การป้องกันและกำจัดวัชพืชในสวนผลไม้

ปัญหาวัชพืชในสวนไม้ผล-ไม้ยืนต้น มักจะเกิดรุนแรงในสวนที่ต้นไม้ยังมีขนาดเล็กอยู่ เพราะในช่วงนี้วัชพืชจะสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่า ส่งผลให้ต้นไม้ที่ปลูกชะงักการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตช้า แต่เมื่อไม้ผล-ไม้ยืนต้นโตขึ้นจนมีพุ่มชนกัน ปัญหาการเกิดวัชพืชก็จะลดลงดังนั้น ช่วง 2-3 ปีแรกของการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเกษตรกรจะต้องคอยควบคุมและกําจัดวัชพืชอยู่เสมอ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่จะแนะนํา คือการปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวของไม้ผล-ไม้ยืนต้น วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาวัชพืชในระยะยาวได้โดยพืชที่นิยมนํามาปลูกคลุมดินได้แก่พืชตระกูลถั่วประเภทเลื้อยพัน ซึ่งสามารถทอดเถาเลื้อยคลุมวัชพืชให้ตายได่ วิธีนี้เกษตรกรอาจจะต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงในระยะแรกเพื่อขยายพืชคลุมให้เต็มพื้นที่ แต่หลังจากนั้นแล้วการจัดการไม่ให้พืชคลุมเลื้อยเข้าไปพันในทรงพุ่มของไม้ผล-ไม้ยืนต้นจะทําได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการกําจัดวัชพืช

การปลูกพืชตระกูลถั่วแซมในสวนไม้ผล-ไม้ยืนต้นนอกจากจะช่วยควบคุมไม่ให้มีวัชพืชเกิดขึ้นแล้วยังมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง ได้แก่

  1. ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน เนื่องจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปมรากถั่วจะช่วยตรึงไนโตรเจน ในอากาศมาสะสมไว้ในดิน จึงทำให้พืชที่ปลูกร่วมกับพืชตระกูลถั่วมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกด้วย
  2. ต้น เถา และใบของพืชคลุมดิน เมื่อตายหรือร่วงหล่นลงดินแล้วจะกลายเป็นอินทรียวัตถุ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินและช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นด้วย
  3. การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยป้องกันการชะล้างและพังทะลายของหน้าดิน
  4. เมล็ดพันธุ์ของพืชคลุมดิน สามารถนําไปขาย ช้วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าพืชคลุมดินจะมีประโยชน์มากมายหลายประการแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหา ตามมา คือ

  1. ในฤดูฝน พืชคลุมดินจะเจริญเติบโตรวดเร็วจึงมักเลื้อยพันขึ้นต้นไม้ ทําให้ต้นไม้ผล-ไม้ยืนต้นชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้น เกษตรกรจะต้องคอยดูแลไม่ให้พืชคลุมดินเลื้อยขึ้นต้นไม้ โดยใช้มือดึงพืชคลุมดินให้ห่างทรงพุ่มหรือใช้เครื่องนาบ
  2. ในฤดูแล้ง พืชคลุมดินจะโทรมและทิ้งใบเป็นเชื้อเพลิงทําให้เกิดไฟไหม้สวนได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรทําแนวป้องกันไฟและต้องคอยตัดแต่งใหพืชคลุมดินอยู่ห่างจากต้นไม้อย่างน้อย 1 เมตร
ถั่วลิสงนา
ถั่วลิสงนา พืชล้มลุกเลื้อยคลุมดิน กิ่งเล็กมีขนปกคลุม

ชนิดของพืชคลุมดิน

พืชตระกูลถั่วที่จะแนะนําให้เกษตรกรใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินในสวนไม้ผล-ไม้ยืนต้นมี 4 ชนิด คือ

  1. คาโลโปโกเนียม ใบมีขนาดปานกลางเจริญเติบโตได้เร็ว คลุมดินได้ภายใน 3-4 เดือน จะออกดอกและเก็บเมล็ดได้เมื่อมีอายุ 6-7 เดือนขึ้นไปจนกระทั่งอายุประมาณ 18 เดือน ต้นก็จะโทรม ตายคาโลโปโกเนียมเป็นพืชที่ไม่ชอบร่มเงา เมื่อปลูกร่วมกับพืชคลุมดินชนิดอื่น จะมีปริมาณมาก ในปีแรกแต่หลัง จากนั้นจะถูกทดแทนด้วยพืชคลุมดินชนิดอื่น 
  2. เซนโตซีมาหรือถั่วลาย ใบมีลักษณะเรียวเล็กชอบเลื้อยพันขึน้ ต้นไม้ จะออกดอกและเก็บ เมล็ดได้เมื่อมีอายุ 7 เดือนขึ้นไป ทนต่อความแห้งแล้ง ดังนั้น จึงจะช่วยเสริมปริมาณพืชคลุมดินในช่วงหน้าแล้งได้ เถาเหนียวเปื่อยช้า เซนโตซีมาจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี
  3. เพอราเรีย ใบมีขนาดใหญ่หนา เถาใหญ่และเป็นขนจึงควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าถั่วสองชนิด แรกเพอราเรียจะมีการเจริญเติบโตช้า อายุเกือบปีจึงจะคลุมดินได้ และจะสามารถคลุมดินได้ประมาณ 3-4 ปี แต่ถ้ามีร่มเงามาก ต้นก็จะโทรม ตายไป เถาและใบเปราะเน่าเปื่อยเร็ว
  4. ซีรูเลียมหรือนิวดาโลโป เป็นถั่วคลุมดินที่มีคุณสมบัติดีเด่น หลายประการคือ ให้ปริมาณไนโตรเจนกลับคืนสู่ดินได้มาก ทนต่อความแห้งแล้งและร่มเงาได้ดี มีอายุอยู่ได้นานถึง 10 ปี ในพื้นที่ที่มีการปลูกซีรูเลียม ร่วมกับพืชคลุมดินชนิดอื่น ซีรูเลียมจะมีปริมาณเพื่อขึ้นในปีที่ 4 ในขณะที่พืชคลุมดินชนิดอื่นจะตายไป เพราะมีร่มเงามากขึ้น แต่เนื่องจากซีรูเลียมที่ปลูกทางภาคใต้ของไทยให้ผลผลิตเมล็ดน้อยหรือ แทบไม่ให้เมล็ดเลย จึงมีปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้ปลูกจะมีราคาแพง

อัตราการปลูก

การปลูกพืชคลุมดิน ควรใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา 1 – 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเมล็ดมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% แต่ถ้าความงอกต่ำต้องเพิ่มอัตราเมล็ดตามส่วน

การปลูกพืชคลุมดินอาจปลูกพืชคลุมชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์จากพืชคลุมดิน เต็มที่จึงแนะนําให้ปลูกร่วมกัน เช่น ในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันอาจปลูกคาโลโปโกเนียม :เซนโตรซีมา : เพอราเรีย ร่วมกันในสัดส่วน 2 : 2 : 1 หรือ 5 : 4 : 1 หรือ 2 : 3 : 2 โดยน้ำหนักและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพืชคลุมในระยะยาวเกษตรกรสามารถปลูกซีรูเลียมร่วมด้วยในอัตรา 40 – 50 กรัมต่อไร่ ในประเทศมาเลเซีย มีการปลูกเพอราเรีย : ซีรูเลียม ร่วมกันในสัดส่วน 9 : 1 ในสวนยางส่วนในสวนไม้-ผลไม้ยืนต้นอื่นๆ อาจปรับใช้สูตรผสมใดๆ ตามความเหมาะสมในท้องถิ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์ที่หาได้

ซีรูเลียม
ซีรูเลียม ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนา คล้ายใบโพธิ์

วิธีการปลูก

การปลูกพืชคลุมดินสามารถกระทําได้หลายวิธี เช่น การหว่าน ปลูกเป็นแถวและปลูกเป็นหลุมแต่วิธีที่จะแนะนําให้เกษตรกรปลูก คือ ปลูกเป็นแถวเพราะจะสะดวกต่อการดูแลรักษา ระยะปลูกควรให้ห่างจากพืชหลัก 2 เมตร ส่วนจํานวนแถวปลูกประมาณ 3 – 5 แถว การจัดระยะแถวปลูกให้เฉลี่ยระยะแต่ละแถวเท่ากัน เช่น 1, 1.5, หรือ 2 เมตร ขึ้นอยู่กับระยะปลูกพืชแต่ละชนิด การปลูกให้ใช้จอบขุดดินเป็นร่องลึกประมาณ 2-3 นิ้ว โดยเมล็ดลงในร่องให้กระจายสมํ่าเสมอ แล้วจึงกลบด้วยดินร่วน

การปลูกพืชคลุมดินนี้ อาจปลูกก่อน พร้อมกันหรือหลังจากปลูกพืชหลัก แต่เพื่อ ความสะดวกและ ง่ายแก่การกําจัดวัชพืช ควรปลูกหลังจากการเตรียมดินและวางแนวระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว

การดูแลรักษา

ในระยะ 4 – 6 เดือน หลังจากปลูกพืชคลุมดินแล้วเกษตรกรจะต้องหมั่นคอยดูแลกำจัดวัชพืชให้พืชคลุมดินอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นเมื่อพืชคลุมดินเจริญเติบโตเต็มที่แล้วต้องดูแลให้พืชคลุมดินอยู่ห่างจากโคนต้น ประมาณ 1-1.5 เมตร

การใส่ปุ๋ยให้กับพืชคลุมดินในระยะแรกๆ ของการปลูกนอกจากจะช่วยให้พืชคลุมดิน เจริญเติบโต ได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนกลับคืนสู่ดินในปริมาณที่คุ้ม ต่อการลงทุน โดย การใส่ปุ๋ย ดินฟอสเฟตในปีแรกหลังจากปลูกประมาณ2 – 3 ครั้งๆ ละ 20 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ละครั้งห่างกัน ประมาณ 3เดือน ส่วนในปีที่ 2 และ 3 ใส่ปีละครั้ง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment