วิธีการปลูกกล้วยตานี ลักษณะใบกล้วยตานี การเก็บใบตอง

กล้วยตานี

กล้วยตานี (Musa balbisianaColla) ชื่ออื่น ๆ กล้วยงู (พิจิตร), กล้วยชะนีใน, กล้วยตานีใน, กล้วยป่า, กล้วยเมล็ด (สุรินทร์), กล้วยพองลา (ใต้) ลำต้นเทียมสูง 3.5-4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร สีเขียว ไม่มีปื้นดำกาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียวไม่มีร่องผลลักษณะมี เมล็ดจำนวนมาก

กล้วยตานีที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด แตกต่างที่ลำต้นเทียมและผล กล่าวคือกล้วยตานีพบ ทางภาคเหนือนั้นลำต้นเทียมเกลี้ยงไม่มีปื้นดำเลย ผลจะสั้น ป้อมส่วนตานีอีสานจะมีลำต้นเทียมที่มีประดำเล็กน้อย ผลคล้ายกล้วยน้ำว้าแต่ตานีทางภาคใต้ ลำต้นเทียมค่อนข้างจะมีปื้นดำหนา ผลคล้ายตานีเหนือแต่ หนากว่าและมีสีเขียวเป็นเงา นอกจากนี้ยังได้มีการนำตานีดำมาจากฟิลิปปินส์แต่ตานีดำนี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของ อินโดนีเซียลำต้นเทียมสีม่วงดำและเส้นกลางใบสีม่วงดำ สีเข้มมากจนดูเหมือนสีดำ ผลสีเขียวเข้มเป็นมันมีลักษณะคล้ายตานีใต้ มีเมล็ดมาก

ต้นกล้วยตานี
ลำต้นเทียมสีเขียวเข้ม มีนวลมาก

ใบตองกล้วยตานี

ใบ หรือที่เรียกว่า ใบตอง เป็นผลผลิตหลักของกล้วยตานี ลักษณะสำคัญของใบตองกล้วยตานีที่ต่าง จากกล้วยชนิดอื่นคือ มีความเหนียว ทนทาน จึงเป็นที่นิยมในการรองหรือบรรจุอาหาร และงานฝีมือในพิธีกรรมต่างๆ 

การเก็บเกี่ยวใบตองกล้วยตานี

ผลผลิตหลักของกล้วยตานีคือ ใบตองสด การตัดใบตองครั้งแรกทำหลังจากปลูก กล้วยได้ 8 เดือน โดยจะตัดเมื่อกล้วยแทงหน่อแล้วการตัดใบตองกล้วยตานีแต่ละใบสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 15 วันนับจากใบเทียนโผล่ แต่ในฤดูแล้ง และอากาศร้อน หากไม่มีการให้น้ำ การเก็บเกี่ยวใบตองอาจยืดออกไป นานถึง 30 วัน (ใบเทียน คือ ใบกล้วยที่แทงออกมา ลักษณะใบยังม้วนอยู่) ใบตองที่เก็บเกี่ยวได้ต้องมีลักษณะสี เขียวเข้ม ใบตั้งตรง เทคนิคการตัดใบตองกล้วยตานีให้มีคุณภาพทำโดยใช้ขอเกี่ยวกดใบที่มีความคมมาก ทำให้ตััดใบได้ง่ายและไม่ทำให้ใบตองแตกจากการกระชากของขอเกี่ยว การตัดใบในฤดูฝนควรตัดช่วงที่ไม่มีน้ำค้าง เนื่องจากถ้ามีน้ำค้างใบจะเปื้อนง่าย ซึ่งช่วงที่เหมาะที่สุด คือ ช่วง 15:00 ถึง 17:00 นาฬิกา เพราะเป็นช่วงที่ใบ กล้วยรับแสงได้มากในเวลากลางวัน ทำให้ใบอ่อนไม่แตกง่าย หากเป็นฤดูร้อน ที่มีอากาศแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูง ควรตัดตอนช่วงเช้าเพื่อป้องกันการเหี่ยว การตัดแต่ละครั้งให้เหลือหูใบไว้ประมาณ 15 นิ้ว เมื่อ ตัดแล้วต้องรีบเก็บโดยให้ตั้งใบตองไว้กับต้น เพื่อป้องกันการไหลของยางกล้วยไปติดใบ หลังจากตัดใบกล้วยแล้วเกษตรกรจะเหลือใบไว้ที่ต้นประมาณ 2-3 ใบ รวมใบเทียน

เกษตรกรสามารถตัดใบตองได้ตลอดทั้งปี ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. ได้ผลผลิต 600-1,000 ใบ/เดือน/ไร่ ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ได้ผลผลิต 300-500 ใบ/เดือน/ไร่ รอบหนึ่งปีเก็บได้ 16 ครั้ง โดยได้ใบสดประมาณ 7,200-12,000ใบต่อไร่  ใบกล้วยตานี 3-4 ใบ ได้น้ำหนักใบตอง 1 กิโลกรัม

คุณภาพของใบตองกล้วยตานี

การคัดเกรดใบตองแบ่งเป็น 3 เกรด โดยใบตองที่มีคุณภาพและตลาด ต้องการ (เกรด A) ได้จากการตัดใบรองจากเทียน ขนาดความกว้างของใบไม่น้อยกว่า 8 นิ้ว ใบไม่มีตำหนิ ขอบ ใบตองไม่มีลักษณะไหม้ ใบแตกได้ไม่เกิน 3 แฉก ใบตองเกรด A ส่งตลาดต่างประเทศและกรุงเทพฯ ใบตอง เกรด B ได้จากการตัดใบรองจากเทียนใบที่ 2 -4 เกรดนี้ส่งตลาด ขอนแก่น และภายในจังหวัด ใบตองเกรด C ได้จากการตัดตั้งแต่ใบที่ 5 หรือใบแก่ ซึ่งมีลักษณะใบไหม้บางส่วน เกรดนี้ส่งขายตลาด ลำปาง เชียงใหม่ ปัจจุบันเกรดของใบตองขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ ซึ่งมีหลายแบบตามการนำไปใช้งานทั้งในและนอกประเทศ

ปลีกล้วยตานี
ปลี(ดอก)กล้วยตานี ปลีป้อม ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้ม

วิธีการปลูกกล้วยตานี

ระยะปลูก 3 × 2.5 ม. ขนาดแปลงย่อย 180 ม.  2 แปลงย่อยละ 4 แถว แถวละ 6 ต้น (กอ) จำนวน 1 หน่อ/หลุม ขนาดหลุม 0.5 × 0.5× 0.5 ม. การไว้หน่อ ดำเนินการปลูก ดูแลรักษา ตัดใบตองครั้งแรก เมื่อกล้วยมีหน่อครบตามที่กำหนด และตัดทุก 2 สัปดาห์ โดยปล่อยให้หน่อใหม่ เกิดขึ้นแล้วไว้หน่อตามจำนวนที่กำหนด

การดูแลหน่อกล้วยตานี

ปกติกล้วยมีการแตกหน่อ หน่อแรกที่แตกจากต้นแม่เรียกว่า first ratoon หน่อต่อไปเรียกว่า second ratoon และ third ratoon ตามลำดับ ในภาษาไทยเรียกหน่อรุ่นที่ 1 หน่อรุ่นที่ 2 และหน่อรุ่นที่ 3 ตามลำดับ กล้วย 1 กอ อาจมีทั้งต้นแม่หรือต้นแม่ถูกตัดทิ้งแล้ว และหน่ออีกหลายๆหน่อ เรียกทั้งกอนั้นว่า mat การปลูก กล้วยให้ได้ผลดีควรบังคับการเกิดหน่อไม่ให้มีมากเกินไป การทำลายหน่อที่มีความสูงต่ำกว่า 1 เมตรออกจะทำ ให้ไม่มีผลกระทบต่อต้นแม่ ดังนั้น หน่อเล็กๆ (peeper) หรือหน่อใบกว้างที่มีความสูงต่ำกว่า 1 เมตร ควรขุดทำลายออก การไว้หน่อกล้วยรับประทานผลนิยมไว้ 1-2 หน่อ และให้เหลือใบต้นละ 7-12 ใบ

กรณีของกล้วยตานี ภายใน 1 ปี มีการจัดแต่งต้นกล้วย 2 ครั้ง ตัดแต่งใบล่างที่ไม่ใช้ออก ใบแห้งที่ยัง สภาพดีก็ตัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ในเรื่องของการแตกหน่อ ในปีแรก กล้วยตานีจะมีเพียง 1 ต้น เมื่อกล้วยอายุ 1 ปี จะมีการแตกหน่อใหม่ 3-5 หน่อ ต่อกล้วย 1 ต้น และในปีต่อๆไป ก็จะทวีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ กล้วยหนาแน่น ไม่เป็นแถวเป็นแนว  ถึงแม้การปลูกกล้วยตัดใบจะมีมานานแต่ยังขาด เทคโนโลยีการไว้หน่อที่เหมาะสมสำหรับกล้วยตานี

ผลกล้วยตานี
ผลกล้วยตานี ผลอ่อนสีเขียว ยาวรี

การให้ปุ๋ย

กล้วยเป็นพืชที่โตและให้ผลผลิตเร็ว ต้องการอาหารที่นำไปใช้ได้ทันทีค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ปกติกล้วยเจริญเติบโตได้ดีในดินน้ำไหลทรายมูล (deep and friable loam soil) ซึ่งมีเนื้อดินค่อนข้างเหนียว มีระดับความอุดมสมบูรณ์สูง กล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำและ ความชื้นสูงแต่ไม่ชอบน้ำขัง หรือน้ำท่วมบ่อย ต้องการการระบายน้ำดี มีการหมุนเวียนอากาศดี สามารถปลูกได้ ดีในดินที่มีความเป็นกรดด่างได้ตั้งแต่ pH 4.5-7.5

แนวโน้มการนำปุ๋ยไปใช้ของกล้วยแต่ละชนิดจะคล้ายๆ กัน โดยการดูดเอาธาตุโปแตสเซียมไปใช้ มากกว่าธาตุอื่น และการใช้ธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างต่ำปริมาณธาตุอาหารที่กล้วยดูดนำไปใช้นั้นจะถูกสะสมที่ ต้นและใบเพียง 1 ส่วน อีก 2-3 ส่วน จะนำไปสะสมไว้ที่ผล การปลูกกล้วยในแต่ละปีจะสูญเสียธาตุโปแตสเซียม และไนโตรเจนไปมาก ถ้าปลูกกล้วยในพื้นที่เดิมติดต่อกัน โดยไม่มีการบำรุงดิน จะทำให้ผลผลิตกล้วย ลดลง กล้วยที่เก็บผลผลิตผลเป็นหลัก จึงควรมีการให้ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัสเป็นครั้งคราว จะช่วยรักษา ความสมดุลของธาตุอาหารในดินให้ดีขึ้น อาจให้ในรูปของปุ๋ยหมักที่สลายแล้ว สำหรับโปแตสเซียมนั้นจะใช้ใน รูปปุ๋ยวิทยาศาสตร์  ในประเทศไทยแนะนำให้ใช้ปุ๋ยกล้วยโดยมีธาตุต่างๆ ดังนี้ ธาตุไนโตรเจน (N) 7.3-14.6 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส (P2O5 ) 11.0-22.00 กิโลกรัมต่อไร่ และโปแตสเซียม (K2O) 22.0- 44.0 กิโลกรัมต่อไร่ แหล่งธาตุอาหารสำคัญของกล้วย นอกจากปุ๋ย วิทยาศาสตร์แล้ว สามารถคืนความสมบูรณ์ดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม ร้อยละ 1.10 0.40 1.60 ตามลำดับ

เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยตานียังไม่มีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม และเนื่องจากกล้วยตานีใช้ผลผลิตใบเป็นหลัก ดังนั้นส่วนใหญ่ จะให้ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 12 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวน 3 ครั้งต่อปี ปุ๋ยคอก 1 ครั้งต่อปี ในช่วงเดือน พฤษภาคม  ใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก 200 กิโลกรัมต่อไร่ปีละครั้ง การใส่ปุ๋ยกล้วยตานียังไม่มีปริมาณที่แน่นอน ใส่ตามแต่เกษตรกรจะพิจารณาใส่เอง ซึ่งในขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัยกำลังดำเนินการศึกษาการจัดการปุ๋ยกล้วยตานีที่เหมาะสม 

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.doa.go.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

 

One Comment

Add a Comment