแถบร้อนของเอเชีย มีการกระจายพันธุ์ถึง 45 สกุล 750 ชนิด (Dransfield, 1980 อ้างใน สมยศ, 2536) ในขณะที่ไผ่ทั่วโลกเท่าที่รู้ในปัจจุบันมีประมาณ 75 สกุล 1,250 ชนิด (Sharma, 1980 อ้างใน สมยศ, 2536) ส่วนที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 13 สกุล 60 ชนิด (กรมป่าไม้, 2531 อ้างใน สมยศ, 2536) แต่วนิดา (2539) กล่าวว่าไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีทั้งหมด 1,250 ชนิด 65 สกุลในโลก ในประเทศไทยมีไผ่ 55 ชนิด 13 สกุล ชนิดไผ่ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์จากป่ามีดังนี้ คือ ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ซาง (ไผ่นวล ไผ่ปล้อง หรือไผ่สีนวล) ไผ่บงหวาน ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่รวกดำ และไผ่ป่า (ไผ่หนาม)
โดยทั่วไปการขยายพันธุ์ไผ่นอกจากการเพาะจากเมล็ดไผ่แล้ว จะทำการขยายพันธุ์โดยการแยกลำพร้อมเหง้า การปักชำส่วนของลำ การปักชำกิ่ง การแยกกอขนาดเล็ก และการตอนกิ่ง
ไผ่สามารถขยายพันธุ์ได้ 5 วิธี คือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แยกเหง้า ชำปล้อง และการขยายพันธุ์โดยการปักชำแขนง ซึ่งมีวิธีทำดังนี้
1. การเพาะเมล็ด
1.1 การเก็บเมล็ดพันธุ์
- เมล็ดไผ่เมื่อแก่จัดจะร่วงลงพื้น ให้ทำความสะอาดหรือถางโคนต้นให้เตียน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมเมล็ดไผ่ หรือใช้วัสดุหรือตาข่ายรองรับเมล็ดพันธุ์ไผ่ กรณีเขย่าต้นให้เมล็ดร่วงจากต้น
- รวบรวม เมล็ดพันธุ์ไผ่ที่ได้ ทำการฝัดด้วยกระด้งจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์
- นำเมล็ดที่สมบูรณ์มาขัด นวดเอาเปลือกออกโดยใช้พื้นรองเท้าแตะฟองน้ำ ขัดนวดเมล็ดบนกระด้ง และฝัดเอาเปลือกออก
- นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดด ประมาณ 1 แดด จึงนำไปเพาะได้ เพื่อป้องกันแมลงและไม่ควรเก็บเมล็ดไว้เกิน 1 เดือน เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง
1.2 วิธีการเพาะกล้าไผ่
- เมล็ดไผ่ที่จะเพาะ ให้ขัดเอาเปลือกนอกออกก่อน เพื่อให้เมล็ดงอกเร็วและเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
- นำเมล็ดไปแช่น้ำ 2 คืน หรือแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วแช่น้ำอีก 1 คืน
- นำเมล็ดขึ้นจากน้ำ แล้วห่อหุ้มเมล็ดด้วยผ้ารดน้ำให้ชื้นอยู่เสมอประมาณ 2 คืน เมล็ดจะเริ่มงอก
- นำเมล็ดที่เริ่มงอกไปลงแปลงเพาะที่มีขี้เถ้าแกลบผสมดินและทรายรองพื้นหนาประมาณ 4 นิ้ว หว่านเมล็ดแล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 1 เซนติเมตร คลุมแปลงด้วยวัดสุคลุมดิน เช่น หญ้าแห้ง และฟางข้าว
- ทำการย้ายกล้า ภายหลังจากการเพาะลงแปลงแล้วประมาณ 15 วัน ซึ่งต้นกล้าไผ่จะมีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ย้ายกล้าที่แข็งแรงลงถุงเพาะและอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร ประมาณ 6-8 เดือน ก็นำไปปลูกต่อไป
2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เราสามารถใช้ต้นกล้าไผ่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการนำต้นกล้ามาขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะชำกิ่งแขนงออกดอกและตาย เพราะกิ่งแขนงที่นำมาจากต้นแม่ที่มีอายุมากพร้อมที่จะออกดอกกิ่งแขนงนั้นจะมีอายุเท่ากับต้นแม่ ฉะนั้นเมื่อต้นแม่ออกดอก กิ่งแขนงที่นำไปปลูกจะออกดอกตายด้วยเช่นกัน
3. การขยายพันธุ์โดยการแยกกอ เหง้า
การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องคัดเลือกเหง้าที่มีอยู่ 1-2 ปี จะตัดให้ตอสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วทำการขุดเหง้ากับตอออกจากกอแม่เดิม โดยระวังอย่าให้ตาที่คอเหง้าแตกเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อต่อไป ส่วนหน่อขนาดเล็กที่ขุดขึ้นมา สามารถแยกกอไปปลูกได้เช่นกัน การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้เหง้าแม่ที่สะสมอาหารอยู่มากจึงมีอัตราการอดตายสูงทำให้หน่อแข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าวิธีขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ ได้พันธุ์ตรงกับสายพันธุ์เดิม
4. การขยายพันธุ์โดยใช้ลำ
การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1 ปี แล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1 ข้อ ซึ่งการใช้ท่อนตัด 1 ข้อ จะต้องตัดตรงกลางและให้รอยตัดทั้งสองห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ และควรเป็นลำที่มีแขนงติดอยู่โดยจะต้องตัดให้แขนงเหลือยาวประมาณ 1 คืบด้วย จากนั้นจึงนำไปชำในแปลงเพาะชำ โดยวางให้ข้ออยู่ระดับดินและให้ตาหงายขึ้น ระวังอย่าให้ตาได้รับอันตราย แล้วใส่น้ำลงในปล้องไผ่ให้เต็ม และคอยเติมน้ำให้อยู่เต็มอยู่เสมอ
การเพาะวิธีนี้จะต้องหมั่นดูแลรดน้ำให้ความชุ่มชื่นอยู่เสมอหลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์จะพบหน่อและรากแตกออกมา เมื่อหน่อแทงรากแข็งแรงเต็มที่ ประมาณ 6-12 เดือน จึงทำการย้ายปลูกได้
5. การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนงปัก
เมื่อได้คัดเลือกกิ่งแขนงแล้ว ทำการตัดแยกกิ่งแขนงออกจากลำไผ่ จากนั้นตัดปลายกิ่งออกให้เหลือยาว 80-100 เซนติเมตร การปักชำควรจะทำในปลายฤดูฝนหรือในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก
แถมด้วย VDO ตัดหน่อไม้ไผ่หวาน ไผ่หวาน
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// www.bamboofarm.org/about-bamboo
https://www.flickr.com