น้ำพริกน้ำผักหรือน้ำผัก วิธีทำน้ำพริกน้ำผัก

น้ำพริกน้ำผัก

น้ำพริกน้ำผัก เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นถึงขลุกขลิก เป็นอาหารที่ทำมาจากผักกาดเขียวแก่ทั้งต้น นำมาดองสัก 2 วัน ให้มีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานกับแคบหมูและผักขี้หูด (อินทร วงค์กุฎ, สัมภาษณ์, 26 มิถุนายน 2550)

น้ำผัก เป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่งของชาวไทลื้อ แล้วแพร่หลายมาในอาหารไทยภาคเหนือ ได้จากการนำผักกาดเขียวมาสับให้ละเอียด คั้นกับเกลือและข้าวเหนียว ใส่น้ำซาวข้าว แล้วหมักให้มีรสเปรี้ยว นำน้ำที่ได้มาเคี่ยวให้ขลุกขลิก ซึ่งน้ำผักที่ได้นี้จะใช้ทำน้ำพริกน้ำผักซึ่งใช้กินกับเนื้อสัตว์ย่างและผัก หน่อไม้ต้ม

น้ำพริกน้ำผัก
น้ำพริกน้ำผัก ทานกับผักนึ่ง

ส่วนผสม

  1. ผักกาดเขียว           300         กรัม
  2. เกลือเม็ด                     1         ช้อนโต๊ะ
  3. ข้าวนึ่ง                        1         ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำซาวข้าว                 1         ถ้วย
  5. พริกแห้ง                      5         เม็ด
  6. กระเทียม                     5         กลีบ
  7. เกลือป่น                       1         ช้อนชา
  8. มะแขว่น                      1         ช้อนชา
  9. ผักชีซอย                      1         ช้อนโต๊ะ
  10. ต้นหอมซอย                1         ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. หั่นผักกาดเขียว ให้ละเอียด

    หั่นผัก
    นำผักกาดมาหั่น
  2. นำผักกาดเขียวไปตากแดดประมาณ 10 นาที

    นำผักตากแดด
    นำผักที่หั่นไปตากแดด
  3. ขยำผักกาดเขียวกับเกลือเม็ด จนนิ่ม

    ใส่เกลือ
    นำผักกาดที่ตากแดดแล้วมาขยำกับเกลือ
  4. ใส่ข้าวนึ่ง ขยำให้เข้ากัน

    ใส่ข้าวเหนียว
    จากนั้นใส่ข้าวเหนียวลงไป
  5. ใส่น้ำซาวข้าว ปิดฝา หมักไว้ประมาณ 2 วัน

    ใส่น้ำซาวข้าว
    ใส่น้ำซาวข้าวลงไปหมักในภาชนะ ปิดฝากไว้
  6. หมักผักกาดเขียวได้ที่ นำผักกาดมาต้ม ให้น้ำงวดเล็กน้อย ปิดไฟ พักไว้ให้เย็น

    นำผักมาต้ม
    นำผักกาดที่หมักไว้มาต้ม
  7. โขลกพริก เกลือ กระเทียม และมะแขว่น รวมกันให้ละเอียด

    โขลกพริก กระเทียม
    โขลกพริก กระเทียม มะแข่วน รวมกัน
  8. ใส่เครื่องปรุงที่โขลกแล้วลงในน้ำผัก คนให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยผักชีต้นหอม

    ใส่พริกลงในผักกาดที่ต้ม
    นำพริกที่โขลกใส่ลงในผักกาดที่ต้มแล้ว

เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม

นำผักกาดไปตากแดด เพื่อให้นุ่มก่อนนำมาขยำ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://lannainfo.library.cmu.ac.th, www.th.wikipedia.org
ภาพประกอบ : www.blogazine.pub

One Comment

Add a Comment