มะค่าโมง พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย
ชื่ออื่นๆ : มะค่าใหญ่, มะค่าโมง (ภาคกลาง) มะค่าหลวง, มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ) เขง, เบง (สุรินทร์) บิง (จันทบุรี) ปิ้น มะค่าโมง (นครราชสีมา) ฟันฤๅษี, แต้โหล่น
ต้นกำเนิด : ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งใกล้แหล่งน้ำ ทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้
ชื่อสามัญ : มะค่าโมง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afzelia xylocarpa Craib.
ชื่อวงศ์ : Fabaceae
ชื่อภาษาอังกฤษ : Makha Mong
ลักษณะของมะค่าโมง
ต้น มะค่า เป็นชื่อของไม้เนื้อแข็งยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นไม้ทางเศรษฐกิจได้ เป็นต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย ผลัดใบช่วงสั้น ๆ สูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทาอ่อน หรือสีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ต้นแก่มักมีปุ่มปม เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคู่ ออกเรียงสลับ ใบกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 18-30 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 2 ซม. ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 ซม. ใบย่อยมี 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบเกลี้ยง
ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาว 5-15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มสีเทา ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.6-0.9 ซม. ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอกเล็กน้อย ติดทน ก้านดอกยาว 0.7-1 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 1 เซนติเมตร ทุกส่วนมีขนคลุมบางๆ ดอกคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพู 1 กลีบ รูปร่างคล้ายช้อน แผ่เกือบกลม ยาว 7-9 มิลลิเมตร ส่วนฐานคอดเป็นก้าน มีก้านยาว 0.5-1.2 ซม. ปลายกลีบย่นเว้าตื้นๆ เกสรเพศผู้มี 10 อัน แยกกัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 7 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 3 ซม. มีขนสั้นนุ่มที่โคน อับเรณูยาว 0.3-0.4 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 3 อัน รูปเส้นด้ายสั้นๆ เกสรเพศเมียมีขนที่รังไข่ รังไข่รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 0.7 ซม. ก้านรังไข่ยาวประมาณ 0.7 ซม. ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2-2.5 ซม. เกลี้ยง ขยายเล็กน้อยด้านปลาย ยอดเกสรขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียวมี 4 กลีบ สีเขียวสด รูปขอบขนาน แต่ละกลีบเรียงซ้อนทับกันแบบตรงข้าม ยาว 1-1.2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ขอบกลีบบาง ฐานรองดอกยาว 0.8-1 ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทา
ผล เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร หนา 0.6-1 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจะงอยสั้นๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดแข็ง มี 2-4 เมล็ด รูปรี ยาว 2.5-3 ซม. สีดำ ผิวมัน มีเนื้อหุ้มที่โคนเมล็ดสีเหลืองสด หุ้มเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 ซม.
พบตามป่าดิบแล้ง แนวเชื่อมต่อระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณชื้น ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จัดเป็นไม้เด่น 1 ใน 5 ที่พบในป่าเบญจพรรณ
การขยายพันธุ์ของมะค่าโมง
การขยายพันธุ์ที่นิยมและสะดวกที่สุด มักจะขยายพันธุ์จากเมล็ด ซึ่งได้จากฝักแก่ ที่มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ฝักเมื่อแก่จะแตกออก วิธีการเก็บเมล็ดมาเพาะกล้า เก็บฝักโดยการเป็นต้นแล้วลิดกิ่งที่มีฝักแก่แล้วนำมาตากแดด ช่วงเวลาเก็บเมล็ด มกราคม-มีนาคม
วิธีปฏิบัติต่อเมล็ด เมล็ดมะค่าโมงมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก จึงควรสับเปลือกเมล็ดตรงส่วนหัวให้เห็นเนื้อด้านในเล็กน้อย แล้วจึงนำไปแช่น้ำ 1 คืน จากนั้นจึงนำไปหว่านลงในแปลงเพาะชำซึ่งเป็นดินปนทราย หรือเพาะลงในถุงพลาสติกซึ่งบรรจุดินในอัตราส่วน 1:1 โดยหว่านเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 2-3 ซม. เสร็จแล้วโรยทรายละเอียดกลบเมล็ด โดยให้มีความหนาประมาณ 0.5-1.00 ซม. การให้น้ำในแปลงเพาะนั้นในระยะแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) และควรผสมยาป้องกันเชื้อราด้วย อัตราการงอกประมาณ 95-100% จากนั้นประมาณ 7-10 วัน เมล็ดก็จะงอก ทำการย้ายชำลงถุงพลาสติก นำกล้าไม้ไปเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 3-4 เดือน ก่อนทำการย้ายปลูก ก่อนการปลูกจำเป็นต้องทำให้กล้าไม้แข็งแรงแกร่งเสียก่อน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
- ตัด – ทำแผลที่ปลายเมล็ดแช่น้ำไว้ 1 คืนก่อนเพาะ
- การเพาะอาจเพาะลงถุงพลาสติกหรือเพาะในแปลงเพาะ
ข้อสังเกตและผลการทดลอง
- เมล็ดจะงอกภายในประมาณ 7 – 20 วัน
- กล้าจากแปลงเพาะควรย้ายเมื่อเมล็ดเริ่มแทงรากและใบเลี้ยง
- ขนาดของกล้าที่พอย้ายปลูกได้อายุประมาณ 3 – 4 เดือนขึ้นไป สูงประมาณ 1 ฟุต
ธาตุอาหารหลักที่มะค่าโมงต้องการ
–
ประโยชน์ของมะค่าโมง
- เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน แข็งเหนียว ทนทานขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเสา รอด ตง พื้น ไม้เครื่องบน ต่อเรือ เครื่องกลึง พานท้ายปืนและรางปืน ทำกลองโทน รำมะนา
- เนื้อไม้ ให้สีเหลือง น้ำตาล ให้ย้อมไหมและฝ้าย
- เปลือก มีน้ำฝาดใช้ฟอกหนัง
- เมล็ดอ่อนรับประทานได้
- เป็นไม้ที่ให้ปุ่มมะค่ามีลวดลายสวยงามและราคาสูง
- พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อให้นำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัดและเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ใน “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงครบรอบปีที่ 50 ในการครองราชสมบัติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537
สรรพคุณทางยาของมะค่าโมง
- ลำต้นบริเวณที่เป็นปุ่ม รสเบื่อเมา เป็นยาถ่ายพยาธิ และรักษาโรคผิวหนัง หรือต้มเอาไอรมหัวริดสีดวงทวารทำให้แห้ง
- เปลือกต้น ผสมกับเปลือกต้นมะค่าแต้อย่างละครึ่งกำมือ ใช้เป็นยาประคบ แก้ฟกช้ำ ปวดบวม หรือผสมกับรากเจตพังคีอย่าละครึ่งกำมือ เป็นยาสมานแผล
- เปลือกต้นและราก ใช้รักษาโรคผิวหนัง
- เมล็ดอ่อน รับประทานสด หรือต้มให้สุก
- เมล็ดแก่ นำมาคั่ว และกะเทาะเปลือกออกแช่น้ำให้นิ่ม รับประทานได้ มีรสมัน
- เปลือกให้น้ำฝาด ใช้ฟอกหนัง
- ลำต้น ใช้รักษาโรคผิวหนัง พยาธิ
คุณค่าทางโภชนาการของมะค่าโมง
–
การแปรรูปของมะค่าโมง
–
เกษตรตำบล ศูนย์รวมความรู้การเกษตร ปลูกได้ ขายเป็น เน้นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีเกษตร กับมะค่าโมง
References : www.bedo.or.th
รูปภาพจาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม
2 Comments