ลำดวน
ลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นไม้ยืนต้นแตกกิ่งและใบจำนวนมาก ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ สีเหลืองนวล กลีบดอกหนาและแข็ง ดอกมีกลิ่นหอม
ประโยชน์ของลำดวน
- ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้
- ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย
- ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป
- ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ
- ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน
สรรพคุณของลำดวน
- ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)
- ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)
- ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)
- ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)
- บำรุงกำลัง และบำรุงหัวใจ นำมาประกอบกับสมุนไพรจีน (เกษร)
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=10334&SystemType=BEDO
https:// khampear.go.th
https://www.flickr.com