การขยายพันธุ์มะม่วง ขั้นตอนการปลูกมะม่วง

มะม่วง

ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 ม. ลำต้นตรง เรือนยอดกลม ทึบ ใบเรียงเวียนสลับ ใบเดี่ยว รูปรี กว้าง 3-10 ซม. ยาว 16-45 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1.5-6 ซม. ดอกช่อสีนวล ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาว 18-30 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบ ยาว 3.5-4 มม. เกสรสีแดงเรื่อ ๆ ผลเดี่ยว ผลดิบมีสีเขียวเมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเหลืองส้ม มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด

มะม่วงเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ปลูกได้ในดินทั่วไป ยกเว้นดินเค็มและดินที่มีน้ำขัง ถ้าปลูกในดินร่วนซุยมีอินทรีย์วัตถุมาก และมีการระบายน้ำดีก็จะยิ่งให้ผลผลิตดี นอกจากนี้มะม่วงยังมีความต้านทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี จะเริ่มให้ผลหลังจากการปลูกด้วยกิ่งทาบประมาณ 3 ปี สามารถให้ผลผลิตมากกว่า 15 ปี และผลผลิตจะสูงขึ้นเฉลี่ยปีที่ 8 ประมาณ 50-100 กก./ต้น โดยเฉลี่ยอายุจากดอกบาน เก็บผลแก่อยู่ระหว่าง 90-115 วัน น้ำหนักผลมะม่วงเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 260 กรัม ฤดูกาล ผลผลิตอยู่ระหว่างปลายเดือนมีนาคม-มิถุนายน

ต้นมะม่วง
ต้นมะม่วง ไม้ยืนต้นลำต้นตรง

ประเภทของมะม่วง

มะม่วงสามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก มะม่วงดิบเปลือกสีเขียว เนื้อสีขาวส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยว ยกเว้นบางพันธุ์ที่เรียกว่ามะม่วงมัน ส่วนผลสุกจะมีสีเหลืองทั้งเปลือกและเนื้อ รับประทานผลสด หรือนำไปทำเป็นอาหาร เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง อีกทั้งมีการนำไปแปรรูป เช่น มะม่วงอบแห้ง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงเค็ม แยมมะม่วง และพายมะม่วง เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งมะม่วงตามความนิยมในการับประทานได้ 3 ประเภท คือ

  1. ประเภททานผลดิบ
    มีรสเปรี้ยว ได้แก่ มะม่วงเขียวเสวย แรด พิมเสนมัน ทองดำ เขียวไก่กา
    มีรสมัน ได้แก่ ฟ้าลั่น หนองแซง
  2. ประเภททานผลสุก
    ได้แก่ พันธุ์อกร่อง นวลจันทร์ น้ำดอกไม้ เป็นต้น
  3. ประเภทใช้แปรรูป
    ได้แก่ พันธุ์มหาชนก แก้ว สามฤดู และพิมเสน เป็นต้น
ข้าวเหนียวมะม่วง
ข้าวเหนียวมะม่วง จากผลมะม่วงสุก

การขยายพันธุ์มะม่วง

การขยายพันธุ์มะม่วงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะ เมล็ด การตอน การติดตาและการทาบกิ่ง เป็นต้น แต่วิธีที่ นิยมทำกันมากในปัจจุบันคือ การทาบกิ่ง

การเลือกพื้นที่ปลูก

ในการขยายพันธุ์มะม่วงนั้น มะม่วงเป็นพืชที่ปลูกได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ แต่การผลิตเชิงการค้าควรเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ฝนไม่ตกชุกเกินไป อุณหภูมิ 18-35 องศาเซลเซียส ดินมีการระบายน้ำดี มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการผลิตนอกฤดู และการคมนาคมสะดวก ซึ่งสามารถปลูกในสภาพลุ่มและพื้นที่ดอน โดยสภาพลุ่มจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี มะม่วงสามารถเจริญเติบโตแต่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อน้ำขัง และการทำร่องสวนจะมีต้นทุน ส่วนพื้นที่ดอนควรมีการปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ มีการวางแผนผังแปลงเพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการปลูกมะม่วง

ระบบปลูก ปัจจุบันนิยมปลูกระยะชิดและควบคุมทรงพุ่มให้เหมาะสม เช่น ระยะ 4 x 4 เมตร หรือ 4 x 6 เมตร เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานดูแลรักษา การจัดการทรงพุ่มและการตัดแต่งกิ่ง โดยเฉพาะการปลูกพันธุ์ที่ต้องมีการห่อผลด้วยแล้ว ควรควบคุมทรงพุ่มให้มีความสูงประมาณ 2.5-3 เมตร เพื่อให้ห่อได้ง่าย ผู้ห่อสามารถยืนห่อจากด้านล่างได้ไม่ต้องปีนต้น ทำให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว

การให้น้ำ

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพ โดยยึดหลักการควบคุมน้ำที่ว่า “ระดับน้ำต้องไม่ท่วมขังเมื่อมีน้ำมากที่สุด และไม่ขาดน้ำ เมื่อมีน้ำน้อยที่สุด” มะม่วงแต่ละการเจริญเติบโต มีความต้องการน้ำไม่เท่ากัน ระยะแรกของการเจริญเติบโตมะม่วงจะใช้น้ำน้อยมาก และมีความต้องการน้ำมากในระยะการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบ ช่วงมะม่วงติดผลอ่อน (ผลเท่าหัวไม้ขีด) และช่วงพัฒนาผลอ่อนจนถึงผลแก่ อย่างไรก็ตามเกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ต้องทราบความชื้นในดินเบื้องต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการคำนวณความต้องการน้ำของมะม่วง หากมะม่วงขาดน้ำ ส่งผลให้ผลร่วง ผลเจริญเติบโตได้ไม่ดี ผลมีขนาดเล็ก ขนาดผลที่ได้มาตรฐานส่งออกต่ำลง

การจัดการทรงพุ่มและตัดแต่งกิ่ง

การจัดการทรงพุ่มของไม้ผลส่วนใหญ่ จะทำตั้งแต่ต้นมีขนาดเล็กและควรจัดแบบพีรามิดดัดแปลงหรือแบบดัดแปลงยอดกลาง โดยเลือกกิ่งแขนงที่มีขนาด ลักษณะที่ดีและแข็งแรงไว้ 3-4 กิ่ง โดยตัดแต่งกิ่งที่บิดงอหรือเบียดกัน กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ทำมุมแคบ กิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลาย และกิ่งที่อยู่ในทรงพุ่มที่ไม่สามารถให้ผลผลิตได้ และเว้นระยะห่างระหว่างกิ่งแขนงไม่ชิดกันมาก ทำการตัดยอดกลางทิ้งและทิ้งกิ่งแขนงไว้ วิธีนี้ทำให้ขนาดต้นไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป แต่มีทรงพุ่มที่แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง ส่วนการตัดแต่งกิ่งทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อบำรุงให้มะม่วงมีการฟื้นต้นและเตรียมพร้อมที่จะให้ผลผลิตในฤดูกาลต่อไป ซึ่งควรตัดแต่งกิ่งให้มีแสงผ่านได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดแหล่งสะสมของศัตรูพืชและลดอาการคายน้ำ รักษาสมดุลของปริมาณความต้องการของน้ำในมะม่วง

ผลมะม่วงเริ่มติดผล
ผลมะม่วงเริ่มติดผล ขนาดเท่าหัวไม้ขีด

การใส่ปุ๋ย

  1. การใส่ปุ๋ยหลังตัดแต่งกิ่ง เนื่องจากากรให้ผลผลิตมะม่วงได้ใช้สารอาหารสะสมที่มีอยู่ในลำต้น กิ่งก้านและใบ อย่างมากมายจนส่งผลให้ใบแก่มะม่วงซีดลงหรือบางส่วนร่าวงหล่น เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากต้นจะทำให้มะม่วงโทรมดังนั้น หลังจากตัดแต่งกิ่งเกษตรกรควรให้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อเร่งให้มะม่วงเจริญเติบโตทางด้านลำต้น กิ่งก้านและใบ เพื่อให้สามารถสังเคราะห์แสงและสะสมอาหารได้อย่างเพียงพอและเพิ่มการแผ่ขยายของรากใหม่อย่างเต็มที่ สำหรับมะม่วงที่ผลิตให้ออกตามฤดูกาลในช่วงหลังตัดแต่งกิ่งและต้นฤดูควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนในสัดส่วนที่สูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบเป็นกรณีพิเศษให้มะม่วงไม่ออกดอกทะวายหรือออกดอกแล้วก็ไม่ให้ผลผลิต ดังนั้นจึงควรใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
  2. การให้ปุ๋ยก่อนออกดอก หรือปุ๋ยที่ใช้เตรียมให้มะม่วงออกดอกมี 2 ประเภท คือ
    2.1) ปุ๋ยที่ให้ทางดิน เป็นปุ๋ยที่มีโปแตสเซียมสูง แต่มีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสต่ำ เช่น 13-13-21 หรือ 14-14-21 และ 6-12-24 เป็นต้น โดยจะเริ่มทยอยให้ตั้งแต่เมื่อยอดช่วงสุดท้ายได้แตกใบปลายฤดูฝน (เริ่มจากเดือนตุลาคมเป็นต้นมา) ทั้งนี้ เพื่อให้ชะลอการแตกใบอ่อนหรือกดตาที่จะแตกยอดหรือใบอ่อนใหม่
    2.2) ปุ๋ยที่ให้ทางใบ เป็นปุ๋ยที่มีฟอสเฟตสูง จะให้ปุ๋ยทางใบเมื่อเริ่มหมดฝนหรืออย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนออกดอก หรือก่อนจะให้สารเคมีเร่งการออกดอก ปุ๋ยทางใบที่แนะนำให้ใช้คือ สูตร 0-45-24 หรือ 15-30-15 หรือสูตร 0-45-17 โดยพ่นให้ชุ่มทั้งแผ่นใบด้านบนและด้านล่าง
  3. การให้ปุ๋ยระยะติดผล จะเริ่มให้ปุ๋ยเมื่อมะม่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ จนถึง 12 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่ผลมะม่วงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับต้นที่ผลดกนั้นหากมีอาหารไม่เพียงพอผลจะแคระแกรน จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยในระยะนี้ ด้วยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 หรือสูตรใกล้เคียง และในช่วงก่อนจะเก็บเกี่ยวจะพ่นด้วยสูตร 13-0-46 เมื่อมะม่วงเริ่มเข้าไคลหรือเข้ากะลา (เปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็ง) ประมาณ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ จะช่วยให้คุณภาพของมะม่วงดีขึ้น
ใบมะม่วง
ใบมะม่วง ใบรูปรี ปลายใบแหลม

การแต่งผลและห่อผล

หลังจากดอกบาน 45-60 วัน ทำการตัดแต่งผลที่บิดเบี้ยว ผลที่ถูกโรคและแมงทำลายและผลมีตำหนิออก โดยตัดให้เหลือผลที่สมบูรณ์ไว้ช่อละ 1 ผล จากนั้นพ่อนหรือจุ่มผลในสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปล่อยให้ผลแห้งแล้วทำการห่อผลเพื่อป้องกันการทำลายของแมลงวันผลไม้ ลดร่องรอยทำลายของโรคและแมลง ผลมะม่วงมีสีสดใส และมีสีชัดเจนขึ้น โดยเลือกใช้วัสดุห่อที่เหมาะสม สำหรับวัสดุห่อที่เหมาะสมในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้คือ ถุงคาร์บอนที่ด้านในเป็นสีดำ ด้านนอกสีน้ำตาลจะช่วยให้ผิวผลมีสีเหลือง กรณีมะม่วงผิวสีแดงต้องใช้วัสดุห่อที่แสงสามารถส่องผ่านเข้ามาได้

ผลมะม่วง
การให้ผลผลิตมะม่วง

การเก็บเกี่ยวมะม่วง

การเก็บเกี่ยวมขึ้นอยู่กับพันธุ์ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ เพื่อส่งออกเก็บเกี่ยวประมาณ 98 วัน หลังจากดอกบาน โดยดัชนีการเก็บเกี่ยวใช้การนับอายุหลังติดผลหรืออาจสังเกตนาลที่ผล หรือใช้การลอยน้ำ หรือใช้ผู้เก็บเกี่ยวที่มีความชำนาญ เปิดถุงดูขนาดผล  โดยใช้นิ้งวัดรอบผลด้านกว้าง ดูความแก่จากร่องรอยแผล ที่เกิดจากการผสมเการ แล้วเก็บด้วยมือทีละผล โดยปลิดขั้วบริเวณรอยต่อของก้านผลกับกิ่ง ให้มีก้านผลติดกับผลเพื่อไม่ให้ยางไหลเปื้อนผล คัดคุณภาพเบื้องต้นก่อนส่งให้ผู้ส่งออก

ข้อควรระวัง คือหลังจากเปิดถุงห่อผลแล้วต้องคลุมตะกร้าผลมะม่วงด้วยถุงตาข่ายหรือปฏิบัติงานในโรงเรือนที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้เข้าทำลายและห่อด้วยโฟมตาข่ายเพื่อลดการกระแทกของผลและบรรจุในตะกร้าที่มีวัสดุป้องกันการกระแทกไปยังโรงคัดบรรจุ

การเก็บมะม่วง
การเก็บมะม่วงแล้วใช้กระดาษรองเพื่อป้องกันการกระแทก

ราคาขายตลาดสี่มุมเมือง ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2567

  • มะม่วงน้ำดอกไม้สุก (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 45 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 35 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 25 บาท
  • มะม่วงน้ำดอกไม้แก่ (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 28 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 22 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
  • มะม่วงน้ำดอกไม้ ดิบ (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 38 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 28 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 18 บาท
  • มะม่วงน้ำดอกไม้ ดิบ (ยำ) (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 24 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 18 บาท
  • มะม่วงเขียวเสวย (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 40 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 33 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 22 บาท
  • มะม่วงโชคอนันต์ (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 22 บาท
  • มะม่วงมันเดือนเก้า (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 23 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
  • มะม่วงฟ้าลั่น สามพราน (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 23 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 20 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 15 บาท
  • มะม่วงแก้วขมิ้น (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 20 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 16 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 12 บาท
  • มะม่วงแก้ว(ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 20 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 16 บาท
  • มะม่วงฟ้าลั่น (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 20 บาท / (กลางสวย) ราคากิโลกรัมละ 16 บาท / (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 12 บาท
  • ยอดมะม่วงอ่อน (ใหญ่สวย) ราคา 12 บาทต่อกำ / (เล็กสวย) ราคา 10 บาทต่อกำ

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.il.mahidol.ac.th, https://mediatank.doae.go.th/ www.simummuangmarket.com
ภาพประกอบ : www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment