ขิง หัวขิงมีกลิ่นหอม รสหวานเผ็ดร้อน ทำเมนูอาหารได้หลากหลาย
ชื่ออื่นๆ : ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน), ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
ต้นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ภาษาอังกฤษ : Ginger
ลักษณะของขิง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองแกมเขียว ผล เป็นผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. เป็น 3 พู เมล็ดหลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : เหง้าแก่สด ต้น ใบ ดอก ผล
การขยายพันธุ์ของขิง
ขิงขยายพันธุ์โดยใช้หัว/เหง้า/หน่อ/ และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูงแต่คุ้มค่าและจะได้พันธุ์ที่ปลอดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่โรคที่พบมักติดมากับท่อนพันธุ์ขิง
ธาตุอาหารหลักที่ขิงต้องการ
ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5 – 10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา
ประโยชน์ของขิง
- ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย
- ขิงนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม
- ขิงนำมาทำยา
สรรพคุณทางยาของขิง
- เหง้า : รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ
- ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง
- ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ
- ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ
- ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด
- ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ(วัด-ถะ-นะ)
- แก่น : ฝนทำยาแก้คัน
คุณค่าทางโภชนาการของขิง
- คุณค่าทางโภชนาการ ขิงแก่ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้
- พลังงาน 25 แคลอรี่
- ความชื้น 93.5 กรัม
- โปรตีน 0.4 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- คาร์โบไฮเดรท 4.4 กรัม
- เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม
- แคลเซียม 18 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
- เบต้า แคโรทีน 10 ไมโครกรัม
- ธัยอะมีน 0.02 มิลลิกรัม
- ไรโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม
- ไนอะซีน 1.0 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
การแปรรูปของขิง
ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช่ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล, น้ำพริก, กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา, เมี่ยงคำ, ไก่สามอย่าง, ใช้ทำขิงดอง, ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง, เต้าฮวย, ขิงแช่อิ่ม, ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่ม
เกษตรตำบล ศูนย์รวมความรู้การเกษตร ปลูกได้ ขายเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีเกษตร กับขิง
References : www.bedo.or.th
รูปภาพจาก : pixabay.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม
14 Comments