กระเจี๊ยบเป็นพืชที่นำมาประกอบเป็นอาหาร และเป็นที่รู้จักของคนเกือบจะทั่วโลก และคนไทยปลูกกระเจี๊ยบไว้บริโภคทั่วทุกภาคของประเทศ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยและรู้จักเท่าไรนัก
กระเจี๊ยบที่ปลูกกันในประเทศมี 2 ชนิดคือ กระเจี๊ยบเขียวและกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบแดงนำมาทำน้ำกระเจี๊ยบ ผลไม้กวน ทำแกงส้ม และทำชากระเจี๊ยบได้ ส่วนกระเจี๊ยบเขียวใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงใส่ปลาย่าง เครื่องเคียงน้ำพริก และย่างกินกับหมูหรือเนื้อย่างเกาหลี นอกจากจะนำมาปรุงอาหารและเครื่องดื่ม กระเจี้ยบยังมีคุณค่าและสรรพคุณทางสุมนไพรหลายชนิด กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชล้มลุกมีอายุประมาณ 1 ปี เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศกึ่งร้อน คือมีอุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียสมีถิ่นกำเนิดจากประเทศซูดาน
แหล่งเพาะปลูก
ในประเทศไทยนั้นพื้นที่ที่มีการปลูกกระเจี๊ยบเขียวมาก ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง มีหลายจังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร พิจิตร กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง และนครนายก
การปลูกกระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบเขียวสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ในฤดูหนาวจะให้ผลผลิตที่ต่ำเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำ ทำให้ต้นเตี้ย แคระแกรน ออกดอกไว การเตรียมดินควรไถพลิกหน้าดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ และเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือหว่านพืชตระกูลถั่วปล่อยทิ้งไว้จนออกดอกแล้วจึงทำการไถกลบ การปลูก ในฤดูฝนและฤดูแล้งใช้ระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร (6,400 หลุมต่อไร่) คลุกเมล็ดด้วย สารเคมีไอโปรไดโอน 50% wp อัตรา 60 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เพื่อป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ถอนแยกเมื่ออายุได้ 30 วัน ให้เหลือจำนวนหลุมละ 2 ต้น
การดูแล
หลังปลูก 15 – 20 วันควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ทุก 20 วัน
โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส เมื่อปรากฏโรคควรฉีดป้องกันด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 30 -50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซป หรือ ไธอะเบนดาโซล ฉีดพ่นตามฉลากแนะนำ ส่วนโรคเส้นใบเหลือง ที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคไวรัส ฉีดพ่นด้วย คาร์โบซัลแฟน หรือ ฟิโปรนิล
แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 60 – 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารสกัดธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากสะเดา ฉีดพ่นในอัตรา 60 – 80 ซีซี ต่อนำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ทุก ๆ 7 วัน และอาจใช้การจัดการเกษตรที่ดีเข้าช่วยด้วยการปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช
การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 45 – 50 วัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน สามารถเกี่ยวได้ ทั้งช่วงเช้าและบ่าย แต่การเก็บเกี่ยวในช่วงบ่ายไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจาการระคายเคืองจากขนของกระเจี๊ยบเขียว โดยการใช้ตัดทีละฝักตัดที่ขั้วให้เหลือก้านประมาณ 1 เซนติเมตร
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
1. เมื่อกระเจี๊ยบเขียวอายุได้ 40 วันจะเริ่มออกดอก หลังจากดอกบาน 5 วัน จะสามารถเก็บเกี่ยวได้
2. ต้องเก็บกระเจี๊ยบเขียวทุกวัน ไม่ปล่อยฝักที่สามารถตัดได้ทิ้งไว้บนต้น เพราะฝักกระเจี๊ยบเขียวโตเร็วมาก
3. ในระหว่างเก็บเกี่ยวให้ตัดใบทิ้งครั้งละใบพร้อมกับการตัดฝักทุกครั้ง เพราะจำนวนใบที่มากเกินไปจะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงฝักล่าง ฝักจะมีสีซีด และยังเป็นการป้องกันการเป็นแหล่งของศัตรูพืช
4. ใช้มีดคมตัดขั้วทีละฝัก ตัดขั้วให้ตรง วางในภาชนะอย่างระมัดระวัง ไม่โยน
5. ใส่ถุงมือผ้าหรือถุงมือยางทุกครั้ง เพื่อป้องกันการระคายผิวหนัง
6. เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว รีบนำเข้าที่ร่ม การระบายอากาศดี
7. คัดแยกฝักที่ไม่ได้คุณภาพออก
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// researchex.mju.ac.th
https://www.flickr.com
One Comment