การทำลูกประคบ
ในปัจจุบันการประคบสมุนไพรนอกจากใช้ในกรณีหลังคลอดแล้ว ยังนิยมใช้ควบคู่กับการนวดไทย โดยมากจะใช้หลังการนวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลของการประคบเกิดจากความร้อนที่ไหลจากการประคบ และจากตัวยาสมุนไพรที่ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย สูตรการทำลูกประคบมากมายหลายสูตรตามแต่ละท้องถิ่นจะนิยมใช้ เช่น ภาคอีสานนิยมใช้เปลือกไม้แดง ใบเปล้า แถบภาคกลางนิยมใช้เถาเอ็นอ่อน โคคลาน ไพล ขมิ้น หรือแถบภาคใต้นิยมใช้ไพล ขมิ้น ขิง เป็นสมุนไพรหลักในลูกประคบ แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำลูกประคบที่สถาบันการแพทย์แผนไทยส่งเสริมให้เป็นสูตรกลาง ๆ สามารถใช้ได้ทั้งกรณีหลังคลอดและกับการนวดได้และสูตรการทำลูกประคบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ รายละเอียดดังนี้
อุปกรณ์การทำลูกประคบ
ผ้าสำหรับการห่อลูกประคบ เชือก ตัวยาที่ใช้ทำลูกประคบ หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ จานรองลูกประคบ และเตา
ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ (ตัวยาที่นิยมโดยทั่วไป)
-
ไพล แก้ปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ
-
ผิวมะกรูด ถ้าไม่มีให้ใช้ใบแทนได้ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน
-
ตะไคร้บ้าน แต่งกลิ่น
-
ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว
-
ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง
-
ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
-
ขมิ้นอ้อย ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
-
เกลือ ช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น
-
การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
-
พิมเสน แต่งรส แก้ พ ุพอง แก้หวัด
วิธีทำลูกประคบ
-
หั่นหัวไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ต้นตะไคร้ ผิวมะกรูด ตำพอหยาบ ๆ
-
นำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมเข้ากับข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ การบูร พิมเสน คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ
-
แบ่งตัวยาที่ทำเรียบร้อยเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยใช้ผ้าขาวห่อเป็นลูกประคบรัดด้วยเชือกให้แน่น
-
นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
-
นำลูกประคบที่ร้อนได้ที่แล้วมาประคบผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ โดยสับเปลี่ยนลูกประคบ
ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)
-
ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
-
ลดไขมันหน้าท้อง หน้าท้องยุบ
-
ทำให้โลหิตไหลเวียนดี
-
ทำให้น้ำคาวปลาไหลเวียนสะดวก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
-
บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการปวด
-
ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก
-
ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
-
ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังอ่อน หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ถ้าต้องประคบควรต้องมีผ้าขนหนูรองก่อน หรือรอจนกว่าลูกประคบคลายความร้อนลงจากเดิม
-
ควรระวังเป็นพิเศษในมารดาหลังคลอดที่ป่วยเป็นป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความรู้สึกต่อการตอบสนองต่อความร้อนช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พุพองได้ง่าย ถ้าต้องใช้ควรใช้ลูกประคบอุ่น ๆ
-
ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ในช่วง 24 ชั่งโมงแรก อาจทำให้บวมมากขึ้น
-
หลังจากการประคบสมุนไพรแล้วไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนังและร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน (ปรับตัวความร้อนเย็นทันทีทันใด)
การเก็บรักษาลูกประคบ
-
ลูกประคบสมุนไพรครั้งหนึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 3-5 วัน
-
ควรเก็บลูกประคบไว้ในตู้เย็น จะทำให้เก็บได้นาน (ควรตรวจสอบตัวยาในห่อลูกประคบด้วย ถ้ามีกลิ่นบูดไม่ควรเก็บไว้)
-
ถ้าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้ควรพรหมด้วยน้ำหรือเหล้าขาว
-
ถ้าลูกประคบที่ใช้ไม่มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน แสดงว่ายาที่ใช้จืดแล้ว (คุณภาพน้อยลง) จะใช้ไม่ได้ผล
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.stou.ac.th
https://www.kelangnakorn.go.th