ขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
ชื่ออื่นๆ : ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลางบางที่) ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มลายู-ปัตตานี) และขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
ต้นกำเนิด :
ชื่อสามัญ : ขี้เหล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia siamea (Lamk.) Irwin et Barneby
ชื่อวงศ์ : Fabaceae (Leguminosae)
ลักษณะของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
ต้น เป็นไม้ที่มีขนาดปานกลาง จนถึงขนาดใหญ่ มีใบเขียวตลอดปี ไม่ผลัดใบเมื่อโตเต็มที่ จะมีความสูงประมาณ 8 – 18 เมตร ระบบรากแผ่กระจาย ลำต้นไม่ค่อยจะเปลาตรงเท่าไรนัก เปลือกบางเรียบมีสีเทาปนน้ำตาลหรือเขียวปนเทา เมื่อแก่เปลือกนอกอาจมีสีดำและแตกเป็นเกล็ดตามบริเวณโคนต้น โดยปกติไม้ขี้เหล็กมีกิ่งก้านสาขามากแตกออกรอบลำต้นทุกทิศทาง เรือนยอดแผ่ขยายเป็นพุ่ม
ใบ เป็นช่อแบบขนนก ช่อติดเรียงสลับ ช่อยาวประมาณ 30 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อยรูปขอบขนานแคบๆ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3.5 ซม. รูปทรงของใบทั้งหมดเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ก้านใบยาว 10 – 20 ซม. มีใบย่อย 7 – 10 คู่ ก้านใบย่อยยึดติดกับก้านใบใหญ่เป็นคู่ๆ ออกตรงข้าม ใบอ่อนเป็นขนสั้นๆ เมื่อใบแก่มากๆ ขนนี้จะหายไป ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดของช่อจะเป็นใบเดี่ยวๆ เนื้อใบเนียนค่อนข้างบาง สีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีขน โคนใบสอบแคบเข้าเล็กน้อย ปลายใบมนหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ
ดอก สีเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ๆ ตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวถึง 30 ซม. ก้านช่อย่อยมักติดสลับเวียนกัน กลุ่มที่อยู่ทางโคนช่อใหญ่จะมีก้านช่อยาวกว่ากลุ่มดอกจะไปรวมกัน ตามบริเวณปลายช่อย่อย แต่ละกลุ่มมีมากกว่า 10 ดอก กลีบฐานดอกมี 3 – 4 กลีบ กลีบจะงุ้มเป็นรูปช้อนแต่ละกลีบไม่ติดกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบสอบเข้าเล็กน้อย กลีบเป็นอิสระและจะงุ้มเข้าเป็นรูปช้อนหลุดร่วงไว ดอกที่บานเต็มที่มีขนาดวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 – 4 ซม. ดอกจะออกตามปลายกิ่งเป็นกลุ่มตามความยาวของกิ่ง ดอกในกลุ่มเดียวกันจะบานไม่พร้อมกัน โดยจะบานจากดอกที่อยู่โคนช่อไปสู่ปลายช่อ เกสรตัวผู้มี 10 อัน รังไข่ รูปรีๆ มีขนประปราย ไข่อ่อนมีมาก
ผล มีลักษณะเป็นฝักแบนๆ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวถึงประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลและฝักโค้งเล็กน้อย แต่ละฝักมีเมล็ด 20 – 30 เมล็ด เรียงตัวตามขวางเมล็ดขี้เหล็กมีขนาดประมาณ 3 x 7 มิลลิเมตร รูปรี แบน สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ถ้านำมาชั่ง 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 20,000 – 25,000 เมล็ด
การขยายพันธุ์ของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด
โดยทั่วไปแล้วนิยมขยายพันธุ์ด้วยการนำเอาเมล็ดมาเพาะ แล้วนำไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการจะปลูก เพราะเป็นวิธีการสะดวกและประหยัดกว่าวิธีอื่น ไม่ยุ่งยากมาก
ต้นขี้เหล็กโดยปกติจะออกดอกออกผลให้เมล็ดเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป ฝักจะแก่พอที่จะเก็บเมล็ดได้ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม สังเกตได้จากฝักแก่จะมีสีค่อนข้างคล้ำหรือ น้ำตาลแก่ การเก็บฝักขี้เหล็กก็จะเก็บจากต้นเลยอย่าปล่อยให้ฝักแก่มาก เพราะเมื่อฝักแก่มากๆ จะแตกคาต้นทำให้เมล็ดร่วงหล่นยากต่อการเก็บเมล็ด เมื่อเก็บฝักมาแล้วให้นำไปตากแดดบนผ้าหรือพลาสติก ฝักจะแห้งและแตกอ้ามาก เมล็ดขี้เหล็กจะหล่นออกมาเอง จากนั้นจึงแยกเมล็ดออก การเก็บรักษาเมล็ดทำได้โดยการนำไปบรรจุไว้ในถุงพลาสติกและปิดปากถุง พอให้อากาศผ่านได้ หรือเก็บในขวดโหลหรือกล่องกระดาษที่มีฝาปิดก็ได้
ในการเพาะเมล็ดขี้เหล็กเพื่อที่จะให้เมล็ดมีอัตราการงอกสูงและได้จำนวนกล้ามาก ควรนำไปแช่น้ำร้อนเดือดคนให้ทั่วกันประมาณ 5 นาที แล้วเทน้ำเย็นลงผสม ทิ้งให้แช่น้ำต่อไปอีก 12 ชั่วโมง จึงนำไปเพาะในแปลงเพาะวิธีนี้ได้ผลดีกว่า การหยอดเมล็ดโดยตรงในแปลงปลูก
การทำแปลงเพาะเมล็ดทำได้โดยการพูนดินขึ้นมาให้สูงจากพื้น 15 เซนติเมตร ขนากว้าง 1 เมตร ยาว 2 – 5 เมตร ขอบแปลงกั้นด้วยไม้ไผ่หรือขอนไม้ทั้ง 4 ด้าน ดินในแปลงเพาะควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวผสมทรายหยาบ หรือแกลบเผาในอัตรา 1 ต่อ 2 หรือ 1 ต่อ 3 หลังจากนั้นหว่านเมล็ดบนแปลงเพาะในอัตราส่วนครึ่งลิตรต่อพื้นที่แปลง 1 ตารางเมตร แล้วกลบเมล็ดรดน้ำให้ชุ่มคลุมแปลงเพาะด้วยฟางข้าวแห้ง หญ้าคาแห้งหรือใบสนก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหน้าแปลงแห้ง รดน้ำเช้า – เย็น ทุกวัน ประมาณ 7 – 15 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกปล่อยให้ต้นกล้าสูงประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร จึงถอนไปชำในถุงพลาสติกบรรจุดินขนาด 10 x 15 เซนติเมตร โดยใช้ไม้จิ้มดินให้เป็นรูแล้วหย่อนกล้าลงไปแล้วบีบให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดรากแห้ง กล้าขี้เหล็กอาจตายได้ เสร็จแล้วนำไปวางเรือนเพาะชำโดยวางให้เป็นแถวเป็นแนวเพื่อสะดวกต่อการรดน้ำ ถ้าไม่มีเรือนเพาะชำก็อาจสร้างเรือนเพาะชำอย่างง่ายๆ โดยฝังเสาไม้เป็นโครงมุงหลังคาด้วยทางมะพร้าวให้แสงแดดส่องผ่านได้พอสมควร การบำรุงรักษาให้รดน้ำเช้า – เย็น คอยสังเกตว่ามีโรคหรือแมลงรบกวนกล้าไม้ขี้เหล็กหรือไม่ เมื่อกล้าไม้ขี้เหล็กมีความเจริญเติบโตให้คัดต้นที่มีความสูงมากมาจัดเรียงไว้ที่หัวแปลง โดยจัดเรียงตามลำดับความสูง เพื่อให้กล้าไม้ได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง ถ้าไม่ทำเช่นนี้ต้นกล้าทีสูงกว่าจะบดบังแสงแดดต้นที่เล็กกว่าจะทำให้กล้าต้นเล็กแคระแกรน อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้รากของกล้าไม้ไชลึกลงสู่พื้นดิน
เมื่อกล้าไม้ขี้เหล็กมีอายุประมาณ 3 – 4 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร ก็พร้อมที่จะนำไปปลูกได้
การเตรียมพื้นที่ปลูก
การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกไม้ขี้เหล็กต้องคำนึงถึงสภาพดินและน้ำ ไม่ควรเป็นบริเวณที่มีความแห้งแล้งมาก เมื่อเลือกพื้นที่ที่จะปลูกไม้ขี้เหล็กได้แล้ว ก็ต้องมีการเตรียมพื้นที่ก่อนจะปลูกเหมือนกับพืชเกษตรทั่วๆ ไป ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ควรจะมีไม้ใหญ่ และพวกวัชพืชต่างๆ วิธีการเตรียมพื้นที่ปลูกอย่างง่ายก็คือถางหญ้าและต้นไม้เล็กๆ ในบริเวณพื้นที่ที่จะปลูก เสร็จแล้วก็นำมารวมกอง ตากให้แห้งแล้วเผาทิ้ง จากนั้นวางแนวปลูกโดยการปักหลักไม้เพื่อกำหนดระยะปลูกต่อไป วิธีนี้เป็นวิธีเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
แต่ถ้าผู้ปลูกมีเงินทุนมากพอที่จะไถพรวนพื้นที่ปลูกจะทำให้การปลูกต้นขี้เหล็กได้ผลดีกว่า เพราะการไถพรวนดินทำให้ดินมีความร่วนซุย การหยั่งรากลงสู่พื้นดิน เป็นไปได้ง่ายกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการไถพรวน สำหรับการไถพรวนนั้นทำได้โดยใช้แทรกเตอร์ล้อยางไถ 1 ครั้ง และไถพรวน 1 ครั้ง หลังจากนั้นถ้าเป็นการกำหนดระยะปลูก โดยการปักหลักไม้หรือโรยปูนขาว ทำเป็นแนวปลูกต่อไป
สำหรับค่าลงทุนในการเตรียมพื้นที่ปลูกจะแตกต่างกันไปตามท้องที่ ขึ้นอยู่กับค่าจ้างแรงงาน และระยะปลูกต่างๆ กัน การเตรียมพื้นที่ปลูกโดยวิธีไม่ไถพรวน อาจจะเสียค่าใช้จ่ายไร่ละ 300 – 315 บาท แต่ถ้ามีการไถพรวนด้วยต้องลงทุนมากกว่าอาจจะถึงไร่ละ 640 – 650 บาทขึ้นไป
ธาตุอาหารหลักที่ขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวงต้องการ
ประโยชน์ของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
- การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้ แปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น เสา รอด ตง เครื่องเรือนอย่างดี, เป็นฟืนให้ความร้อน 4,441 แคลอรี่/กรัม ถ้าเป็นถ่านให้ความร้อนสูง 6,713 – 7,036 แคลอรี่/กรัม
- การใช้ประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ปลูกเป็นพรรณไม้ปรับปรุงดินเนื่องจากใบมีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยปกคลุมดินและความชื้นได้ดี เป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกเป็นป่าอนุรักษ์ในที่ที่มีความชื้นปานกลาง – สูง
- การใช้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ดอกและดอกอ่อนใช้รับประทานได้ ใช้ทำแกงขี้เหล็กได้
- การใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร – ดอก รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ทำให้หลับสบาย รักษาโรคหืด รักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุ รักษารังแค ขับพยาธิ
- ใบแก่ ใช้ทำปุ๋ยหมัก
สรรพคุณทางยาของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
- ราก รักษาไข้ รักษาโรคเหน็บชา ทาแก้เส้นอัมพฤกษ์ให้หย่อน แก้ฟกช้ำ แก้ไข้บำรุงธาตุ ไข้ผิดสำแดง
- ลำต้นและกิ่ง เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคกระษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว
- ทั้งต้น แก้กระษัย ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ รักษาโรคหนองใน รักษาอาการตัวเหลือง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน
- เปลือกต้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคหิด แก้กระษัยใช้เป็นยาระบาย
- กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้ร้อนกระสับกระส่าย บำรุงโลหิต คุมกำเนิด
- ใบ รักษาโรคบิด รักษาโรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาอาการ นอนไม่หลับ
- ฝัก แก้พิษไข้เพื่อน้ำดี พิษไข้เพื่อเสมหะ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน ทำให้ระส่ำระสายในท้อง
- เปลือกฝัก แก้เส้นเอ็นพิการ
คุณค่าทางโภชนาการของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
การแปรรูปของขี้เหล็ก ขี้เหล็กหลวง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9379&SystemType=BEDO
https://th.wikipedia.org
https://www.flickr.com