ผักชีล้อม ใช้เป็นพืชปรุงรสที่ให้กลิ่นฉุน มีรสร้อนแรง ยอดอ่อนนิยมใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกินกับน้ำพริก

ผักชีล้อม

ชื่ออื่นๆ : ผักอันอ้อ,  ผักอัน, ผักอันอ้น, ผักผันอ้อ, จีอ้อ, ผักหนอกช้าง, จุ้ยคึงไฉ่ (จีน)

ต้นกำเนิด : เป็นพืชผักประจำท้องถิ่นในแถบเมดิเตอร์เรเนียน

ชื่อสามัญ : Water Dropwort

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oenanthe javanica (Blume) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Oenanthe stolonifera Wall. ex DC)

ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE (APIACEAE)

ลักษณะของผักชีล้อม

ต้นผักชีล้อม จัดเป็นพืชล้มลุกที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นผิวดิน มีความสูงของต้นตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร และมีความสูงโดยประมาณอยู่ที่ 60 เซนติเมตร ลำต้นกลวงอวบน้ำ ผิวภายนอกเป็นร่อง ชอบขึ้นในน้ำและที่ชื้นแฉะ ขายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเม็ด การแยกไหล และการปักชำ

ใบผักชีล้อม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มี 1-3 ชั้นเรียงสลับ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรีแคบหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย

ดอกผักชีล้อม ดอกมีขนาดเล็กสีขาวออกเป็นช่อซี่ร่ม ดอกย่อยขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 ก้าน

ผลผักชีล้อม หรือ เมล็ดผักชีล้อม ผลเป็นผลเดี่ยว ผลแห้งแก่แล้วแตกเป็นสองส่วน ลักษณะของผลค่อนข้างกลมเป็นสัน มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีก้านเกสรตัวเมียที่ไม่หลุดร่วง มีความยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร

ผักชีล้อม
ผักชีล้อม ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย

การขยายพันธุ์ของผักชีล้อม

ใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่ผักชีล้อมต้องการ

ประโยชน์ของผักชีล้อม

  1. ผักชีล้อมใช้เป็นพืชปรุงรสที่ให้กลิ่นฉุน มีรสร้อนแรง ยอดอ่อนนิยมใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกินกับน้ำพริก ส้มตำ ยำ และลาบ หรือใช้กินแบบทำให้สุก เช่น การย่าง การอบ ทอด หรือทำเป็นซุป ต้ม ตุ๋น หรือนำมาลวกใช้เป็นเครื่องเคียง หรือนำไปตกแต่งโรยหน้าอาหารเช่นเดียวกับผักชี และยังสามารถนำมาทำเป็นผักดองแบบเกาหลีที่เรียกว่ากิมจิได้อีกด้วย
  2. ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มหรือใช้ปรุงอาหารได้
  3. ใช้ในการประกอบอาหาร ช่วยทำให้อาหารไม่เลี่ยนและย่อยได้ง่าย
  4. ชาวโรมันนิยมรับประทานผักชีล้อมเพื่อช่วยลดความอ้วน
  5. ชาวตะวันตกเชื่อว่าผักชีล้อมมีแคลเซียมสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ และช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
  6. เมนูผักชีล้อม เช่น ยำผักชีล้อม ผักชีล้อมชุบแป้งทอด ผักชีล้อมเท็มปุระ สลัด เป็นต้น
  7. ผักชีล้อมกับความเชื่อ มีความเชื่อกันว่าผักชีล้อมช่วยเสริมความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ช่วยทำให้มีชีวิตยืนยาว และในสมัยก่อนก็มีการใช้ผักชีล้อมมาห้อยไว้เหนือประตูเพื่อช่วยขจัดวิญญาณชั่วร้าย นอกจากนี้ยังเชื่อว่างูมักกินผักชีล้อมเป็นอาหารเพื่อช่วยให้มันสามารถลอกคราบได้ง่ายขึ้น
ดอกผักชีล้อม
ดอกผักชีล้อม ดอกสีขาวออกเป็นช่อซี่ร่ม

สรรพคุณทางยาของผักชีล้อม

  1. เชื่อว่าการรับประทานผักชีล้อมจะช่วยบำรุงรักษาสายตาและช่วยรักษาโรคตา (ทั้งต้น)
  2. ผลหรือเมล็ดผักชีล้อมเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น ช่วยขจัดความเย็น ปรับการไหลเวียนของพลังลมปราณ ปรับสมดุลให้ระบบทางเดินอาหาร (มักใช้ในการรักษาอาการปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน และอาการท้องอืดท้องเฟ้อ) (ผล)
  3. ผักชีล้อมมีรสเผ็ดขมเล็กน้อยและมีกลิ่นหอมเฉพาะช่วยให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)
  4. ช่วยบำรุงปอด (ผล)
  5. ช่วยบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
  6. ช่วยบำรุงเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ช่วยดับพิษในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  8. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผล)
  9. ช่วยแก้อาหารหืดหอบ แก้อาการไอ (ผล)
  10. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)
  11. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ต้น)
  12. ช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้ลมทำให้สะอึก (ผล)
  13. ช่วยขับเหงื่อ ด้วยการใช้เป็นส่วนผสมในตำรายาอาบหรืออบสมุนไพร (ทั้งต้น)
  14. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (ผล)
  15. ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (ทั้งต้น)
  16. ช่วยในการย่อยอาหาร (ผล)
  17. ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ลดแก๊สส่วนเกินที่เกิดขึ้นในร่างกาย (ผล, ทั้งต้น)
  18. ช่วยขับลมในลำไส้ ทำให้ผายเรอ (ผล)
  19. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้เป็นส่วนผสมในตำรายาอาบหรืออบสมุนไพร (ทั้งต้น)
  20. สุมนไพรผักชีล้อม ทั้งต้นช่วยแก้อาการบวมและแก้เหน็บชา ด้วยการใช้เป็นส่วนผสมในตำรายาอาบหรืออบสมุนไพร(ทั้งต้น)

คุณค่าทางโภชนาการของผักชีล้อม

ผักชีล้อม 100 กรัม ให้พลังงาน 27 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย

  • เบต้า-แคโรทีน 2,498 ไมโครกรัม
  • ไทอะมิน 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.87 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 6.60 มิลลิกรัม

การแปรรูปของผักชีล้อม

ผักชีล้อมมีประโยชน์ทางด้านอาหารได้ทั้งต้นอ่อน ยอดอ่อน ดอก เมล็ด นิยมนำมารับประทานเป็นผักสด ผักเคียง เช่น ลู่ ลาบ ยำ ส้มตำ เมนูอาหารจากผักชีล้อม ได้แก่ ยำผักชีล้อม ผักชีล้อมชุบแป้งทอด

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11079&SystemType=BEDO
https://pharmacy.mahidol.ac.th
https://arit.kpru.ac.th
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment