กระท้อน
กระท้อน รูปทรงกลมแป้น ผิวมีขนคล้ายกำมะหยี่อ่อนนุ่ม ผลอ่อนจะมีสีเขียวมีน้ำยางสีขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีน้ำยางที่น้อยลง ผลกระท้อน มีขนาดประมาณ 5-15 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ด 4-5 เมล็ดและมีปุยสีขาว ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ และเมล็ดมีรูปรีมีปลอกเหนียวห่อหุ้มอยู่ นิยมนำผลมารับประทานเป็นทั้งอาหารคาวหวาน เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อยและรสสัมผัสที่นุ่มละมุน
ประโยชน์ของกระท้อน
- กระท้อนมีประโยชน์ ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้ทำอาหารคาวหวานได้หลากชนิด เช่น แกงคั่ว แกงฮังเล ผัด ตำกระท้อน ส่วนอาหารหวานก็เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง กระท้อนกวน กระท้อนแช่อิ่ม เยลลี่กระท้อน แยมกระท้อน น้ำกระท้อน หรือใช้กินเป็นผลไม้สดก็ได้เช่นกัน (ผล)
- ประโยชน์กระท้อน ลำต้นใช้ทำเป็นไม้ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ทำไม้กระดาน เป็นต้น (ต้น)
- ประโยชน์ของกระท้อน กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์เย็น จึงเหมาะกับผู้ที่เกิดในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ซึ่งธาตุเจ้าเรือนอยู่ในธาตุน้ำ
- สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน กระท้อน 100 กรัมมีไฟเบอร์ถึง 1.26 กรัม เทียบเป็น 8.4% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ซึ่งไฟเบอร์จะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างโปรไบโอติกส์ได้มากขึ้น และเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ป้องกันฟันผุ เพราะการรับประทานกระท้อนจะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งเจ้าน้ำลายนี่ล่ะค่ะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุได้เป็นอย่างดี
- ลดระดับคอเลสเตอรอล กระท้อนเป็นแหล่งที่อุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากไฟเบอร์ชนิดนี้จะเข้าไปลดระดับไขมันในเส้นเลือด อีกทั้งเพคตินที่อยู่ในกระท้อนก็ยังคอยช่วยดักจับคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง และสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย
- แก้ท้องเสีย แม้ว่าการรับประทานไฟเบอร์มากไปจะกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานหนักจนอาจกลายเป็นอาการท้องเสีย แต่สำหรับคนที่ท้องเสียแล้ว กระท้อนช่วยได้ค่ะ โดยเฉพาะรากของกระท้อน หากนำมาต้มน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องเสีย และบิด ไม่เพียงเท่านั้นเพราะไฟเบอร์ที่อยู่ในกระท้อน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็ยังสามารถช่วยปรับระบบการทำงานของลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย
- อุดมด้วยวิตามิน กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบีและซี ซึ่งจะช่วยรักษาป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟันได้ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้วิตามินบีในกระท้อนก็ยังมีส่วนในการกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น และป้องกันความเสี่ยงโรคพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน กระท้อนคือผลไม้ยอดคุณที่ไม่ควรพลาด เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนยังเข้าไปช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำตาลที่มาจากอาหารถูกย่อยเป็นกลูโคสช้าลง และยับยั้งไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งกระท้อนยังมีน้ำตาลต่ำ กินเข้าไปแล้วไม่กระทบกันระดับน้ำตาลของผู้ป่วยแน่นอน
- ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูงของกระท้อน จึงทำให้กระท้อนกลายเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนนั้นจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องห่วงว่าจะท้องผูก หรือเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนจนเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้เลยล่ะ
- ตัวช่วยลดน้ำหนัก หวานน้อยและไฟเบอร์มาก เป็นคุณสมบัติที่ดีของอาหารที่ควรรับประทานในช่วงลดน้ำหนัก และกระท้อนก็คือหนึ่งในนั้นค่ะ การรับประทานกระท้อนจะช่วยให้ได้รับไฟเบอร์มากขึ้น ทำให้อิ่มนาน และไม่หิวบ่อย ส่วนน้ำตาลที่อยู่ในกระท้อนก็ยังเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติที่ร่างกายนำไปใช้ได้ทันทีอีกด้วย
- รักษาโรคผิวหนัง นอกจากเป็นอาหารที่ถูกปากแล้ว กระท้อนก็ยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย โดยใบของกระท้อนสามารถนำมาบดเพื่อรักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผื่น กลาก และโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้
สรรพคุณทางยาของกระท้อน
- ใช้ทำเป็นยาธาตุ (ราก)
- ใช้ใบสดต้มอาบแก้ไข้ (ใบ)
- ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
- รากกระท้อนช่วยแก้บิด (ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ราก)
- ใช้ทำเป็นยาขับลม (ราก)
- กระท้อนมีสรรพคุณใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผล)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (เปลือก)
- หลายส่วนของกระท้อนมีสรรพคุณออกฤทธิ์แก้อาการอักเสบ
- สารสกัดจากเมล็ดกระท้อนมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง
- สารสกัดจากกิ่งกระท้อนมีผลยับยั้งมะเร็งในหลอดทดลองได้
คำเตือน
กระท้อน เป็นผลไม้ที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง จึงไม่ค่อยเหมาะนักสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะโพแทสเซียมสูงอยู่แล้ว จึงต้องควบคุมการรับประทานโพแทสเซียมเป็นพิเศษ สำหรับกระท้อนดองและแช่อิ่มที่วางขายทั่วไปตามตลาด มักมีการเติมสารฟอกขาวลงไป เพื่อให้กระท้อนดูสีขาวสดใสน่ารับประทาน ซึ่งหากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะเกิดอาการอักเสบตามอวัยวะที่สัมผัส เช่น ปากและกระเพาะอาหาร รวมไปถึงมีอาการแน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียน
ข้อควรระวังในการรับประทานกระท้อน
แม้กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและช่วยบำรุงสุขภาพ แต่ก็ควรจะรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเมล็ดของกระท้อนมีลักษณะค่อนข้างใหญ่และลื่น หากไม่ระวังอาจจะไหลติดคอจนทำให้หายใจไม่ออกได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดกระท้อนจะดีที่สุด นอกจากนี้ควรรับประทานผลกระท้อนในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะถ้าหากกินเยอะมากไป อาจจะทำให้เกิดท้องเสียได้ค่ะ
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9368&SystemType=BEDO
https://khaolan.redcross.or.th
https://mcpswis.mcp.ac.th
https://www.flickr.com
3 Comments