ตัวห้ำ ตัวเบียน คือตัวอะไร มาทำความรู้จักกันเถอะ

แมลงศัตรูธรรมชาติ

ศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)

การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นกรรมวิธีที่นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำเอาแมลงและสัตว์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติมาช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช วิธีการนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมซึ่งมนุษย์มีแนวความคิดที่จะใช้สิ่งที่มีประโยชน์ในธรรมชาติมาช่วยปราบแมลง ความรู้เก่าแก่ที่สุดในการดำเนินงานเริ่มต้นขึ้นมาในประเทศจีน โดยชาวจีนรู้จักนำเอามดตัวห้ำ (predatory ants) มาควบคุมแมลงบางชนิดในสวนส้ม และความรู้ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมาควบคุมแมลงศัตรูพืชก็กว้างขวางออกไป และนับวันจะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อมนุษย์สามารถนำเอาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดการใช้ยาฆ่าแมลงทำให้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องลดน้อยลง

แมลงห้ำ (Predators)

แมลงห้ำ
แมลงห้ำหรือแมลงด้วงเต่า ที่กินแมลงชนิดอื่น
แมลงห้ำ
แมลงห้ำ แมลงที่กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร มักพบอยู่ใต้ใบของพืช

หรือเรียกว่า ด้วงเต่าตัวห้ำ (Predatory Beetles) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinella tranversalis (Coleoptera: Coccinellidae)

แมลงห้ำ หมายถึง แมลงที่กินแมลงชนิดอื่น ๆ เป็นอาหาร และการกินนั้นจะกินเหยื่อ (prey) หลายตัว กว่าจะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต การกินจะกินเหยื่อไปเรื่อย ๆ และมักจะไม่จำกัดวัยของเหยื่อคือสามารถทำลายเหยื่อได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตัวห้ำที่เรารู้จักกันดีเช่น ด้วงเต่าชนิดต่าง ๆ (ภาพที่ 3) ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ มวนตัวห้ำ มวนเพชฌฆาต และมวนตัวห้ำเพลี้ยไฟ เป็นต้น

“แมลงตัวห้ำ” มักมีขนาดตัวที่โตกว่าสิ่งที่มันกินซึ่งเรียกว่า “เหยื่อ” (prey) ของมัน ซึ่งอาจมีพฤติกรรมการกินโดยการจับแล้วกิน หรือดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อหมดทั้งตัว และต้องกินเหยื่อหลายตัวเพื่อการดำรงชีวิตจนครบวงจรชีวิต บางชนิดมีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต ยกตัวอย่างเช่นด้วงเต่าตัวห้ำ (predacious beetles) หรือบางชนิดมีพฤติกรรมการเป็นตัวห้ำเฉพาะบางช่วงอายุเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นแมลงช้างปีกใส (lacewing) และแมลงวันดอกไม้ (syrphis fly) ที่ตัวเต็มวัยอาศัยกินน้ำหวานตามดอกไม้ ส่วนตัวอ่อนมีพฤติกรรมการกินแมลง

เชื้อโรค (Insect pathogens) หมายถึง เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แมลงตายได้นั้น สามารถนำมาพัฒนาเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้

แมลงเบียน (Parasitic Insects หรือ Parasitoids)

ตัวเบียน
ตัวเบียน มีลักษณะลำตัว ขายาว

แมลงเบียน  หมายถึง แมลงที่เบียดเบียนเหยื่อ (host) หรือเกาะกินอยู่กับเหยื่อ จนกระทั่งเหยื่อตาย และการเป็นตัวเบียนนั้นจะเป็นเฉพาะในช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินอิสระ และในช่วงอายุหนึ่ง ๆ ต้องการเหยื่อเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวเบียนหรือแมลงเบียนมีหลายประเภท ซึ่งถ้าแบ่งตามความสัมพันธ์กับเหยื่อ จะแบ่งออกได้เป็นแมลงเบียนไข่ (egg-parasite) แมลงเบียนหนอน (larval parasite) แมลงเบียนดักแด้ (pupal parasite) แมลงเบียนตัวเต็มวัย (adult parasite) เป็นต้น ตัวอย่างของแมลงเบียน เช่น แตนเบียนไข่ หนอนกระทู้ผัก และแตนเบียนหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย

แตนเบียนไข่หนอนกระทู้ผัก Chelonus sp. ตัวหนอนของแตนเบียน หนอนกระทู้ผักจะทำลายไข่ของหนอนกระทู้ผัก โดยตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะวางไข่ลงไปในไข่ของหนอนกระทู้ผัก (ดังภาพที่ 1) ตัวหนอนแตนเบียนจะอาศัยอยู่ในไข่และหนอนกระทู้ผักจนเป็นตัวเต็มวัย จึงออกมาภายนอก และวางไข่ทำลายไข่ของหนอนกระทู้ผักต่อไป

แตนเบียนหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย Cotesia flavipes แตนเบียนชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะวางไข่ลงไปในตัวหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย ตัวหนอนของแตนเบียนจะอาศัยเกาะกินอยู่ภายในลำตัวหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย จนกระทั่งโตเต็มที่จะเจาะผนังหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยออกมาเข้าดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยต่อไป วันที่หนอนของแตนเบียนเจาะออกมาจากลำตัว หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย (ดังภาพที่ 2) หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยก็จะตายทันที แตนเบียนชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี อาจแบ่งออกตามลักษณะการกระทำคือ

  1. การควบคุมโดยชีววิธีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ (Naturally-occurring biological control) เป็นการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เกิดในธรรมชาติ ณ แหล่งใดแหล่งหนึ่งโดยใช้ปัจจัยธรรมชาติ อันได้แก่ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค ที่มีอยู่ในแหล่งนั้นมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณ และนำมาควบคุมแมลงศัตรูพืชในแหล่งที่ศัตรูธรรมชาติเหล่านั้นอยู่ ซึ่งวิธีการนี้รวมไปถึงการจัดการหรือส่งเสริมให้ศัตรูธรรมชาติในแหล่งนั้นมีความสามารถมากขึ้นในการควบคุมแมลงศัตรูพืชในแหล่งเดิมนั้น
  2. การควบคุมโดยชีววิธีแบบคลาสสิก (Classical biological control) เป็นการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยมีการนำเอาศัตรูธรรมชาติอันได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค จากแหล่งอื่น ๆ หรือจากประเทศหนึ่งไปใช้ในอีกประเทศหนึ่ง โดยมากศัตรูธรรมชาติที่นำมาใช้กันได้ผลคือ ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งดั้งเดิมของแมลงศัตรูพืช หรือกล่าวโดยสรุป การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยวิธีการนี้จะมีขั้นตอนของการนำ (Introduction) ศัตรูธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ มาใช้ในอีกแหล่งหนึ่ง
  3. การควบคุมโดยชีววิธีแบบประยุกต์ หรือแบบชั่วคราว (Contemporary biological control) เป็นการควบคุมโดยชีววิธี โดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การทำให้แมลงเป็นหมันหรือการดัดแปลงลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
  4. การควบคุมโดยชีววิธีแบบร่วมสมัย (Modern biological control) เป็นการควบคุมแมลงโดยใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง แต่มีผลหรือนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมแมลงได้เช่น สารพวก hormone, pheromone และสารอื่น ๆ
ตัวห้ำ-2
แมลงตัวห้ำลักษณะตัวสีขาว มีจุดสีดำ

ข้อมูลทางชีววิทยา

ด้วงเต่าตัวห้ำ C. tranversalis เป็นด้วงเต่า ขนาดกลาง (กว้างxยาว ประมาณ 4.5-5.0 x 5.0-6.0 มิลลิเมตร) ตลอดอายุขัย ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 215 – 293 ฟ้องต่อตัว ใช้เวลาในระยะไข่โดยประมาณ 8-9 วัน และระยะตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัย 20-21 วัน ดักแด้ 7-8 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุขัยอยู่ระหว่าง 21-22 วัน ระยะที่มีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำ ได้แก่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย

ข้อมูลทางนิเวศวิทยา

C. tranversalis เป็นด้วงเต่าตัวห้ำซึ่งมีแหล่งแพร่กระจายในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศ อินเดีย ไทย และมาเลเชีย รวมทั้งออสเตรเลีย เป็นด้วงเต่าตัวห้ำซึ่งกินเหยื่อได้หลายชนิดโดยเฉพาะแมลงที่มีตัวอ่อนนุ่ม เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย และไข่ของผีเสื้อบางชนิด

การใช้ประโยชน์ด้านการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี

ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณด้วงเต่าตัวห้ำชนิดนี้ในประเทศไทย การใช้ประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืชสามารถทำได้โดยการอนุรักษ์ด้วงเต่าตัวห้ำนี้ไว้ในแปลงปลูก แมลงอาหารที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยอ่อนและแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นเหยื่อ

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีจึงเป็นการใช้ประโยชน์ของศัตรูธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ ตัวเบียน (parasites) ตัวห้ำ (predators) และเชื้อโรค (pathogens) ในการที่จะรักษาระดับความหนาแน่นของประชากรของแมลงศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่งให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC), www.science.sut.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment