ต้นแค
ต้นแคบ้าน ชื่อเรียกอื่น ดอกแคบ้าน ต้นแค หรือแค (ภาคกลาง) แคขาว (กรุงเทพฯและเชียงใหม่) แคแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesban Sesbania grandiflora ( Desv. ) Linn. อยู่ในวงค์ PAPILONOIDEAE เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอกมีสีขาวหรือสีแดง มีกลิ่นหอม คนไทยนิยมกินคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน ยอดอ่อน มารับประทานเป็นผัก

ประโยชน์ของต้นแค
คนไทยนิยมกินคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน ยอดอ่อน โดยคนไทยทุกภาคกินแคเป็นผักและมักปลูกแคไว้ตามรั้วบ้านหรือสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกแค และฝักอ่อน นิยมลวกน้ำร้อนใช้กินร่วมกับน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกปลาร้า ดอกอ่อนนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มดอกแค แกงจืดดอกแค ดอกแคผัดหมูหรือกุ้ง และดอกแคชุบแป้งทอดกินกับน้ำพริก ทั้งนี้มักจะเอา เกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนใช้ประกอบอาหารเพื่อลดความขม ส่วนชาวอีสานนิยมนำดอกและยอดอ่อนมานึ่ง หรือย่าง กินร่วมกับแจ่ว ลาบ ก้อย และนำดอกแคมาปรุงอาหารประเภทอ่อมได้อีกด้วย
สรรพคุณทางยาของต้นแค
- ใบ – ช่วยในการแก้ไข้หวัดและถอนพิษไข้ แก้ไข้เปลี่ยนฤดู ตลอดจนช่วยดับพิษ และถอนพิษ ให้รสจืดมัน
- ดอก – ช่วยแก้อาการไข้เปลี่ยนฤดู ให้รสหวานเย็น แก้ไข้หัวลมรักษาโรคริดสีดวงในจมูกแก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้
- เปลือกต้น – ช่วยในการคุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด ตลอดจนช่วยชะล้างบาดแผล และช่วยในการสมานแผลทั้งภายในและภายนอก ให้รสฝาด
- ยอดอ่อน แก้ไข้หัวลม เป็นยาระบาย ช่วยถอนพิษไข้และทาแก้ช้ำบวม
- ราก เป็นยาขับเสมหะ ลดอาการอักเสบ
- ใบสด เป็นยาระบาย แก้ช้ำชอก
- ยอดแค อุดมไปด้วยวิตามินซึ่งมีส่วนช่วยต่อต้านและยับยั้งมะเร็ง เพราะมีสารที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี (ดอก, ยอดอ่อน)
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันและรักษาอาการหวัด (ดอก)
- ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ (ใบสด, ดอกโตเต็มที่)
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยในเรื่องความจำ ป้องกันการเกิดเนื้องอก บรรเทาอาการไข้ ปวด โลหิตจาง ด้วยการใช้ฝักแคสด 20 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 30 นาที กรองเอาฝักออก นำมาดื่มก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน (ในประเทศอินเดีย) (ฝัก)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เนื่องจากมีเบตาแคโรทีนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ (ดอก, ยอดแค)
- ช่วยแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน ด้วยการใช้ใบสด 20 กรัม เทน้ำเดือด 1 ลิตร ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วกรองเอาใบแคออก นำมาดื่มแก้อาการ (ในประเทศอินเดีย) (ใบ)
- ช่วยบำรุงและเสริมสร้างกระดูกและฟัน เนื่องจากอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส (ดอก, ยอดแค)
- ดอกแคมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ ลดอาการไข้ ถอนพิษไข้ในร่างกาย ช่วยแก้ไข้หัวลมหรือไข้เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู ด้วยการใช้ดอกหรือใบนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอกที่โตเต็มที่นำมาล้างน้ำ แล้วต้มกับหมูทำหมูบะช่อ 1 ชาม แล้วรับประทานวันละ 1 มื้อ ติดต่อกัน 3-7 วัน อาการก็จะดีขึ้น (ดอก)
- น้ำคั้นจากรากใช้ผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ดื่มก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ในช่วงเช้า กลางวัน และก่อนนอน ใช้เป็นยาขับเสมหะ ลดอาการไอ แก้ร้อนใน แก้ไข้ลมหัวได้ (ราก)
- ช่วยรักษาปากเป็นแผล แก้อาการร้อนในจนปากลิ้นเปื่อย ด้วยการใช้เปลือกแคชั้นในสุดที่มีสีน้ำตาลอ่อน ๆ นำมาเคี้ยว 3-5 นาทีแล้วคายทิ้ง ทำวันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 3 วันก็จะหายจากอาการ (เปลือกแค)
คุณค่าทางโภชนาการของต้นแค
สารอาหารสำคัญมีฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ ซี บี1 บี2 โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และใยอาหาร
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9610&SystemType=BEDO
https:// pstip.cc
https://www.flickr.com