อาหารประจำจังหวัดอุบลราชธานี วิธีทำลาบหมาน้อย กับ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ปี 2566

ลาบหมาน้อย

ต้นเครือหมาน้อย
ต้นเครือหมาน้อยใบรูปหัวใจมีขนปกคลุม

หมาน้อย หรือ เครือหมาน้อย มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น กรุงเขมา  กรุงเขมา หมอน้อย ก้นปิด ขงเขมา พระพาย เปล้าเลือด สีฟัน  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman. ลักษณะของต้นหมาน้อยจะเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มักจะเลื้อยปกคลุมค้างหรือต้นไม้เป็นพุ่มแบบไม่มีมือเกาะ มีรากที่สามารถสะสมอาหารใต้ดินได้ ใบของหมาน้อยจะเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจสีเขียวลักษณะก้นปิด ออกในสลับกันตามเครือเถา ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมไม่ระคายเคือง ขอบใบเรียบ ดอกจะออกเป็นกระจุกสีขาวขนาดเล็ก มีผลสีส้มอวบโตยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลแดงและมีเมล็ดโค้งงอเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก

เมนูลาบหมาน้อย
ลาบหมาน้อยหรือวุ้นหมาน้อย

ลาบหมาน้อย หรือวุ้นหมาน้อย อาหารตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นในภาคอีสาน ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาหารประจำจังหวัดอุบลราชธานี หรืออาหารประจำถิ่น ตามการดำเนินการจัดกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามประกาศของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566

วันนี้เกษตรตำบลมีวิธีทำลาบหมาน้อย เมนูอาหารพื้นบ้านอีสาน ของจังหวัดอุบลราชธานี มาฝากกันค่ะ เรามาดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยค่ะ

ส่วนผสมลาบหมาน้อย

  1. เนื้อปลา
  2. พริกป่น
  3. ข้าวคั่ว
  4. ปลาร้า
  5. ตะไคร้หั่น
  6. ข่า
  7. มะเขือขื่น
  8. ถั่วฝักยาว
  9. หอมแดง
  10. ใบหมาน้อย
  11. น้ำปลา
  12. สะระแหน่
  13. ผักชี
  14. ต้นหอม
    ส่วนผสม
    ส่วนผสมในการทำลาบหมาน้อย

วิธีทำลาบหมาน้อย

  1. เลือกใบหมาน้อยที่แก่เต็มที่ ประมาณ 15- 20 ใบ และใบย่านาง 4-5 ใบ มาล้างให้สะอาด แล้วคั้นหรือขยี้กับน้ำสะอาดเพื่อความปลอดภัยใช้น้ำต้มสุก ประมาณ 1 ถ้วย ขณะที่คั้นใบ น้ำคั้นจะมีลักษณะเป็นเมือกข้น คั้นจนเมือกออกจากใบหมดแล้ว กรองเอากากใบออก 
    ขย้ำใบหมาน้อย
    นำใบหมาน้อยและน้ำมาใส่รวมกัน แล้วขยำให้ได้น้ำสีเขียว
  2. ต้มปลาเพื่อทำป่นปลา ซึ่งอาจจะใช้ปลาช่อน ปลาหมอ หรือปลาดุกก็ได้ ปรุงน้ำต้มด้วยน้ำปลาร้า และเกลือ ต้มจนปลาสุกดี 
  3. การทำป่นปลา โดยนำพริกที่คั่วมาโขลกให้แตกแต่ไม่ต้องละเอียด แล้วจึงแกะเนื้อปลาต้มลงไปโขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นเทน้ำที่ใช้ต้มปลาลงไปและคนให้เข้ากันดี จากนั้นใส่พริกป่นและข้าวคั่ว ปรุงรสชาติให้ออกรสเค็มนิดหน่อยด้วยน้ำปลาหรือเกลือ เมื่อนำรวมกับน้ำคั้นหมาน้อยก็จะได้รสชาติพอดี
  4. เตรียมหอมแดง ต้นหอม ผักชี ตะไคร้ สะระแหน่ มะเขือขื่น ถั่วฝักยาว ข่าหั่นฝอย  และข้าวคั่วและพริกป่น
  5. นำป่นปลามาเทรวมกับน้ำคั้นใบหมาน้อย แล้วคนให้เข้ากัน 
  6. ใส่หัวหอม สะระแหน่ มะเขือขื่น ถั่วฝักยาวซอย ลงไปผสมรวมกับใบคั้นหมาน้อย และคนให้เข้ากัน ชิมและปรุงรสให้พอดีตามต้องการ เพียงเท่านี้ก็ได้ลาบหมาน้อยแล้ว
ลาบหมาน้อย
นำทุกอย่างใส่รวมกัน แล้วคนให้เข้ากัน

การรับประทานลาบหมาน้อยสามารถรับประทานได้ทั้งในขณะยังไม่แข็งตัวและแข็งตัว หากชอบแบบที่แข็งตัวแล้ว เมื่อปรุงเสร็จทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ลาบหมาน้อยจึงจะแข็งตัวและแยกออกจากน้ำ สามารถรับประทานเป็นกับข้าว หรืออาหารว่างก็ได้

เป็นยังไงกันบ้างค่ะกับวิธีการทำลาบหมาน้อย เมนูที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลากหลายชนิด ยังไงแล้วลองทำกันดูได้นะค่ะ หรือหากได้มาเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี ก็สามารถหาเมนูนี้ทานกันได้ค่ะ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.prd.go.th
ภาพประกอบ : www.youtube.com

2 Comments

Add a Comment