ผกากรอง ดอกผกากรองดอกสวย แต่มีพิษ

ผกากรอง

ชื่ออื่นๆ : ก้ามกุ้ง, เบญจมาศป่า (กลาง) ขะจาย, ตาปู, มะจาย (แม่ฮ่องสอน) ขี้กา, คำขี้ไก่ (เชียงใหม่) ดอกไม้จีน (ตราด) เบ็งละมาศ, สาบแร้ง (เหนือ) ไม้จีน (ชุมพร) ยี่สุ่น (ตรัง) สามสิบ (จันทบุรี) หญ้าสาบแร้ง

ต้นกำเนิด : ประเทศอุรุกวัย อเมริกาใต้

ชื่อสามัญ : Weeping Lantana, White Sage, Cloth of gold, Hedge Flower

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lantana camara Linn.

ชื่อวงศ์ : VERBENACEAE

ลักษณะของผกากรอง

ต้น เป็นไม้พุ่มยืนต้นกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก แตกแขนงกิ่งก้านสาขามาก มีพุ่มไม้ที่ทึบในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ตามลำต้นเป็นร่องอาจมีหนามเล็กน้อย อาจมีขนปกคลุมทั่วทั้งต้น รากตื้นประมาณ 10-30 เซนติเมตรจากผิวดิน

ใบ ใบเดี่ยว รูปไข่สีเขียวเข้ม ขอบใบจัก ปลายใบแหลม เส้นใบเห็นเป็นร่องชัดเจน เส้นใบมีลักษณะย่น ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ใบออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนหยาบ ด้านท้องใบมีขนเล็กๆ เมื่อลูบจะรู้สึกระคายมือ ใบขึ้นดกหนา เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นฉุน

ดอก เป็นช่อเรียงเป็นกระจุกในบริเวณขั้วดอก ช่อดอกรูปกึ่งทรงกลม มีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละดอกมีสี่กลีบ ดอกเป็นรูปแตร มีท่อยาวปลายกลีบดอกบานออก ดอกจะทยอยบานจากด้านนอกเข้าไปในช่อดอก กลีบดอกมีหลายสี  เช่น  ขาว  เหลืองนวล  ชมพู  ส้ม  แดง  หรือมีสองสีในดอกเดียวกัน ดูสวยงามมาก  จึงนิยมนำมาตั้งชื่อลูกสาว

ผล ผลมีขนาดเล็กรูปทรงกลม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำเงินม่วงเข้มเกือบดำ และการสืบพันธุ์ของเมล็ดเกิดขึ้น ผกากรองแต่ละต้นสามารถผลิตผล ได้มากถึง 12,000 ลูก

ต้นผกากรอง
ต้นผกากรอง ขอบใบหยัก  ด้านท้องใบมีขนเล็กๆ

การขยายพันธุ์ของผกากรอง

ปักชำกิ่ง

ธาตุอาหารหลักที่ผกากรองต้องการ

ประโยชน์ของผกากรอง

เนื่องจากใบผกากรองมีกลิ่นฉุน และมีสารพิษที่เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลงจำพวกหนอนกระทู้ในแปลงผักที่ชื่อว่า แลนทานิน (Lantanin) จึงมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับฆ่าและขับไล่แมลงศัตรูพืช โดยวิธีการเตรียมและใช้ผกากรองเป็นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช วิธีแรกให้ใช้เมล็ดผกากรองบด 1 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 2 ลิตร และให้แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาใช้ฉีดพ่นเพื่อฆ่าหนอนกระทู้ในแปลงผัก

ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบและดอกสด บดละเอียดหนัก 50 กรัม ผสมกับน้ำ 400 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 5 แล้วนำไปใช้ฉีดพ่น

สรรพคุณทางยาของผกากรอง

  • ใบสด มีรสขม  ช่วยขับลม แก้อาการบวม  ดอก มีรสจืดชุ่ม  ให้ความรู้สึกเย็น  แก้อักเสบ  แก้ปวดท้องอาเจียน 
  • ราก  ใช้แก้หวัด  ปวดศีรษะ  ปวดฟัน  คางทูม

ส่วนที่มีโทษห้ามกิน คือ  ผลที่แก่แต่ยังไม่สุก  เพราะมีสารพิษที่เรียกว่า แลนทาดีน เอ (Lantadene A)  และ แลนทาดีน บี (Lantadene  B)  แต่ แลนทาดีน บี  มีพิษน้อยกว่าแลนทาดีน เอ  ซึ่งถ้ากินเข้าไปสารนี้จะออกฤทธิทำให้  มีอาการอ่อนเพลีย  กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน  ไม่มีแรง ไม่สามารถยืนได้  มึนงง  อาเจียน  รูม่านตาขยาย  ตัวเขียว  ท้องเดิน  หมดสติ หายใจลึกแต่ระดับการหายใจจะช้าลงๆ และ ตาย ในที่สุด

ดอกผกากรอง
ดอกผกากรอง กลีบดอกมีหลายสี เช่น ขาว เหลืองนวล ชมพู ส้ม แดง

การออกฤทธิ์ : พิษอื่นๆ

ส่วนที่เป็นพิษ : ใบ / ผลแก่ที่ไม่สุก

สารพิษ : Lantadene A อาการ : อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มึนงง อาเจียน หายใจลึกแต่ช้า ม่านตาขยาย ตัวเขียว ท้องเดิน หมดสติและตายในที่สุด

วิธีการรักษา :

  1. ส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้อง ควรล้างท้องภายใน 3 ชั่วโมง หลังกิน
  2. ถ้านานกว่า 3 ชั่วโมง ต้องให้ยา corticosteroids, adrenalin
  3. ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ

คุณค่าทางโภชนาการของผกากรอง

การแปรรูปของผกากรอง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.bedo.or.th, www.scimath.org, https://th.wikipedia.org, http://clgc.agri.kps.ku.ac.th, https://medplant.mahidol.ac.th
ภาพประกอบ :www.flickr.com

https://hkm.hrdi.or.th/

Add a Comment