ผักไชยา
ผักไชยา ต้นผงชูรส หรือคะน้าเม็กซิโก มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักชายา ผักโขมต้น ต้นผงชูรส ต้นมะละกอกินใบ ชื่อสามัญ Tree spinach, chaya, chaiya ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnidoscolus chayamansa McVaugh เป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา ฝิ่นต้น หนุมานนั่งแท่น สลัดได และสบู่ดำ คะน้าเม็กซิโกไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย แต่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของประเทศเม็กซิโก ในแถบของคาบสมุทรยูกาตัน พบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในกัวเตมาลา และอเมริกากลาง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ ลำต้นมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นอวบน้ำ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวอยู่ภายใน ลักษณะของใบคล้ายกับใบเมเปิ้ล ขอบใบแยกออกเป็น 3-4 แฉก ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง

การขยายพันธุ์
ทำได้โดยการนำกิ่งที่ค่อนข้างแก่มาตัดเป็นท่อนๆ แล้วชำลงถุงดำ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ (กิ่งจะเริ่มแตกใบอ่อน รอให้ต้นแข็งแรงจึงย้ายลงปลูกในดิน)
ขั้นตอนการปลูก
- เตรียมสถานที่ พื้นที่ เตรียมดิน ที่จะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการ
- นำกิ่งที่ชำไว้มาปักลงในดินพร้อมปลูก หรือขุดหลุมให้ลึกพอประมาณ ฝังกิ่งลงไปแล้วกลบดินให้แน่น ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 2-5 ฟุต ตามเหมาะสม แล้วรดน้ำ
การดูแล
หลังปลูก ประมาณ 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเล็กน้อย ถ้าไม่แห้งแล้งจนเกินไป ไม่ต้องรดน้ำบ่อย แนะนำให้ใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ทำเอง หลังจากที่ปลูกแล้วประมาณ 2 เดือน ขึ้นไป ก็สามารถเก็บมาทำอาหารได้แล้ว เพราะจะเลี้ยงง่าย-โตไว. ยิ่งตัดกิ่ง ก็ยิ่งออกกิ่งอ่อนมากขึ้น ดังนั้นจึงควรปลูกไว้ประจำบ้าน จะได้มีผักไชยากินตลอดปี

การนำมารับประทาน
ส่วนที่นิยมนำมารับประทานคือใบและยอดอ่อน ซึ่งมีรสชาติคล้ายกับคะน้า หลังจากเด็ดยอดอ่อนมา ให้นำมาปอกเปลือก ตัดใบ แล้วแยกก้านใบทิ้งเพราะส่วนนี้จะแข็งมาก ไม่นิยมนำมารับประทาน หลังจากล้างน้ำให้สะอาดแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร เช่นเดียวกับผักคะน้าหรือผักทั่วๆ ไป เช่น ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด ลวกทำยำหรือจิ้มกับน้ำพริก ผัดเผ็ด ผัดน้ำมันจิ้มน้ำพริก ทำราดหน้า ผัดกับไข่ หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือทำแกงส้ม
แม้ในบางพื้นที่จะมีการรับประทานไชยาแบบดิบและขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบดังกล่าว แต่เนื่องจากใบและยอดของคะน้าเม็กซิโกมีสารพิษในกลุ่มไฮโดรไซยานิก ไกลโคไซด์ (hydrocyanic glycosides) หากได้รับในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการพิษจากการได้รับสารไซยาไนด์ (cyanide) ได้ ซึ่งสารดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นก่อนรับประทานทุกครั้ง ควรทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนอย่างน้อย 15-20 นาที และไม่แนะนำให้รับประทานแบบดิบ
หลายคนอาจสับสนระหว่างไชยากับพืชอื่นๆ เช่น มะละกอ และฝิ่นต้น เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยที่ฝิ่นต้นนั้นเป็นพืชพิษ หากน้ำยางถูกผิวหนังจะระคายเคือง คัน บวมแดง อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน พองเป็นตุ่มน้ำใส ถ้าโดนตาจะทำให้ตาอักเสบ อาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวร ถ้ารับประทานเมล็ดเข้าไปจะทำให้ปากบวมพอง น้ำลายไหล เยื่อบุแก้ม ลิ้น เพดาน และหน้าบวม ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด กระเพาะอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการชาตามแขนขาหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว และหากรับประทานเมล็ดในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนรับประทานควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นไชยาไม่ใช่พืชชนิดอื่นที่เป็นพิษ

สารสำคัญ
สารสำคัญที่พบในไชยาเป็นสารในกลุ่ม flavonoids และ phenolic acids นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่ม saponins และ alkaloids ด้วย
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
พบว่าไชยามีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด และลดไขมันในเลือด แต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาในรูปแบบของสารสกัดและสารสำคัญที่แยกได้จากส่วนใบ เช่น สารในกลุ่ม flavonoids, alkaloids และยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง
การศึกษาความเป็นพิษ
การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด CHCl3:MeOH ของใบในหนูเม้าส์ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 2 ก./กก. และการให้สารสกัดในขนาด 1 ก./กก. เป็นเวลานาน 28 วัน ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษกับสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดเข้าทางกระเพาะอาหาร และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบของอาหาร แต่สำหรับผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการรับประทานไชยา

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://pharmacy.mahidol.ac.th, https://vijjaram.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com
พิษของผักไชยา สารสำคัญในไชยา
วิธีปลูก การปลูกผักไชยา