พริกขี้หนู
การปลูกพริกขี้หนู
การปลูกพริกขี้หนูของเกษตรกรแบ่งตามการให้น้ำ มี 2 แบบ คือ
- การปลูกแบบพริกไร่ เป็นการปลูกพริกขี้หนูที่อาศัยน้ำฝนในช่วงฤดูฝนสำหรับการเจริญเติบโต การปลูกในลักษณะนี้จะควบคุมผลผลิตได้จาก อัตราการตายสูง แต่แก้ไขโดยการปลูกหลังจากฝนตกแล้วจนดินชุ่ม 1-2 ครั้ง
- การปลูกแบบพริกสวน เป็นการปลูกโดยการอาศัยน้ำในเขตชลประทานหรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ อย่างเพียงพอ เช่น บอเก็บน้ำ บ่อน้ำบาดาล เป็นต้น การปลูกในลักษณะนี้ สามารถปลูกได้ตลอดปี และสามารถควบคุมผลผลิตได้ดีกว่าการปลูกในวิธีแรก อัตราการรอด และผลผลิตสูง
พื้นที่ปลูก
พริกเป็นพืชเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ชอบดินชื้นแฉะ มีน้ำขัง พื้นที่ปลูกพริกควรเป็นที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงทั้งวัน ไม่ควรเป็นที่ลุ่มหรือดอน ๆ เพราะที่ลุ่มมักประสบปัญหาน้ำท่วมขัง การระบายน้ำยาก ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเหี่ยวเฉาได้ง่าย ส่วนพื้นที่สูงหรือเป็นที่ดอนมักจะมีปัญหาในเรื่องดินแห้ง และขาดน้ำได้ง่าย ต้องให้น้ำบ่อย การใช้น้ำสิ้นเปลืองไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นพริกแคระแกร็น ดอกร่วงไม่ติดผล
การปลูกพริกไม่ควรปลูกติดต่อกันมาหลายปี เพราะอาจทำให้มีการสะสมของโรค และแมลงได้ ควรสลับการปลูกพืชอื่นในแปลงเดียวกัน ประมาณ 2-3 ปี แต่หากจำเป็นต้องปลูกซ้ำ ควรเตรียมดินด้วยการไถพรวน และตากดินทุกครั้ง ประมาณ 7-14 วัน
พริกขี้หนูสามารถเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ทั้งดินเค็ม และดินเปรี้ยว แต่เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูง การระบายน้ำดี ค่าความเป็นกรด-เบส (pH) ประมาณ 6.0 – 6.8
การเตรียมดิน
แปลงปลูกพริกขี้หนูควรเตรียมดินด้วยการไถพรวนด้วยผาน 7 ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 7-14 วัน หลังจากนั้น ไถด้วยผาน 3 เพื่อให้ดินแตกมีความร่วนซุย หากเป็นพื้นที่ที่เป็นกรดให้ว่านด้วยปูนขาวปรับสภาพดินก่อนไถทุกครั้ง หลังการไถให้ตากดินประมาณ 3-5 วัน ก่อนปลูก ทั้งนี้ ก่อนการไถด้วยผาน 3 อาจหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกก่อนหรือใช้ปุ๋ยเคมีรองพื้น อัตราปุ๋ยคอกที่ 50 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ 30 ตัน/ไร่ แต่วิธีนี้ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ย ซึ่งอาจใส่ปุ๋ยในขั้นตอนปลูกสำหรับรองก้นหลุมก่อนปลูกก็ได้
การเตรียมกล้า
การปลูกพริกจำเป็นต้องเตรียมกล้าพริกก่อนทุกครั้ง ด้วยการเพาะเมล็ดในกะบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ที่ 1 ต้น/หลุมหรือถุง สำหรับวัสดุเพาะให้เตรียมด้วยการการผสมดินร่วนกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุหรือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนดินต่อวัสดุผสม 2:1 หรือ 1:1 ทำการรดน้ำให้ชุ่มหลังการหยอดเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือเย็น จนพริกแตกใบแท้ประมาณ 3-5 ใบ หรือต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร จึงนำมาปลูกในแปลง
วิธีการปลูก
การปลูกจะปลูกในระยะที่เหมาะสม ที่ระยะห่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุมปลูก และให้โรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ก่อนปลูก หากตอนเตรียมแปลงไม่ได้หว่านปุ๋ย
การให้น้ำ
พริกขี้หนูเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ จึงควรให้น้ำเพียงเพื่อให้ดินชุ่มประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน เท่านั้น ก็เพียงพอ แต่ควรเพิ่มปริมาณในช่วงที่พริกขี้หนูติดดอก และผล
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยครั้งแรกอาจเริ่มในระยะก่อนปลูกด้วยการรองก้นหลุม หรือ ใส่เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้หลังการปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 และให้อีกครั้งเมื่อถึงระยะก่อนออกดอกประมาณ 15-30 วัน หรือเมื่อต้นแตกกิ่ง และทรงพุ่มเต็มที่แล้ว ด้วยปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราของทั้งสองระยะที่ 30 กก./ไร่ ทั้งนี้ ควรให้ร่วมกับปุ๋ยคอกด้วย เพื่อป้อกงันการเสื่อมของดิน
ส่วนโรคที่มักพบได้แก่ โรคกุ้งแห้ง โรคเหี่ยวจากเชื้อรา โรคเน่า โรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย
การเก็บเกี่ยว
การเก็บผลผลิตพริกขี้หนู จะมีอายุจากวันงอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลพริกสดครั้งแรก ประมาณ 65-90 วัน ผลผลิตในระยะแรกจะน้อย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และลดลงในระยะสุดท้าย การเก็บควรเก็บทุกๆ 7 วัน ด้วยการเด็ดทีละผลโดยใช้เล็บจิกตรงก้านผลที่ต่อกับกิ่ง ไม่ควรใช้มือดึงที่ผล เพราะจะทำให้กิ่งหักได้
การแปรรูปของพริกขี้หนู
พริกตากแห้ง
พริกที่ใช้ทำพริกตากแห้ง จะใช้พริกแก่ ซึ่งควรเก็บผลในระยะแก่จัดที่มีผลสีแดงจัดทั่วทั้งผล และควรเลือกผลที่ไม่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย เพราะหากใช้พริกที่มีมีคุณภาพจะทำให้พริกแห้งมีสีไม่สวย และคุณภาพด้อยลง เมื่อเก็บผลพริกแล้วควรนำมาตากหรือทำให้แห้งโดยเร็วที่สุด โดยวิธี ดังนี้
- การให้ความร้อนร่วมกับตากแดด โดยทำเป็นขั้นตอน ดังนี้
– ให้บ่มในกรณีที่เก็บพริกยังไม่แก่หรือมีสีแดงไม่ตลอดทั่วผล เพื่อผลพริกสุกเป็นสีแดงสม่ำเสมอกัน โดยเก็บรวมกันในเข่งที่ระบายอากาศได้ ประมาณ 2 คืน นอกจากนั้น ยังให้ความร้อนแก่พริกที่แก่สม่ำเสมอแล้วเพื่อให้มีสีสวย เช่น การนำไปลวกน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส โดยน้ำร้อนที่ใช้ไม่ควรเป็นน้ำเดือด ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาตากแดดให้แห้งตามขั้นตอนข้างต้น การลวกน้ำร้อนจะทำให้สีพริกสม่ำเสมอ ไม่ขาวด่าง และอีกวีธี คือการนำมาย่างไฟอ่อนๆ จนกระทั่งสุกเพื่อให้แห้งเร็วก่อนนำออกตากแดด
– นำมาตากแดด ภายหลังย่างแล้ว เพื่อให้พริกแห้งสนิท โดยตากแดดประมาณ 5 แดด แล้วสามารถเก็บบรรจุถุงใส่พลาสติก พร้อมผูกปากถุงให้แน่นสำหรับกันความชื้น - การตากแดด
– นำพริกสดหลังจากการบ่มให้มีสีแดงสม่ำเสมอแล้วหรือพริกแก่ที่เก็บจากไร่ที่สุกมีสีแดงสม่ำเสมอมาตากแดด ประมาณ 10-15 แดด หรือมากกว่านั้น ตามขนาดของผลพริก
– ขณะตากแดด ให้พริกกลับพริกวันละครั้ง เพื่อให้พริกแห้งสม่ำเสมอ
– พื้นหรือวัสดุรองตาก ควรทำจากไม้หรือพลาสติก ไม่ควรเป็นโลหะ เพราะหากใช้โลหะจะทำให้พริกเกิดการลวกไหม้ มีสีเหลืองหรือดำได้ - การอบ
นำไปอบด้วยไอร้อนในเตาอบหรือนำไปอบด้วยเตาอบแสงอาทิตย์ ซึ่งจะร่นระยะเวลาในการทำให้แห้งได้เร็วขึ้น เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกเป็นจำนวนมาก และเหมาะกับการทำพริกแห้งในช่วงฤดูฝนวิธีทำให้แห้งในข้อที่1 ข้อ 2 และ 3 นี้มีข้อดีตามมา คือ การฆ่าเชื้อโรค รวมถึงการทำลายไข่แมลงที่ติดมากับผลพริกตาย
ความชื้นของพริกแห้งก่อนเก็บใส่ถุงจะต้องไม่เกิน 14% ตามข้อกำหนดของสำนักงาน
มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
การผลิตพริกขี้หนูป่น (โรงงาน)
- พริกขี้หนูที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายควบคุมคุณภาพก่อนทุกครั้ง เพื่อคัดแยกผลพริกที่ไม่มีคุณภาพออก
- พริกขี้หนูที่ผ่านการคัดแยกแล้วจะลงสู่เครื่องล้างพริกขี้หนู และถูกลำเลียงขึ้นจากอ่างล้าง
- นึ่งพริกขี้หนู ที่ 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 นาที
- พริกขี้หนูที่ผ่านการนึ่งจะเข้าเครื่องอบแห้งความชื้น โดยให้มีความชื้นสุดท้ายไม่เกิน 14% เป็นเวลา 30 นาที
- พริกขี้หนูที่ผ่านการอบแห้งจะเข้าสู่การคั่วพริก เพื่อให้กรอบ และมีกลิ่นหอม โดยให้ได้ความชื้นของพริกขี้หนูในกระบวนการนี้ ไม่เกิน 6 %
- นำพริกขี้หนูที่ผ่านการคั่วแล้วเข้าเครื่องโม่พริก เพื่อบดให้พริกกลายเป็นพริกขี้หนูป่นขนาดต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร ความชื้นไม่เกิน 5% ซึ่งจะได้น้ำหนักพริกขี้หนูป่นที่ 95%ของน้ำหนักพริกขี้หนูตากแห้งที่ใช้ในการผลิต
- บรรจุในบรรจุภัณฑ์ และชั่งน้ำหนัก พร้อมนำเก็บในสถานที่ป้องกันความชื้นได้ดี
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.nfc.or.th
4 Comments