ดีปลี เครื่องเทศกลิ่นหอม รสชาติคล้ายขิง เผ็ดมากกว่าพริกไทย
ชื่ออื่นๆ : ดีปลีเชือก (ภาคใต้), ประดงข้อ ปานนุ (ภาคกลาง)
ต้นกำเนิด : เกาะโมลัคคาสในมหาสมุทรอินเดีย
ชื่อสามัญ : Long Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper chaba Hunt
ชื่อวงศ์ : Piperaceae
ลักษณะของดีปลี
ไม้เถาเนื้อแข็ง ขึ้นเลื้อยพัน ลำต้นค่อนข้างกลมเรียบ เปราะ หักง่าย บริเวณข้อมีรากสำหรับยึดเกาะ แตกกิ่งก้านมาก
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียวสลับตามข้อใบ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ผิวด้านหลังใบเป็นมัน หลังใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย โคนเบี้ยว ปลายแหลม ขอบเรียบ มีเส้นใบออกจากโคน 3-5 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ใบยอดกิ่งไม่มีก้าน ใบและเถามีรสเผ็ดร้อน
ดอกเป็นช่อตั้งตรงข้ามกับใบ ออกเป็นช่อจากง่ามใบ หรือปลายยอด มีดอกย่อยเรียงกันอัดแน่นบนแกนช่อลักษณะเป็นแท่งกลมยาวทรงกระบอก ปลายเรียวมน ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว สีเขียว เมื่อแก่มีสีเหลืองอมแดง มีขนปกคลุมเล็กน้อย ไม่มีก้านดอกย่อย ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ก้านช่อดอกยาวเท่ากับก้านใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว 4-5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ก้านดอกยาว 2-3.5 ซม. มีเกสรเพศผู้ 2-3 อัน ช่อดอกเพศเมีย ยาว 3-4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม.
ผลสดอัดกันแน่นบนแกนช่อ ยาว 2.5-5 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร โคนกว้าง ปลายมน ผิวผลเรียบ ผลย่อยขนาดเล็กจะติดกันเป็นแท่งหลอมรวมกัน แยกจากกันไม่ได้ ผลมีรสเผ็ดร้อน มีสีเขียวเมื่อสุกสีน้ำตาลแกมแดง ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมล็ดมีขนาดเล็กมาก กลมและแข็ง
การขยายพันธุ์ของดีปลี
การขายพันธุ์หรือปลูกดีปลีใช้เพาะเมล็ดหรือเถา ส่วนมากนิยมใช้เถา
การปลูก ใช้เสาไม้แก่น หรือเสาซีเมนต์ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ทนหลายปี ความยาว ของเสา 4 – 5 เมตร ฝังลงดิน 0.5 – 1 เมตร เอาเถาดีปลีที่ชำจนแตกรากใหม่มีข้อและแตกยอดใหม่แล้วเกาะติดกับต้นเสา ในระยะแรกต้องใช้ลวดหรือเชือกช่วยยึดหลวม ๆ ขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าเถาดีปลีจะเกาะต้นเสาได้ดีจึงไม่ต้องใช้เชือกยึด
การบำรุงรักษา ในฤดูร้อนควรให้น้ำสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำขังท่วมราก หากรากแช่น้ำข้ามคืนดีปลีจะตาย ใส่ปุ๋ยบ้างเพื่อให้ต้นแข็งแรงและผลดก ศัตรูของดีปลีได้แก่ เพลี้ยแป้งและมด
ธาตุอาหารหลักที่ดีปลีต้องการ
สภาพดินฟ้าอากาศ ชอบดินร่วนไม่มีน้ำขัง มีอินทรีย์วัตถุมาก ทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูที่เหมาะสม คือต้นฤดูฝน
ประโยชน์ของดีปลี
ตำรายาไทยใช้ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกตากแห้งเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับรกหลังคลอด โดยใช้ผล 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม นอกจากนี้ใช้เป็นยาแก้ไอ โดยเอาผลแห้งครึ่งผลฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ฤทธิ์ขับลมและแก้ไอ เกิดจากน้ำมันหอมระเหยและสาร piperine พบว่าสารสกัดเมทานอลมีผลยับยั้งการบีบตัวของลำไส้เล็กและสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์ ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง จึงควรระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์
สรรพคุณทางยาของดีปลี
ใช้ผลแก่แห้งเป็นยา โดยเก็บช่วงที่ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก ตากแดดให้แห้ง มีรสเผ็ดร้อน ขม มีสรรพคุณขับลม บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ดีปลีแห้งประกอบด้วย ” อัลคาลอยด์” ชื่อว่า Piperine ประมาณ 4 – 6% chavicine, น้ำมันระเหยหอม 1% ตามรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า ดีปลีใช้ประกอบตำรับยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ท้องอืดเฟ้อ ธาตุไม่ปกติ ทั้งนี้เพราะดีปลีมีน้ำมันหอมระเหย
ผลแก่แห้งของดีปลี ใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการปวดท้อง รวมทั้งแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุที่ไม่ปกติ โดยการใช้ผลแก่แห้ง 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ดอก) ต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้าไม่มีดอกก็ให้ใช้เถาต้มแทนได้อาการไอและมีเสมหะ ใช้ผลแก่แห้งประมาณครึ่งผล ฝนกับน้ำมะนาวผสมเกลือกวาดในลำคอหรือจิบบ่อยๆ นอกจากนี้ ผลดีปลีแห้งสามารถใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารต่างๆได้
คุณค่าทางโภชนาการของดีปลี
–
การแปรรูปของดีปลี
ดีปลีสามารถนำมาแปรรูปเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้หลากหลาย อีกทั้งยังนำมาทำเป็นเครื่องเทศไว้ประกอบอาหารอีกด้วย
เกษตรตำบล ศูนย์รวมความรู้การเกษตร ปลูกได้ ขายเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีเกษตร กับดีปลี
References : www.bedo.or.th
รูปภาพจาก : th.wikipedia.org/wiki
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม
ผลมีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน